8 ก.พ. 2553

ค่านิยมวันวาเลนไทน์ ค่า(ฆ่า)นิยม วันเสียตัวแห่งชาติ


ค่านิยมวันวาเลนไทน์ ฆ่านิยมวันเสียตัวแห่งชาติ (ไทยรัฐ)


เป็นธรรมเนียมปฏิบัติกับการออกมาให้ข่าวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐอย่าง กระทรวงวัฒนธรรม หรือ แม้กระทั่งสื่อสารมวลชนทุก ๆ แขนง พิพากษาให้ "วันวาเลนไทน์" ว่าเป็น "วันเสียตัวแห่งชาติ" ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจกับเด็กเป็นวงกว้างนั้น

นายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ประธานสภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร กล่าวกับไทยรัฐออนไลน์ เกี่ยวกับประเด็นที่ผู้ใหญ่มักให้ภาพวันวาเลนไทน์กับวัยรุ่นเป็นภาพลบมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เขากล่าวไม่เห็นด้วยกับการที่ทุก ๆ ปีนั้นจะมีผู้ใหญ่ออกมาอิงกระแสตราหน้าหาว่าวัยรุ่นใช้วันวันวาเลนไทน์เป็น "พลีกาย" เป็น “วันเสียตัวแห่งชาติ"

ข่าวป้ายสีเด็กลงฟรี ข่าวเด็กดีๆ ต้องเสียตังค์ลง

"ทุก ๆ ปีผู้ใหญ่และสื่อ ให้ความสำคัญกับวันนี้มากมาย จนสถานประกอบการต่างๆ จับกระแสได้โดยเริ่มคลอดโปรโมชั่นแบบยั่วยวนให้กลุ่มเด็กเข้าไปใช้บริการเหล่านั้น ซึ่งแทนที่ผู้ใหญ่ สื่อ กระทรวงวัฒนธรรมจะนำเสนอหรือออกมาพูดในเรื่องดีๆ ของเด็กในวันนี้ ซึ่งมีเต็มหมด เช่น เด็กออกมาทำอะไรสร้างสรรค์ ออกมารณรงค์เรื่องดี ๆ และขยายความหมายของวันนี้มากกว่าวันแห่งความรักเชิงชู้สาวที่เน้นความรักแบบต้องมีเซ็กส์กัน แต่ผู้ใหญ่และสื่อเลือกจับคู่เอาเรื่องเด็กกับสิ่งไม่ดีเสนอ ๆ "

พอเกิดด้านลบมากๆ ประธานสภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร บอกว่า จริง ๆ วัยรุ่นที่ทำตัวไม่ดีมีแค่ 10 % พอออกข่าวไปแล้วก็บอกว่า "วัยโจ๋-นักศึกษา…" ซึ่งถ้าพูดแบบนี้ก็หมายความว่าเหมารวมหมด เด็กส่วนใหญ่ที่ทำตัวดีก็โดนด่า ซึ่งเป็นการพูดความจริงแค่นิดเดียว ผู้ใหญ่ใช้ไม่ได้ซึ่งคาดว่า วาเลนไทน์ปีนี้เด็กก็จะโดนกล่าวหาว่าทำตัวไม่ดีเหมือนเคย

"เด็กดี ๆ หลายคนรู้สึกว่าเด็ก ๆ ถูกป้ายสีนะ แต่อย่างที่เรารู้ ๆ กันว่า "ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียตังค์" แทนที่เราจะมาลงข่าวว่าเด็ก เราไม่ดียังไงๆ ทำไมผู้ใหญ่ไม่รณรงค์ว่าวาเลนไทน์เป็นวันสุภาพบุรุษ วาเลนไทน์เป็นวันมีคนมาช่วยกันในสังคม มาช่วยกันอนุรักษ์สังคม ไม่ต้องไปจงใจในเรื่องของเซ็กส์แอนตี้อยางเดียวแต่ว่า เป็นเรื่องของเรื่องทั่วไป เราไม่ได้ปฏิเสธว่าเป็นวันแห่งความรัก แต่เรารักอย่างอื่นได้ รักสังคมได้ รักพ่อแม่ก็ได้นะ อันนี้ผู้ใหญ่ควรจะรู้ไว้" ประธานสภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร กล่าว





มองมุมกลับ กับ วันเสียตัวแห่งชาติ


นอกเหนือความหมายวันวาเลนไทน์ หรือวันเสียตัวแล้ว ถามว่าปัจจุบันเด็กเสียคนเองหรือว่าโดนทุนนิยม โดนกระแสสังคมทำให้เสียคนประธานสภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร บอกว่าน่าจะมาจากปัจจัยรวม ๆ ทั้งหมด

"คำถามผมก็คือ ผู้ใหญ่ สื่อ และ ตำรวจ ทำไมไม่เปลี่ยนอีกมุมหนึ่งมาช่วยเด็กจัดกิจกรรมรักความสร้างสรรค์ แต่นี่กลายเป็นว่าวันวาเลนไทน์วัยรุ่นกลายเป็นอาชญากรรมไป ถามจับมาทำอะไรเขาได้ แถมไม่ได้ทำให้พฤติกรรมของเด็ก ๆ เปลี่ยนแปลงเลย"

ถามว่าใครไม่สร้างสรรค์กันแน่เด็กหรือผู้ใหญ่ ประธานสภาเยาวชนกรุงเทพมหานครบอกว่าทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าเด็กไม่ดีหรือว่าผู้ใหญ่ไม่ดี อยากให้เด็กออกมาพูดบ้างว่าเทคผับที่เปิดอยู่ทุกวันนี้ทำไมไม่จัดโซนนิ่งล่ะ ทำไมมีผู้มีอิทธิพลยิงคนฆ่าคนตายเยอะล่ะ ฆ่าข่มขืนเยอะแยะทำไมผู้ใหญ่ไม่ทำตัวดี ๆ ถ้าเด็กออกมาพูดเรื่องนี้ผู้ใหญ่ก็เสียหมดแล้วอนาคตสังคมไทยจะได้อะไร

สร้างฮีโร่ เพราะฮีโร่ไม่สิ้น...!!!

"จริง ๆ เด็กมันเป็นไม้อ่อนที่มันดัดได้ แล้วก็มองอีกมุมว่าแทนที่เราจะมาโฟกัสว่าเด็กไม่ดีอย่างนั้นเรามาเปิดแผนที่ชีวิตสำหรับเด็กที่ดี ดีกว่าว่าการที่จะนำไปสู่เด็กที่จะเป็นการยอมรับของสังคมหรือว่าเรียนรู้ในการอยู่ในสังคมได้อย่างหลากหลาย ก็นำเสนอชีวิตของเด็กที่ดีเยอะ ๆ มันก็จะทำให้กระแสสังคมเกิดไอดอลเด็กก็จะรู้ว่าเค้าจะเดินตามใคร และเขาจะได้อะไร เขาจะได้มีฮีโร่ ทำไมประเทศญี่ปุ่นถึงต้องสร้างฮีโร่เยอะๆเพราะมันเป็นไอดอลให้เด็กได้ เด็กก็จะไม่รู้สึกว่าเขาต้องไปทำไม่ดี เขาทำดี เขาจะได้รับโน้นนี่นั่น ผมอยากให้ทำอะไรในเชิงแก้ปัญหาแบบยั่งยืนดีกว่า"

อย่างน้อย ๆ อรุณฉัตร บอกว่า ถ้าลองมาทำกิจกรรมดี ๆ ต่อให้มีคนแค่ 10 คน นั่นหมายถึง 10 คนจะดีขึ้น และ10 คนก็มีคนรู้จักอีกประมาณ 100 กว่าคนสังคมก็เปลี่ยนได้ เพราะการเริ่มต้นของคน 10 คนเช่นกัน นับจากนี้เรามองว่าอีก 10-20 ปี ถ้าคนที่มาเป็นรัฐบาลมีโมเดลในการสร้างคนด้วยการมอบปัญหา มอบการศึกษามากกว่าสร้างวัตถุ



วันวาเลนไทน์ โจ๋ไทยกับทัศนะหลากหลายที่ผู้ใหญ่ปากร้ายต้องฟัง


นางสาวพินทุอร อุทัยวรรณ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงทัศนะกับไทยรัฐออนไลน์ว่าวันนี้เป็นวันแห่งการสูญเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ไปกับ ของขวัญและดอกไม้

"มองว่าวันวาเลนไทน์ก็ไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น ซึ่งนอกจากจะได้อยู่กับแฟนแล้วยังจะได้อยู่กับครอบครัวไปด้วยในตัว อย่างไรก็ดีพลอยอยากจะวิงวอนให้ผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองให้เข้าใจเด็กว่าบางคนไม่มีความคิดแบบนั้น อยากให้ผู้ใหญ่มองว่าเด็กก็มีความคิดดี ๆ เหมือนกัน"

นางสาวรัสวดี วันทรงธรรม รัฐศาสตร์ปี 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนคิดว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ใหญ่กล่าวหาเด็ก ๆ แบบนั้น คงเพราะผู้ใหญ่คิดว่า วันนี้มันเป็นค่านิยมของเด็ก อีกทั้งผู้ชายส่วนหนึ่งก็ใช้วันนี้เป็นข้ออ้างด้วย แต่จริงๆ แล้วผู้ใหญ่ลืมไปว่าเด็กที่เขาว่าเหลวแหลกนั้นเป็นส่วนน้อยของสังคมแค่ 20 % เท่านั้น

"วิธีแก้ไขได้นอกจากผู้ใหญ่จะหยุดตอกย้ำเอาเรื่องของคนกลุ่มเล็กมาพูดแล้ว ครอบครัวก็เป็นส่วนสำคัญในการปลูกฝังให้เรามีความยังยังช่างใจ ซึ่งวันวาเลนไทน์ไม่จำกัดอยูแค่ต้องอยู่กับแฟนเท่านั้น ความรักมันยังกินความหมายไปได้ ถึง พ่อ-แม่-ครู ซึ่งท่านเลี้ยงและสั่งสอนเรามาก็ควรจะตอบแทนท่านด้วยความรักและเอาใจใส่ดีกว่าไปทำตัวเหลวไหล"


ไม่มีความคิดเห็น: