17 มี.ค. 2551

10 สุดยอดแห่งโลกเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ที่น่าจับตามองในปี 2551 (7)

เปิดสวิทช์ ปิดประสาท

รู้สึกซึมเศร้าใช่ไหม? เพียงเอื้อมมือปิดสวิตช์ จิตใจของคุณจะเบิกบานทันที นักวิทยาศาสตร์ค้นพบวิธีสร้างสวิตช์ขนาดจิ๋ว เมื่อนำไปติดตั้งในสมองแล้วจะช่วยให้เปิด-ปิดความคิดจิตใจได้ตามใจชอบ เช่นเมื่อรู้สึกซึมเศร้าก็เพียงปิดสวิตช์สมองส่วนที่สร้างความหดหู่ จิตใจจะแช่มชื่นขึ้นทันที และยังนำไปใช้รักษาอาการอื่นๆ ซึ่งมีสาเหตุจากระบบประสาทได้สารพัดชนิด

คาร์ล ไดซเซอรอท (Karl Deisseroth) แห่งศูนย์การแพทย์สแตนฟอร์ด พบว่าบ่อยครั้งที่เขาต้องรักษาคนไข้โดยการ ช็อกด้วยไฟฟ้า (ECT) ในรายที่มีอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรงถึงขนาดเดินไม่ได้ หรือกินอาหารไม่ได้ แม้การรักษาด้วยวิธีนี้จะช่วยรักษาชีวิตของคนไข้ไว้ แต่ก็เสียงต่อการสูญเสียความทรงจำ ปวดศีรษะ และผลข้างเคียงที่ร้ายแรงอื่นๆ ไดซเซอรอท ผู้ที่เป็นทั้งแพทย์และวิศวกรชีวะภาพคิดว่าเขามีวิธีที่ดีกว่านี้ เป็นหลักการใหม่ที่สง่างาม สามารถควบคุมระบบประสาทได้อย่างรวดเร็ว เป็นวิธีที่สักวันหนึ่งอาจนำไปใช้รักษาคนไข้ที่มีอาการทางประสาทอย่างได้ผลโดยปราศจากผลข้างเคียง

แม้นักวิทยาศาสตร์จะรู้ว่าอาการทางประสาทอย่างโรคซึมเศร้า แท้จริงมีสาเหตุมาจากความไม่สมดุลของสารเคมีในร่างกาย แต่ก็ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าเกิดจากเซลหรือเครือข่ายของเซลบริเวณใด เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ นักวิทยาศาสตร์จำเป็นจะต้องเปิดปิดบางส่วนของประสาท แต่วิธีการที่ใช้ขั้วไฟฟ้าติดไว้กับศรีษะให้ความแม่นยำไม่มากพอ ดังนั้น ไดซเซอรอท ร่วมกับ เอ็ด บอยเดน (Ed Boyden) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย MIT และ ฮวง จาง (Feng Zhang) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย MIT จึงร่วมใจกันสร้างสวิตช์ทางกายภาพ ที่สามารถสั่งเปิดปิดส่วนต่างๆ ของเครือข่ายประสาทได้ตามใจชอบ

ปีที่แล้วไดซเซอรอทแจกจ่ายสวิตช์นับร้อยชุดไปยังห้องทดลองทั่วประเทศ "ผู้คนนำมันไปติดเข้ากับสารพัดสัตว์ เช่น หนอน หนู ปลา" เขาเล่า "นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากำลังใช้สิ่งนี้เพื่อศึกษาการทำงานของสมองในลักษณะต่างๆ เช่น การเคลื่อนไหว การเสพย์ติด และความอยากอาหาร เทคโนโลยีนี้ทำให้เราไม่ได้เป็นเพียงผู้สังเกตการเหมือนอย่างแต่ก่อน มันช่วยให้เราแทรกแทรง และควบคุมการทดลองได้ตามต้องการ"

ไดซเซอรอท หวังว่าในอนาคต เทคโนโลยีนี้จะไม่เพียงถูกนำมาใช้ในการค้นคว้าวิจัยเท่านั้น แต่จะถูกนำมาใช้ในการรักษาได้โดยตรง "มันยังเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นและหนทางยังอีกยาวไกล" ไดซเซอรอทกล่าว "และหนทางอาจเต็มไปด้วยขวากหนาม แต่เมื่อสำเร็จ นักประสาทวิทยาจะมีเครื่องมืออันวิเศษที่ช่วยเผยความลับว่าสมองทำงานได้อย่างไร"

ไม่มีความคิดเห็น: