14 ก.พ. 2553

เรื่องน่ารู้ รถไฟฟ้าใต้ดิน

ปลายปี 2539 จนถึงต้นปี 2545


ผู้ใช้รถใช้ถนนจาก พระราม 4-พระราม9-รัชดาภิเษก-สุทธิสาร-ลาดพร้าว-บางซื่อ ต่างอิดหนาระอาใจกับการก่อสร้าง บนผิวจราจรเส้นทางนี้

ทุกคนรู้เพียงว่า เส้นทางนี้กำลังก่อสร้าง รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศ แต่ตลอดเวลากว่า 6 ปี ไม่มีใครเคยเห็นเลยว่า งานก่อสร้างมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร คืบหน้าไปถึงไหน เพราะโครงการนี้ซ่อนตัวอยู่ใต้พื้นดิน ในระดับความลึกกว่า 20 เมตร ตลอดระยะทาง 20 กิโลเมตร อย่างไรก็ตามฝ่ายข่าว กทม.-จราจร น.ส.พ.ไทยรัฐ ขอพาผู้ อ่านทุกท่านมุดลงสู่ใต้พิภพ ลงไปพบกับโลกใหม่ ใต้ดินกรุงเทพฯ อันเป็นที่ตั้งของอุโมงค์-สถานี รถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อสัมผัสถึงความคืบหน้าของการก่อสร้างทุกขั้นตอน

2 อุโมงค์ 20 กิโลเมตร 18 สถานี

รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล รถไฟฟ้าใต้ดิน สายแรกของประเทศไทย ดำเนินการก่อสร้างโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน แห่งประเทศไทย (รฟม.) รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม เดิมรถไฟฟ้าสายนี้ออกแบบให้เป็นรถไฟฟ้ายกระดับ หรือรถไฟลอยฟ้าทั้งหมด แต่สุดท้าย รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2538 ให้ก่อ-สร้างรถไฟฟ้าสายนี้ เป็นระบบใต้ดินตลอดสาย โดยให้ รฟม. ลงทุนก่อสร้างงานโยธา และให้เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้า ซึ่งต่อมาได้กลุ่มบริษัท บีเอ็มซีแอล (มีบริษัท ช.การช่าง เป็น แกนนำ) เป็นผู้รับสัมปทาน

รถไฟฟ้าใต้ดิน สายเฉลิมรัชมงคล มีระยะทางรวมทั้ง สิ้น 20กิโลเมตร เริ่มต้นที่หัวลำโพง-พระราม 4-สีลม-คลองเตย-ถนน รัชดาภิเษก ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์-ถนนอโศก-แยกพระราม 9 -แยกรัชดา /ลาด-พร้าว-ปากทางลาดพร้าว-สวนจตุจักร-สิ้นสุดที่ สถานีรถไฟบางซื่อ มีสถานีรวมทั้งสิ้น 18 สถานี ได้แก่

1. สถานีหัวลำโพง
2. สถานีสามย่าน
3. สถานีสีลม
4. สถานีลุมพินี (ข้างสะพานไทยเบลเยียม)
5. สถานีคลองเตย
6. สถานีศูนย์การ-ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
7. สถานีสุขุมวิท
8. สถานีเพชรบุรี
9. สถานีพระราม 9
10. สถานีศูนย์วัฒน-ธรรมแห่งประเทศไทย
11. สถานีประชาราษฎร์-บำเพ็ญ (กลางแยกห้วยขวาง)
12. สถานีสุทธิสาร (กลางแยกสุทธิสาร)
13. สถานีรัชดา (หน้าอาคารพีการัต )
14. สถานีลาดพร้าว (ซอยลาดพร้าว 21)
15. สถานีพหลโยธิน (ปากทางลาดพร้าว)
16. สถานีหมอ ชิต
17. สถานีกำแพงเพชร (ตรงข้ามตลาด อ.ต.ก.) และ
18. สถานี บางซื่อ ที่สถานีรถไฟบางซื่อ

ทั้งนี้ หากสังเกตให้ดี สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินทุกแห่งจะมีอาคารแท่งสี่เหลี่ยมอยู่ใกล้ๆ ซึ่งอาคารที่ว่า คืออาคารระบายอากาศของอุโมงค์ และสถานี รวมทั้งทำหน้าที่เป็นทางออกฉุกเฉินของผู้โดยสารรถไฟฟ้า สำหรับขึ้นสู่ผิวดินด้วย

อุโมงค์ใต้ดิน-อะไรอยู่ใต้ดิน

อุโมงค์โครงการรถไฟใต้ดิน รฟม. มีลักษณะเป็นอุโมงค์คู่ (1อุโมงค์1 ทางวิ่ง) ส่วนใหญ่วางตามแนวราบขนานกันเกือบตลอดเส้นทาง และมีการวางอุโมงค์ซ้อนกันในแนวดิ่งหนึ่งช่วง จากสามย่าน-ศาลาแดง-ลุมพินี ภายในอุโมงค์ มีความกว้าง 5.70 เมตร ผนังอุโมงค์หนา 0.30 เมตร ลึกตั้งแต่ 20-30 เมตร

พื้นอุโมงค์มีรางวิ่งรถไฟฟ้าขนาดมาตรฐาน กว้าง1.435 เมตร

ตัวรางยึดติดกับคอนกรีตโดยตรง ไม่มีหมอนขวาง

โดยมีรางที่ 3 (ทาสีเหลือง) วางขนานกันไปกับรางวิ่ง สำหรับจ่ายไฟฟ้า

อุโมงค์ตลอดสาย จะติดตั้งประปาหัวแดงเป็นระยะๆ

อีกทั้งเหนือผนังอุโมงค์ จะติดตั้งเซ็น-เซอร์ปรับความดัน ปรับอุณหภูมิภายในอุโมงค์

ทั้งนี้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินรถไฟฟ้า ขัดข้องในอุโมงค์ ผู้โดยสารจะถูกเคลื่อนย้ายออกจากตัวรถ ลงเดินเท้าไปตามทางเดินฉุกเฉิน กว้าง 0.6 เมตร ที่ริมอุโมงค์ เพื่อย้อนกลับไปยังสถานีเดิม หรือขึ้นไปสถานี ข้างหน้า

ทั้งนี้ ผู้โดยสารจะเดินในอุโมงค์ เป็นระยะทางไกลสุดไม่เกิน500 เมตร เนื่องจากสถานีแต่ละแห่งจะห่างกัน 1 กิโลเมตร อีกทั้งจะมีอาคารระบายอากาศ (ซึ่งมีทางออกฉุกเฉิน) ตั้งอยู่ระหว่างสถานีด้วย

18 สถานีรถไฟฟ้า-ทำไมไม่มีถังขยะ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินทั่วไป จะมีความลึกเฉลี่ย 25 เมตร กว้าง 23 เมตร ยาว 200 เมตร และมี 3 ชั้น ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ บันไดเลื่อน และลิฟต์ พร้อมสรรพ ชั้นแรกสุด ประชาชนทั่วไปสามารถใช้ เป็นที่ข้ามถนนได้และ รฟม.อนุญาตให้บริษัท ที่รับสัมปทาน

จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ ภายในกรอบที่ รฟม.กำหนด เช่น ขายหนังสือ

ชั้นที่สอง เรียกว่าชั้นคอนคอร์ด หรือชั้นจำหน่ายตั๋ว...คนที่เข้าไปได้ จะต้องรูดตั๋วโดยสารแล้วเท่านั้น ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดจะเปิดโล่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นที่ “เดิน” เท่านั้น

ชั้นที่สาม หรือชั้นแพลทฟอร์ม คือชานชาลาขึ้นรถไฟฟ้า ซึ่งชั้นนี้มีที่สังเกต คือจะมีการติดตั้งกระจกกั้นระหว่างชานชาลากับทางขึ้นลงรถไฟฟ้า

เมื่อรถไฟฟ้าเทียบชานชาลา กระจกกั้นชานชาลาจะเปิดพร้อมประตูของรถไฟฟ้า ซึ่งวิธีการนี้ทำให้โอกาสที่จะเกิดอุบัติ-เหตุรถไฟฟ้าชนผู้โดยสาร

หรือผู้โดยสารพลัดตกรางรถไฟฟ้า เท่ากับศูนย์

เอ่ยถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดกับผู้โดยสารรถไฟใต้ดิน ดูเหมือนว่าจะเป็น “พื้นสถานีรถไฟฟ้า” เท่านั้น ที่ผู้โดยสารจะต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากพื้นสถานีรถไฟฟ้าทุกแห่งปู ด้วยหินแกรนิต (รวมทั้งผนัง) และขัดทำความสะอาดเป็นมันวับอย่างดี อาจเป็นเหตุให้ลื่นล้ม ข้อเท้าเคล็ดได้

ส่วนภัยอย่างอื่นที่อาจเกิดขึ้น ในสถานีนั้นถูกป้องกันไว้อย่างดีที่สุด เช่น เรื่องความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สิน มีการติดตั้งทีวีวงจรปิด ตรวจความเคลื่อนไหว ภายในสถานีตลอด 24 ชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ ร่วมประจำจุดรักษาการณ์ พร้อมเจ้าหน้าที่รฟม. และบริษัทผู้รับสัมปทาน

ขณะที่การป้องกันเพลิงไหม้นั้น วัสดุโครงสร้างของสถานี จะเป็นวัสดุที่ไม่ติดไฟ ถึงขนาดที่ว่า ภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน จะไม่มีถังขยะแม้แต่ใบเดียว เหตุผลไม่ใช่เรื่องกลิ่น เรื่องความสะอาด แต่เหตุผลหลักคือ ตัดโอกาสการก่อวินาศกรรม ที่ผู้ก่อการร้ายมักใช้ถังขยะเป็นที่วาง หรือซ่อนวัตถุระเบิด

น้ำท่วมอุโมงค์-ยาก ถึงยากมาก เพราะทางขึ้นลงสถานีทุกแห่ง-ปลายอุโมงค์ที่อู่ซ่อมห้วยขวาง- อาคารระบายอากาศทุกแห่ง ซึ่งเป็นจุดที่น้ำจากภายนอก อาจไหลเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินได้ถูกออกแบบและสร้าง

ให้สูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดในจุดนั้นๆในรอบ 200 ปี อีกทั้งยังบวกเพิ่มเผื่อไว้อีก 1 เมตร (เท่ากับ 3.60 เมตรโดยเฉลี่ย) ฉะนั้น หากน้ำยังสามารถไหลเข้าไปใน ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินได้อีก แสดงว่ากรุงเทพฯทั้งเมืองกลายเป็นทะเลไปแล้ว

ที่สุดสถานี-สีลมยากสุด-ศูนย์ วัฒนธรรมฯยาวสุด ในจำนวน 18 สถานี

สถานีสีลม หน้าโรงแรมดุสิตธานี สร้างยากและนานที่สุด เพราะตัวอุโมงค์รถไฟฟ้าทั้งสองอุโมงค์ ต้องหลบอุโมงค์ประปาใต้ถนนพระราม 4 ทำให้ ต้องออกแบบให้อุโมงค์รถไฟฟ้าทั้งสองวางซ้อนกันในแนวดิ่ง เป็นเหตุให้ต้องเพิ่มชั้นของ ตัวสถานีจาก 3 ชั้น เป็น 4 ชั้น เพื่อรองรับอุโมงค์ทางวิ่งอีก 1 ช่อง ด้วยเหตุนี้เอง สถานีสีลมจึงมีระดับความลึกมากที่สุดถึง 30 เมตร

มีผลให้สถานีสีลมต้องมีบันไดเลื่อนขึ้นลงที่ยาวที่สุด ในอาเซียน คือ 43 เมตร

ความยากลำบากที่สถานีสีลมยังมีมากกว่านั้น เพราะมีสะพานลอยไทย-ญี่ปุ่น ตั้งอยู่ใกล้ๆ และตอม่อของสะพานลอย ฝังลึกอยู่ในระดับความลึก 28 เมตร ขณะที่ส่วนบนสุดหรือหลังคา ของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม อยู่ที่ความลึก 30 เมตร ห่างกันเพียง 2 เมตร ทำให้ระหว่างการขุดอุโมงค์ รถไฟฟ้าต้องตัดเสาเข็มตอม่อของสะพานไทยญี่ปุ่นทิ้ง

ทว่า ด้วยสุดยอด ของเทคโนโลยีการก่อสร้างแบบใหม่จากประเทศเยอรมนี

ที่เรียกว่า UNDER PINING สามารถ “ค้ำยัน” ฐานรากสะพานระหว่างการตัดเสาตอม่อ ก่อนที่จะถ่ายน้ำหนัก “ตัวสะพาน” ที่หนักนับร้อยตัน ลงบนหลังคาสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ทำให้ตัวสถานีทำหน้าที่เป็นตอม่อของสะพาน แทนเข็มที่ถูกตัดไป ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับ ตลอดการก่อ-สร้างทั้งหมด สะพานลอยไทย-ญี่ปุ่น เปิดการจราจรตามปกติ โดยรถที่วิ่งผ่านไม่ทราบเลยว่า เสาเข็มตอม่อ ใต้สะพานกำลังถูกตัด

สถานีที่น่าสนใจอีกแห่ง คือสถานีศูนย์ วัฒนธรรมฯ แยกเทียมร่วมมิตร

ซึ่งเป็นสถานี ที่ยาวที่สุด (340 เมตร) เพราะสถานีดังกล่าวเป็นจุดตัดสำหรับ

รถไฟฟ้าที่จะเลี้ยวเข้าอู่ ซ่อมบำรุงที่ห้วยขวาง ทำให้ต้องเพิ่มรัศมีวงเลี้ยวให้กับรางรถไฟฟ้าในอุโมงค์ เป็นเหตุให้ตัวสถานีมีความยาวที่สุดตามไปด้วย

ว่ากันว่า ขนาดของสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ มีขนาดเท่ากับสนามฟุตบอลพรีเมียร์ลีก 3 สนามทีเดียว นอกจากนี้ สถานีประชาราษฎร์บำเพ็ญ ที่แยกห้วยขวางและสถานีสุทธิสาร ที่แยกสุทธิสาร ก็มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากสถานีอื่นๆ เพราะมีแค่ 2 ชั้น คือชั้นคอนคอร์ด กับชั้นแพลทฟอร์ม

เพราะพื้นที่ชั้นบนสุดของสถานี ถูกใช้ก่อสร้างเป็นอุโมงค์รถยนต์ลอดทางแยก

ความทันสมัยและสวยงามของระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน รฟม.ที่เห็นอยู่นี้ กำลังรออวดโฉม “ตัวจริง-ของจริง” กับพี่น้องคนไทย อย่างช้าที่สุด อีกปีเศษข้างหน้า ถึงวันนั้น ไม่เพียงการจราจรเท่านั้นที่จะถูกบรรเทาไประดับหนึ่ง แต่วิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ และคนไทยจะต้องเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย จากโลกใต้ดินที่ถูกสร้างขึ้นนี้.

ไม่มีความคิดเห็น: