17 มี.ค. 2551

10 สุดยอดแห่งโลกเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ที่น่าจับตามองในปี 2551 (3)


เทคโนโลยีเพื่อการพรางตัว


การสร้างสนามพลังเพื่อให้วัตถุล่องหนแบบในนิยายวิทยาศาสตร์ของ เอช. จี. เวลส์ หรือการพรางตัวของยานอวกาศของพวกโลมูลัน ในภาพยนต์เรื่อง สตาร์ เทร็ก อาจกลายเป็นความจริงในอนาคต เพราะขณะนี้นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง สามารถสร้างสนามพลังซึ่งทำให้วัตถุที่อยู่ภายในสนามพลังล่องหนจากคลื่นวิทยุย่านไมโครเวฟ แม้จะไม่ล่องหนจากเคลื่นแสงในย่านที่ดวงตามนุษย์มองเห็น แต่การพัฒนาเพื่อให้ล่องหนจากสายตามนุษย์อาจสามารถทำได้ในลำดับต่อไป


เดวิด อาร์ สมิท (David R. Smith) นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย ดุ๊ก นำสิ่งประดิษฐ์รูปตัวซีเรียงกันเป็นวงกลมมาแสดงแก่สื่อมวลชน สิ่งประดิษฐ์นี้สามารถสร้างสนามพลังเพื่อเบี่ยงเบนคลื่นไมโครเวฟ ทำให้เมื่อนำวัตถุมาวางไว้ภายใน คลื่นไมโครเวฟจะแสดงอาการราวกับไม่มีสิ่งใดอยู่ที่นั่น เหมือนบริเวณนั้นเป็นช่องเปิดในอวกาศ


สิ่งประดิษฐ์นี้ถูกสร้างจาก “เมทาเมทีเรียลส์” (Metamaterials หมายถึงสสารใหม่ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น คุณสมบัติพิเศษของมันไม่ได้เกิดจากมวลสาร แต่เกิดจากการจัดเรียงกันทางกายภาพ) อันเป็นสิ่งที่มักพูดถึงกันในการสร้างอุปกรณ์ล่องหน คำว่าล่องหนในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการลดการสะท้อนสัญญาณเรด้า อย่างที่ใช้ในเครื่องบินรบล่องหน แต่หมายถึงล่องหนต่อสายตา ต่อทุกๆ คลื่นความถี่แสง สิ่งประดิษฐ์ของสมิท แม้จะสร้างได้แค่สนามแม่เหล็กเพื่อเบี่ยงเบนคลื่นวิทยุในย่านไมโครเวฟ แต่โดยหลักการแล้วก็อาจพัฒนาเพื่อนนำไปใช้กับคลื่นวิทยุและคลื่นแสงในย่านความถี่อื่นๆ ได้ทั้งนั้น สาเหตุที่สมิตเลือกไมโครเวฟเพียงเพื่อความสะดวกแก่การทดลองและการนำเสนอ


การสร้างเมทาเมทีเรียลส์เพื่อใช้หักเหแสงในย่านที่ตามนุษย์มองเห็นทำได้ยากกว่า เพราะต้องใช้นาโนเทคโนโลยี แต่ก็ไม่ยากจนไม่สามารถทำได้ นอกจากจะใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อสร้างสนามพลังในการล่องหนแล้ว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในแง่มุมอื่นๆ ได้อีกมาก เช่นการสร้างหน่วยเก็บของมูลคอมพิวเตอร์ และการเพิ่มความเร็วในการสื่อสารโทรคมนาคมผ่านสายใยแก้ว และเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: