14 มี.ค. 2551

ตัวเราเปลี่ยนพร้อมสมองเรา ทุกๆ วัน

วนิษา เรซ : ใครที่เคยคิดว่า เรามีความทุกข์มาก เคยผ่านเรื่องราวแย่ๆ มามากมาย นึกไม่ออกเลยว่าชีวิตนี้จะกลับมามีความสุขได้อย่างไร หรือเราจะมีความสุขเหมือนคนอื่นๆ ได้หรือไม่นั้น บอกได้เลยว่า เป็นคนที่มองโลกได้ผิดความเป็นจริงไปมาก

รู้ไหมคะว่า สมองของเรามีศักยภาพที่จะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ไม่จำกัด...แม้วันนี้ทุกข์ แต่ถ้าเราฝึกไปเรื่อยๆ อีกสิบวันหรือสิบสัปดาห์เราก็กลับมามีความสุขได้ เพราะเส้นใยสมองของเราสร้างใหม่ได้ทุกวัน...เราฝึกนิสัยใหม่ๆ ได้ทุกวัน...ฝึกวิธีคิดใหม่ๆ ได้ทุกวัน...ไม่มีสิ่งมีชีวิตชนิดไหนโชคดีเท่ากับมนุษย์อีกแล้วค่ะ ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง...และตั้งแต่เรียนรู้เรื่องนี้หนูดีไม่เคยกลัวความทุกข์อีกเลย เพราะรู้แล้วว่าสมองของเรานั้นมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปรตัวเองไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา...ทุกข์ได้ก็ฝึกให้เลิกทุกข์ได้แล้วจะกลัวกันไปทำไม...ใช่ไหมคะ
เมื่อก่อน คนเรามักมีความเชื่อแบบผิดๆ ว่า สมองเรียนรู้ได้ดีที่สุดถึงแค่อายุเดียว พอผ่านวัยเด็กไปแล้ว สมองก็จะทำงานลดระดับลงเรื่อยๆ พอเข้าวัยชรา สมองก็เสื่อมสภาพ ทำอะไรไม่ค่อยได้ คิดอะไรไม่ค่อยออก เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ก็ไม่ได้


หนูดีทำงานด้านสมองและการพัฒนาอัจฉริยภาพ ต้องพบปะผู้คนมากหน้าหลายตาที่เข้ามา เพราะอยากเรียนรู้วิธีการพัฒนาสมองของตนเอง ทุกคนก็จะมีคำถามแปลกๆ มากมายเกี่ยวกับสมอง แต่คำถามหนึ่งซึ่งหนูดีได้ยินเป็นประจำเลยก็คือ “ดิฉัน/ผม ทำงานหนักมาก ช่วงนี้คิดอะไรไม่ค่อยออก คิดว่าสมองคงค่อยๆ เสื่อมแล้วล่ะ มีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง” ทุกครั้งที่ได้ยิน หนูดีก็จะขำปนเป็นห่วงว่า คนส่วนใหญ่มีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับสมองของตนเองอยู่ผิดๆ พอสมควร


ความเข้าใจเกี่ยวกับสมองของตัวเองผิดแล้ว บางครั้งคนที่มีลูกส่วนใหญ่ก็ยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับสมองของลูกผิดอีกด้วยนะคะ เพราะเรามักได้รับรู้เรื่อง “หน้าต่างการเรียนรู้” หรือ Window of Opportunities กันเป็นประจำว่า ถ้าไม่สอนเด็กเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก่อนอายุเท่านั้นเท่านี้แล้ว เด็กจะไม่มีโอกาสเรียนรู้เรื่องนั้นๆ ได้เลยจนวันตาย เช่น ถ้าไม่เรียนภาษาที่สองก่อนอายุสิบสองปีแล้ว เด็กจะไม่มีวันได้สำเนียงอย่างเจ้าของภาษาไปตลอดชีวิต ซึ่งจริงๆ แล้ว เรื่อง “หน้าต่างการเรียนรู้” นี้ เป็นเรื่องที่มีส่วนถูกต้องอยู่บ้าง แต่สมองของเรา ไม่ได้แบ่งแยกเป็นดำกับขาวขนาดนั้นค่ะ เรื่องไหนที่เราพลาดการเรียนรู้ไปในวัยหนึ่ง เราก็สามารถที่จะยังเรียนรู้เรื่องนั้นได้เป็นอย่างดี เพียงแต่ว่า มันอาจเรียนยากขึ้น ก็เท่านั้นเอง


ยกตัวอย่างเช่นผู้ใหญ่บางคนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็กๆ แต่เมื่อโตขึ้น สามารถสอบชิงทุนไปเรียนต่างประเทศได้ ก็ต้องมานั่งเรียนภาษากันใหม่แทบจะทั้งหมด บางคนต้องเรียนภาษาอังกฤษ บางคนต้องเรียนภาษาญี่ปุ่น หรือภาษาฝรั่งเศส ก็เห็นเรียนกันได้ในระดับใช้การได้ดีทีเดียว ได้ปริญญาโทปริญญาเอกในประเทศนั้นๆ ติดมือกลับมากันเป็นแถว ซึ่งเมื่อสอบถามดูก็พบว่า การเรียนนั้น ยากกว่าเรียนตอนเด็กๆ แน่นอน เพราะกระบวนการรับข้อมูลของเราไม่อ่อนนุ่มยืดหยุ่นเท่าของเด็ก แต่ก็ไม่ได้เรียนยากเย็นขนาดนั้น...


หรือในกรณีการเรียนเต้น เช่น บัลเลต์ ซึ่งมีความเชื่อกันมานานว่า ควรเรียนตั้งแต่เด็กๆ จึงจะดีที่สุด ตัวหนูดีเองก็เรียนบัลเลต์แต่เด็ก และก็คิดว่า มันเป็นประโยชน์มากต่อท่าทางและบุคลิกภาพในวัยผู้ใหญ่ ช่วยให้เราไปเรียนเต้นในด้านอื่นได้ดี เดินเหินสง่า หลังตรง แต่เมื่อได้รับรู้ถึงผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ ที่มาเริ่มเรียนเต้นเอาตอนโตๆ แล้ว ก็ต้องทึ่ง เช่น คุณจรินทร์ ยุทธศาสตร์โกศล ก็มาเริ่มเรียนบัลเลต์เอาตอนอายุประมาณห้าสิบปี จนเต้นได้เก่งมากเท่ากับนักบัลเลต์มืออาชีพ มีงานแสดงทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ เป็นที่นับถือเลยทีเดียว


ทั้งหมดที่หนูดีชวนคุยมา ก็เพื่อจะบอกว่า สมองของเรานั้นมี “ความยืดหยุ่น” หรือ Brain Plasticity อยู่สูงมาก คำนี้ก็มาจากคำว่า “พลาสติก” นั่นเอง พูดง่ายๆ ว่าสมองของเรามีสภาพคล้ายพลาสติก คือยืดได้ขยายได้ เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา...จริงๆ แล้ว สมองของคนเรา น่าทึ่งกว่าที่เราคิดมหาศาล ก็เพราะคำว่า พลาสติกนี่เองค่ะ


อย่างที่ใครๆ เคยเชื่อกันว่า สมองหยุดการเรียนรู้ในวัยใดวัยหนึ่ง คำพูดนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองต้องขอออกมาค้านกันแบบหัวชนฝาเลยนะคะ เพราะว่างานวิจัยมันบอกชัดเจนมากว่า สมองของคนเรามีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นประจำทุกห้วงลมหายใจเลยค่ะ


การที่สมองพร้อมเปลี่ยนแปลงตลอดนี้ ไม่ใช่เรื่องปกติของชาติพันธุ์หนึ่งๆ นะคะ แต่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มนุษย์อย่างพวกเรา ซึ่งถ้ามองในเชิงของโลกแล้ว ก็เป็นแค่สิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง ไม่ต่างจากนกกระสา หรือเสือดาว แต่ความเป็น “พลาสติก” นี้กลับมีส่วนทำให้เราครองโลกได้อย่างทุกวันนี้ บอกได้ว่า ไม่ธรรมดาเลยค่ะ


ลองนึกดูนะคะว่า มนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้และปรับตัวมากมายขนาดไหน เปรียบเทียบกัน ถ้าเราเอานกเขตร้อน ไปปล่อยที่ขั้วโลกเหนือ รับรองว่านกตัวนั้นต้องตายภายในเวลาไม่นานนัก แต่ถ้าลองเอาคนสักคนหนึ่งไปปล่อย รับรองว่า คนคนนั้น จะต้องหาทุกวิถีทางที่จะเอาชีวิตรอดให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการไปล่าสัตว์เอามากิน แล่ขนสัตว์ขั้วโลกเหนือหนาๆ มาห่มตัว มาทำเป็นรองเท้า รวมไปถึงการสร้างที่อยู่อาศัยที่ช่วยสร้างความอบอุ่นให้ตัวเราสูงที่สุด ว่าไปแล้ว ทักษะในการเอาชีวิตรอดในสถานการณ์แปลกใหม่ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์เราแพร่ขยายไปจนทั่วดาวเคราะห์โลกดวงนี้ ตั้งแต่เส้นศูนย์สูตรไปจนจรดขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ อย่างไม่เคยมีสัตว์โลกชนิดไหนทำได้ขนาดนี้เลย


สิ่งที่ทำให้เราทำได้แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นๆ อย่างชัดเจน ก็คือ “ความยืดหยุ่น” ของสมองเรานี่เอง แม้ในโลกปัจจุบันนี้ ที่เราเลิกอาศัยอยู่ในถ้ำไปนานหลายพันปีแล้ว แต่สมองของเราก็ยังทำงานใกล้เคียงเดิมทุกประการ ในเวลาที่เราอยู่ในถ้ำ สิ่งที่จำเป็นต่อการรอดชีวิตที่สุด ก็คือการประเมินสถานการณ์รอบตัวด้วยความรวดเร็วแม่นยำ และการปรับพฤติกรรมตัวเราให้สอดคล้องกับสถานการณ์นั้น


ในยุคปัจจุบันที่เราอยู่อาศัยเป็นสังคมเมืองมานานแล้ว แต่ในเชิงสมองถือว่า ยังไม่นานเลย ดังนั้น เราจึงยังเป็นเจ้าของสมองยุคเก่าอยู่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ในยุคนี้ เราต้องเข้าโรงเรียน ต้องหิ้วคอมพิวเตอร์ไปทำงาน ติดต่อลูกค้าต่างประเทศ จัดเตรียมผลิตภัณฑ์ให้ส่งตรงเวลา และอื่นๆ อีกมากมาย ที่เราไม่จำเป็นต้องทำเลยเวลาอยู่ในถ้ำ แต่สมองของเราก็ยังคงถูกสั่งการให้ประเมินสภาพแวดล้อมอย่างรวดเร็วแม่นยำตามเดิม


นี่เอง จึงเป็นที่มาของคำว่า “การเรียนรู้เกิดตลอดชีวิต” เพราะในความเป็นจริงแล้ว สมองมนุษย์ถูกสร้างมาให้เรียนรู้และปรับสภาพสมองตลอดชีวิต ไม่มีวันไหนเลยที่สมองจะหยุดการเปลี่ยนแปลงปรับตัว และยิ่งสมองเปลี่ยนแปลงบ่อย ยิ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ง่ายขึ้น การสร้างเส้นใยสมองใหม่ๆ ง่ายมาก แปลได้ง่ายๆ ว่า ยิ่งเราเรียนรู้มากเท่าไร เรายิ่งเรียนรู้ได้มากขึ้นอีกเท่านั้น เพราะสมองไม่เหมือนเงิน ซึ่งยิ่งใช้ยิ่งหมดไป แต่เส้นใยสมอง ยิ่งใช้มากยิ่งมีมากขึ้น ไม่จำกัด


ดังนั้น กลับมาที่คำถามยอดฮิต ว่า คนอายุมากขึ้น สมองทำงานลดประสิทธิภาพลงหรือเปล่านั้น ตอบได้เลยค่ะว่า ไม่มีทางแน่นอน ถ้าเราฝึกใช้สมองของเราเป็นประจำ คิดอะไรใหม่ๆ เรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ อยู่เรื่อย เท่ากับเราช่วยชะลออายุสมองให้เป็นเด็กได้ตลอดกาล เพราะสมองคนแก่ที่ชอบเรียนรู้ กระตือรือร้นนั้นมีลักษณะคล้ายสมองเด็ก


แต่สมองเด็กวัยรุ่นที่นอนดึก ดื่มเหล้า และใช้ชีวิตด้วยความเครียดกลับมีลักษณะคล้ายสมองคนแก่อย่างไม่น่าเชื่อ อายุสมองจึงอยู่ที่เราใช้การเขาอย่างไร มากกว่าอายุที่แปรเปลี่ยนไปตามปฏิทิน...ความทุกข์ความสุขเหมือนกันค่ะ เราสามารถฝึกได้เหมือนกับทักษะอื่นๆ เช่นกัน รู้อย่างนี้แล้ว...วันนี้ลองฝึกทำอะไรที่มีความสุขดูนะคะ แล้วภายในเวลาไม่นานสมองเราจะสร้างเส้นใยใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสุขให้เราเอง

เรื่อง : วนิษา เรซ

ไม่มีความคิดเห็น: