9 ก.พ. 2553

เทศกาลตรุษจีน

เช่นเดียวกับวันคริสต์มาสที่มีความสำคัญต่อประเทศตะวันตก เทศกาลตรุษจีนก็ถือเป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของชาวจีน ถึงแม้ความหมายของตรุษจีนและรูปแบบการฉลองเทศกาลตรุษจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามยุคสมัย แต่สำหรับชาวจีนแล้ว ตรุษจีนยังคงมีฐานะสำคัญที่สุดที่เทศกาลอื่นๆมิอาจทดแทนหรือเทียบเท่าได้


เล่ากันว่า เทศกาลตรุษจีนมีประวัติยาวนานกว่าสี่พันปีแล้ว เดิมทีไม่ได้เรียกว่าตรุษจีน และก็ไม่ได้กำหนดเวลาที่แน่นอนด้วย เมื่อ 2100 ปีก่อนคริสตกาล คนในสมัยนั้นถือการโคจรรอบหนึ่งของดาวจูปีเตอร์เป็นหนึ่ง”ซุ่ย” จึงเรียกตรุษจีนว่า”ซุ่ย” เมื่อ 1000 กว่าปีก่อนคริสต์กาล ผู้คนเรียกตรุษจีนว่า“เหนียน”ซึ่งมีความหมายว่าการเก็บเกี่ยวได้ผลอุดมสมบูรณ์



ตามประเพณีพื้นบ้าน เทศกาลตรุษจีนจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีนไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของจีน ในช่วงนี้ คืนวันที่ 30 เดือน 12 ซึ่งเป็นวันส่งท้ายปีเก่า และวันที่ 1 เดือนอ้ายหรือวันชิวอิก จะเป็นวาระสำคัญที่สุดในช่วงเทศกาลตรุษจีนซึ่งกินเวลาทั้งหมดประมาณ 3 อาทิตย์



เพื่อเตรียมต้อนรับเทศกาลตรุษจีน ประชาชนในเมืองหรือชนบทต่างตระเตรียมกันตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะในชนบท พอย่างเข้าเดือนธันวาคมก็เริ่มเตรียมที่จะต้อนรับตรุษจีนแล้ว เช่น ทำความสะอาดบ้าน ซักเสื้อผ้าและผ้าห่ม ซึ่งถือเป็นการขับไล่สิ่งที่สกปรกออกจากบ้าน เพื่อให้บ้านมีโฉมหน้าใหม่ นอกจากนี้ ยังต้องซื้อของกินของใช้มากมาย เช่น ลูกอม ขนม หมูเห็ดเป็ดไก่ และผลไม้นานาชนิด เพื่อเตรียมไว้กินหรือต้อนรับแขกในช่วงเทศกาลตรุษจีน ในเมืองใหญ่ การเตรียมการต่างๆก็เริ่มตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่นกัน เช่น หน่วยงานวัฒนธรรมและคณะนาฏศิลป์จะเตรียมรายการมากมายสำหรับแสดงในช่วงตรุษจีน สถานีโทรทัศน์ต่างๆจะเตรียมจัดงานบันเทิง สวนสาธารณะจะเตรียมจัดงานวัดตามประเพณีฉลองตรุษจีนที่สืบทอดกันมาแต่สมัยโบราณ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสนุกสนานมากกว่าวันธรรมดา ส่วนร้านค้าและห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ จะจัดเตรียมสินค้าให้เพียงพอเพื่อตอบสนองการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีน มีสถิติแสดงให้เห็นว่า เงินที่ชาวจีนใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนนั้นจะเป็น 1 ใน 3 ของเงินใช้จ่ายตลอดปีหรืออาจมากกว่าเสียด้วยซ้ำ



ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน มีประเพณีฉลองตรุษจีนที่แตกต่างกัน แต่มีประเพณีอยู่อย่างหนึ่งไม่ว่าภาคใต้หรือภาคเหนือล้วนปฏิบัติเหมือนกัน นั่นก็คือ การรับประทานอาหารด้วยกันทั้งครอบครัวในคืนส่งท้ายปีเก่า ที่ภาคใต้ อาหารมื้อนี้มักจะมีกับข้าวกว่าสิบอย่าง ต้องมีเต้าหู้และปลา เพราะว่าการออกเสียง”เต้าหู้”และ“ปลา”นั้นพ้องเสียงกับคำว่า“ฟู่อวี้”ซึ่งมีความหมายว่ามั่งคั่งร่ำรวย ส่วนทางภาคเหนือ ในคืนส่งท้ายปีเก่า ทุกคนในครอบครัวจะช่วยกันห่อเกี๊ยว แล้วรับประทานด้วยกัน



ในคืนส่งท้ายปีเก่ายังมีประเพณีอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า”โส่วซุ่ย”คือ อยู่โต้รุ่งเพื่อต้อนรับวันปีใหม่ เมื่อก่อนนี้ ก่อนปีใหม่จะมาถึง ผู้คนจะจุดประทัดต้อนรับปีใหม่ ประเพณีการจุดประทัดในอดีตก็เพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจ แต่เนื่องจากการจุดประทัดทำให้เกิดมลพิษและไม่ปลอดภัย ดังนั้น ในเขตตัวเมืองของเมืองใหญ่ต่าง ๆ เช่นปักกิ่งเป็นต้นจึงห้ามจุดประทัด พอถึงวันชิวอิก ไม่ว่าเด็กเล็กหรือผู้เฒ่าผู้แก่มักจะใส่เสื้อผ้าใหม่ เพื่อต้อนรับแขกหรือไปเยี่ยมญาติและเพื่อน ๆ เวลาพบหน้ากัน มักจะทักทายด้วยคำว่า“สวัสดีปีใหม่”หรือ“สวัสดีตรุษจีน”แล้วจะเชิญเข้าบ้าน กินขนมจิบน้ำชาไป คุยไปด้วย ถ้าระหว่างญาติพี่น้องเคยเกิดการทะเลาะกันหรือความไม่พอใจกันในรอบปีเก่า ก็จะให้อภัยและคืนดีกันหลังจากการเยี่ยมเยือนกันในช่วงเทศกาลตรุษจีน



กิจกรรมในช่วงเทศกาลตรุษจีนมีมากมายหลายอย่าง เช่น การแสดงละครพื้นบ้าน การฉายหนัง การเชิดสิงโต การเต้นระบำพื้นบ้าน การรำไม้ต่อขา และงานวัด ทุกหนทุกแห่งเต็มไปด้วยบรรยากาศคึกคักสนุกสนาน แต่กิจกรรมที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมทำกันก็คือ การชมรายการโทรทัศน์ที่บ้าน สถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ จะจัดรายการมากมายที่เหมาะสมกับผู้ชมแต่ละวัย



การปิดคำกลอนคู่และภาพมงคล การจุดโคมไฟ ก็เป็นประเพณีฉลองตรุษจีนที่สำคัญ ในช่วงเทศกาล ตลาดจะจำหน่ายกระดาษคำกลอนคู่และภาพมงคลสีสันหลากหลายที่เป็นรูปดอกไม้บ้าง สัตว์บ้างและตัวบุคคลบ้าง ที่สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตผาสุกของประชาชน ให้ลูกค้าเลือกซื้อตามใจชอบ นอกจากนี้ งานโคมไฟก็เป็นกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งในช่วงเทศกาลตรุษจีน โคมไฟที่ทำเป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ เป็นศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านของจีน บนโคมไฟจะพิมพ์หรือวาดลวดลายต่าง ๆ มีสัตว์ ทิวทัศน์ ตัวบุคคลเป็นต้น และทำเป็นรูปต่าง ๆ



เมื่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นเรื่อย ๆ รูปแบบและวิธีฉลองเทศกาลตรุษจีนก็พลอยเปลี่ยนแปลงไปด้วย การออกไปเที่ยวนอกบ้านนอกเมืองกำลังกลายเป็นกระแสนิยมของชาวจีนยุคใหม่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน

ไม่มีความคิดเห็น: