15 พ.ค. 2553

ระวัง....โรค "กระดูกสันหลังคด"

Scoliosis คือ โรคกระดูกสันหลังคด

กระดูกสันหลังมีหน้าที่รับน้ำหนักและช่วยพยุงร่างกายให้สามารถตั้งตรงได้ ในคนปกติหากมองจากด้านหลังจะเห็นกระดูกสันหลังเป็นแนวเส้นตรง แต่ในคนที่เป็นโรคกระดูกสันหลังคด เมื่อมองจากด้านหลังจะเห็นแนวกระดูกโค้งไปทางซ้ายหรือขวา ไม่เป็นเส้นตรงเหมือนคนปกติ โรคกระดูกสันหลังคดพบประมาณ 2-3 % ของประชากร พบได้เท่ากันในผู้ชายและผู้หญิง แต่ผู้หญิงมักจะมีการคดงอของกระดูกมากกว่าผู้ชาย โรคกระดูกสันหลังคดเกิดได้ในทุกอายุ พบได้ตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากมักเกิดในช่วงที่มีการเจริญเติบโตของกระดูกอย่างรวดเร็ว คืออายุประมาณ 10-15 ปี



สาเหตุ โรคกระดูกสันหลังคด


ผู้ป่วย 85% ไม่ทราบสาเหตุ มีเพียงส่วนน้อยที่ทราบสาเหตุ เช่น กระดูกสันหลังคดจากขาที่ยาวไม่เท่ากัน กระดูกสันหลังคดจากสมองพิการ หรือเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด เป็นต้น

อาการ โรคกระดูกสันหลังคด

อาการในผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกัน ขึ้นกับว่ากระดูกคดเป็นมุมมากน้อยเพียงใด อาการต่างๆที่พบได้มีดังนี้

- การเดินผิดปกติ
- ไหล่หรือสะโพก 2 ข้าง สูงไม่เท่ากัน
- ปวดหลัง
- มีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติเวลาออกแรงหรือทำกิจกรรมต่างๆ

การตรวจ โรคกระดูกสันหลังคด

แพทย์จะตรวจกระดูกสันหลังของผู้ป่วยในท่ายืน โดยให้ผู้ป่วยก้มตัว เอานิ้วแตะปลายเท้าตัวเอง ในท่านี้แพทย์จะเห็นลักษณะความผิดปกติของแผ่นหลังได้ชัดเจนมากขึ้น การตรวจเพิ่มเติมด้วย x-ray มีประโยชน์ในการช่วยวัดมุม และช่วยติดตามการดำเนินไปของโรคว่าแย่ลงหรือไม่

การรักษา โรคกระดูกสันหลังคด

การรักษาขึ้นกับมุมการคด การเปลี่ยนแปลงของมุม และอายุของผู้ป่วย

- มุมการคดน้อยกว่า 25 องศา : ยังไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาใดๆ ให้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของมุม ทุก 4-6 เดือน

- มุมการคดมากกว่า 25 องศา : รักษาโดยการใส่เสื้อเกราะ(Brace) เสื้อเกราะเป็นอุปกรณ์ค้ำจุน เพิ่มความแข็งแรง ช่วยป้องกันหรือชะลอไม่ให้มุมการคดมีการเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าเดิม

- มุมการคดมากกว่า 45 องศา : อาจต้องรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อจัดแนวกระดูกสันหลังใหม่ การผ่าตัดนี้ใช้หลักการเดียวกับการรักษากระดูกหักคือการใช้โลหะช่วยดามกระดูกสันหลังให้ตรง

แพทย์ทางเลือก

สำหรับการรักษาด้วยวิธีอื่น ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยรับรองว่าประสบผลสำเร็จ

- Chiropractic manipulation
- Electrical stimulation of muscles
- Biofeedback

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ เสื้อเกราะ

- เสื้อเกราะช่วยป้องกันไม่ให้มีการคดมากขึ้น แต่มักไม่ช่วยแก้ไข้การคดให้กลับมาเป็นปกติ

- ควรใส่เสื้อเกราะเป็นประจำ อย่างสม่ำเสมอ

- เริ่มแรกอาจใส่เสื้อเกราะนานวันละ 2-3 ชั่วโมง บางรายอาจต้องใส่ตลอดวัน ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

- อายุของผู้ป่วยมีความสัมพันธ์กับการดำเนินไปของโรค โดยพบว่า เมื่อกระดูกของผู้ป่วยหยุดการเจริญเติบโตเมื่อใด การเปลี่ยนแปลงของมุมการคดมักจะหยุดตาม ซึ่งหมายความว่าผู้ป่วยสามารถเลิกใส่เสื้อเกราะได้เมื่อแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยไม่มีการเจริญเติบโตของกระดูกอีกต่อไป

- เสื้อเกราะไม่ใช้รักษาโรคกระดูกสันหลังคดในผู้ใหญ่

- ระหว่างใส่เสื้อเกราะ ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตได้ตามปกติ เช่น เล่นดนตรี เล่นกีฬา เป็นต้น

- เสื้อเกราะจะถูกสวมใส่ไว้ด้านใน และเสื้อผ้าปกติจะถูกใส่ทับด้านนอกเสื้อเกราะ ดังนั้นผู้ป่วยควรเลือกซื้อเสื้อผ้าที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมเพื่อความสบายตัว เสื้อชั้นในควรเป็นผ้าฝ้าย 100% ไม่มีตะเข็บ ไม่มีรอยจีบย่น และพอดีตัว ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเสียดสีกับผิวหนัง ซึ่งทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้

ไม่มีความคิดเห็น: