13 ก.ย. 2551

แพทย์ชี้ควันบุหรี่1มวน มี"สารก่อมะเร็ง"60ชนิด

เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พ.ค. ที่ผ่านมา มีหน่วยงานด้านสุขภาพหลายแห่งช่วยกันเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยจากการสูบบุหรี่ทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือการสูบบุหรี่มือสอง ซึ่งคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ต้องสูดควันบุหรี่ที่สิงห์อมควันพ่นออกมา

น.พ.จิตรการ มัติสุบิน อายุรแพทย์มะเร็ง โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า พิษภัยของบุหรี่ก่อให้เกิดโรคที่น่ากลัว คือ "มะเร็ง" เนื่องจากโอกาสรักษาหายขาดมีค่อนข้างน้อย โรคอื่นที่พบมาก เช่น ถุงลมโป่งพอง เส้นเลือดหัวใจตีบตัน โรคเหล่านี้เป็นแล้วทรมานทั้งผู้ป่วยและญาติ โอกาสหายขาดร้อยเปอร์เซ็นต์มีจำกัด

สำหรับโรคมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นแทบไม่มีอาการเตือน เมื่อเป็นมากแล้ว มะเร็งอยู่ในระยะลุกลามหรือทำลายเนื้อปอดหมดแล้ว แพทย์จึงตรวจพบโอกาสรักษาหายจึงมีน้อย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไอเรื้อรังหรือไอเป็นเลือด เหนื่อยหอบง่าย ต้องเช็กร่างกายละเอียด การหอบเหนื่อยง่าย เพราะมะเร็งอยู่ที่ปอด อยู่ที่ต่อมน้ำเหลืองกดหลอดลมหรือทำลายเนื้อปอดทำให้แลกเปลี่ยนอากาศได้น้อยลง

ด้านรศ.น.พ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ หน่วยโรคระบบทางเดินหายใจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้ว่า ควันจากการจุดบุหรี่ 1 มวน มีสารพิษเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่า 4,000 ชนิด สารทาร์และนิโคตินมีฤทธิ์ทำให้สารเคมีในสมองเปลี่ยนแปลงจนเกิดการเสพติดบุหรี่ โดยควันที่ปลายมวนบุหรี่ เต็มไปด้วยสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด

"ผู้ที่สูบบุหรี่สะสมทั้งชีวิตเกิน 100 มวน ถือว่ามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอด จึงขอเชิญชวนงดสูบบุหรี่ด้วยใจที่เข้มแข็งตามคำขวัญองค์การอนามัยโลกที่ว่า ไร้ควันบุหรี่ สิ่งแวดล้อมดี ชีวีสดใส" รศ.น.พ.ฉันชายกล่าว

ทั้งนี้ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ระบุว่าพบผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดจากการสูบบุหรี่ราวปีละ 12,000 คน และมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30 ในแต่ละปี

ไม่มีความคิดเห็น: