อาการปวดที่เกิดขึ้นบริเวณข้อเข่า อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี มักเกิดจาก การเสื่อมสภาพตามธรรมชาติ ของกระดูก และ กระดูกอ่อนผิวข้อ
อาการสำคัญ ของโรคข้อเข่าเสื่อม
-ปวดข้อเข่า รู้สึกเมื่อย ตึงที่น่องและข้อพับเข่า
-รู้สึกว่าข้อเข่าขัด ๆ เคลื่อนไหวข้อได้ไม่เต็มที่
-มีเสียงดังในข้อ เวลาขยับเคลื่อนไหวข้อเข่า
-ข้อเข่าบวม มีน้ำในข้อ
-เข่าคดผิดรูปร่าง หรือ เข่าโก่งซึ่งอาการเหล่านี้อาจจะพบบางข้อหรือหลายข้อพร้อมกันก็ได้ ในระยะแรก
อาการเหล่านี้มักจะค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ และ เป็น ๆ หาย ๆ
เมื่อโรคเป็นมากขึ้นก็จะมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น เป็นบ่อยขึ้น และอาจจะมีอาการตลอดเวลา
การเอ๊กซเรย์ ข้อเข่าก็จะพบว่ามี
-ช่องของข้อเข่าแคบลง
-มีกระดูกงอกตามขอบของกระดูกเข่าและกระดูกสะบ้า
-ข้อเข่าคดงอ ผิดรูป เข่าโก่งซึ่งลักษณะที่พบนี้ ก็อาจพบได้ในข้อเข่าของผู้สูงอายุปกติทั่วไป โดยที่ไม่มีอาการเลยก็ได้
ดังนั้นการจะบอกว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมหรือไม่โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์สามารถบอกได้ จากประวัติของความเจ็บป่วย อาการ อาการแสดงที่เป็นอยู่ และ การตรวจร่างกาย โดยไม่จำเป็นต้องเอ๊กซเรย์
การเอ๊กซเรย์จะทำก็ต่อเมื่อแพทย์สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคอื่น สงสัยว่าอาจจะมีภาวะแทรกซ้อน หรือ ในกรณีที่ต้องทำการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
แนวทางรักษา มีอยู่หลายวิธี เช่น
-การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน
-ทำกายภาพบำบัด
-การกินยาแก้ปวดลดการอักเสบ
-การผ่าตัด เพื่อจัดแนวกระดูกใหม่
-การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
ในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมให้หายขาดได้ จุดมุ่งหมายในการรักษาทุกวิธีก็คือ ลดอาการปวด ทำให้เคลื่อนไหวข้อได้ดีขึ้น ป้องกันหรือแก้ไขการผิดรูปร่างของข้อ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตประจำวันหรือทำงานได้เป็นปกติ
การกินยาแก้ปวด หรือ การผ่าตัด ถือว่าเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ถ้าผู้ป่วยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวัน และ ไม่บริหารข้อเข่า ผลการรักษาก็จะไม่ดีเท่าที่ควร
วิธีการรักษา ที่ได้ผลดี เสียค่าใช้จ่ายน้อย ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตนเอง คือ
-การลดน้ำหนัก
-การบริหารข้อ
-การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวัน
ข้อแนะนำในการรักษาด้วยตนเอง ดังนี้
1 ลดน้ำหนักตัว เพราะเมื่อเดินจะมีน้ำหนักลงที่เข่าแต่ละข้างประมาณ 3 เท่าของน้ำหนักตัว แต่ถ้าวิ่ง น้ำหนักจะลงที่เข่าเพิ่มเป็น 5 เท่าของน้ำหนักตัว ดังนั้น ถ้าลดน้ำหนักตัวได้ ก็จะทำให้เข่าแบกรับน้ำหนักน้อยลง การเสื่อมของเข่าก็จะช้าลงด้วย
2 ท่านั่ง ควรนั่งบนเก้าอี้ที่สูงระดับเข่า ซึ่งเมื่อนั่งห้อยขาแล้วฝ่าเท้าจะวางราบกับพื้นพอดี ไม่ควร นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า นั่งยอง ๆ หรือนั่งราบบนพื้น เพราะท่านั่งดังกล่าวจะทำให้ ผิวข้อเข่าเสียดสีกันมากขึ้น ข้อเข่าก็จะเสื่อมเร็วขึ้น
3 เวลาเข้าห้องน้ำ ควรนั่งถ่ายบนโถนั่งชักโครก หรือ ใช้เก้าอี้ที่มีรูต้องกลาง วางไว้เหนือ คอห่าน ไม่ควรนั่งยอง ๆ เพราะทำให้ผิวข้อเข่าเสียดสีกันมาก และเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงขา ถูกกดทับ เลือดจะไปเลี้ยงขาได้ไม่ดี ทำให้ขาชา และมีอาการอ่อนแรงได้ ควรทำที่จับยึดบริเวณด้านข้างโถนั่งหรือใช้เชือก ห้อยจากเพดานเหนือโถนั่ง เพื่อใช้จับพยุงตัว เวลาจะลงนั่งหรือจะลุกขึ้นยืน
4 นอนบนเตียง ซึ่งมีความสูงระดับเข่า ซึ่งเมื่อนั่งห้อยขาที่ขอบเตียงแล้วฝ่าเท้าจะแตะพื้นพอดี ไม่ควรนอนราบบนพื้นเพราะต้องงอเข่าเวลาจะนอนหรือจะลุกขึ้น ทำให้ผิวข้อเสียดสีกันมากขึ้น
5 หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได
6 หลีกเลี่ยงการยืนหรือ นั่งในท่าเดียวนาน ๆ ถ้าจำเป็นก็ให้ขยับเปลี่ยนท่าหรือขยับเหยียด-งอข้อเข่า เป็นช่วง ๆ
7 การยืน ควรยืนตรง ให้น้ำหนักตัวลงบนขาทั้งสองข้างเท่า ๆ กัน ไม่ควร ยืนเอียงลงน้ำหนักตัวบนขาข้างใดข้าง-หนึ่ง เพราะจะทำให้เข่าที่รับน้ำหนักมากกว่าเกิดอาการปวด และข้อเข่าโก่งผิดรูปได้
8 การเดิน ควรเดินบนพื้นราบ ใส่รองเท้าแบบมีส้นเตี้ย(สูงไม่เกิน 1 นิ้ว) หรือ แบบที่ไม่มีส้นรองเท้า พื้นรองเท้านุ่มพอสมควร และ มีขนาดที่พอเหมาะเวลาสวมรองเท้าเดินแล้วรู้สึกว่ากระชับพอดี ไม่หลวมหรือคับเกินไป ไม่ควร เดินบนพื้นที่ไม่เสมอกันเช่น บันได ทางลาดเอียงที่ชันมาก หรือทางเดินที่ขรุขระเพราะจะทำให้น้ำหนักตัวที่ลงไปที่เข่าเพิ่มมากขึ้น และอาจจะเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ง่าย
9 ควรใช้ไม้เท้า เมื่อจะยืนหรือเดิน โดยเฉพาะ ผู้ที่มีอาการปวดมากหรือมีข้อเข่าโก่งผิดรูป เพื่อช่วยลดน้ำหนักตัวที่ลงบนข้อเข่าและช่วยพยุงตัวเมื่อจะล้ม แต่ก็มีผู้ป่วยที่ไม่ยอมใช้ไม้เท้า โดยบอกว่า รู้สึกอายที่ต้องถือไม้เท้า และไม่สะดวก ทำให้เกิดผลเสียตามมาคือ ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น และ เสี่ยงต่ออุบัติเหตุหกล้มสำหรับวิธีการถือไม้เท้านั้น ถ้าปวดเข่ามาก ข้างเดียวให้ถือไม้เท้าในมือด้านตรงข้ามกับเข่าที่ปวด แต่ถ้าปวดเข่าทั้งสองข้างให้ถือในมือข้างที่ถนัด
10 บริหารกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อเข่า ให้แข็งแรง เพื่อช่วยให้การเคลื่อนไหวของข้อได้ดีขึ้น และสามารถทรงตัวได้ดีขึ้นเวลายืน หรือ เดิน การออกกำลังกายควรเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ต้องมีการลงน้ำหนักที่เข่ามากนัก เช่น การเดิน การขี่จักรยาน การว่ายน้ำ เป็นต้น
โรคข้อเข่าเสื่อมรักษาไม่หายขาด แต่ก็มีวิธีที่ทำให้อาการดีขึ้นและชะลอความเสื่อม ให้ช้าลง ทำให้ท่านสามารถดำเนินชีวิตอยู่ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจะทำได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ ความตั้งใจของท่านเองเป็นสำคัญ
2 ความคิดเห็น:
ขอบคุณมากครับ สำหรับบทความดีๆ
การป้องกันเข่าเสื่อมซับซ้อนกว่าที่คิด ข้อแนะนำที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่ง รายละเอียดอ่านพบในหนังสือ "เรียนรู้สู้กระดูกเสื่อม" อยากให้คนที่มีปัญหาลองหาอ่านดู
แสดงความคิดเห็น