13 ก.พ. 2553

อ้วนซ่อนรูป...ความเสี่ยงหลังตาชั่ง


ใคร ๆ มักเป็นห่วงพวกคนไซซ์เอ็กซ์แอล เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญกับโรคภัย ที่พร้อมจะมะรุมมะตุ้มเข้ามา แต่ผลการศึกษาใหม่กลับพบว่า บรรดาคนไซซ์ปกติก็อาจเผชิญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพได้เช่นกัน แม้ว่าตัวเลขบนตาชั่งจะไม่เกินมาตรฐาน และรูปร่างก็ไม่ได้ตุ้ยนุ้ยผิดหูผิดตา



ผลการวิจัยของ "เมโย คลินิก" ซึ่งทำการศึกษาชาวอเมริกัน 6,170 คนที่มีรูปร่างปกติ และวัดด้วยดัชนีมวลกาย (BMI) ซึ่งถ้าหากมีเปอร์เซ็นต์ความหนาแน่นสูงก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น ที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจมากกว่าผู้ที่มีมวลน้อยกว่า พบว่า ไขมันในร่างกายสามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ แม้ว่าคนคนนั้นจะไม่ได้มีรูปร่างอ้วน และมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ก็ตาม


วอลล์สตรีต เจอร์นัล รายงานถึงผลการศึกษาของ "ดร.ฟราน ซิสโก โลเปซ-จิเมเนซ" ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ ค้นพบปรากฏการณ์โรคอ้วนในคนน้ำหนักปกติ (normal weight obesity) ว่า คนเหล่านั้นอาจไม่ได้มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ถึงจะมีไขมันในร่างกายสูงกว่าปกติ แต่พวกเขาอาจจะมีอัตราของไขมันในเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ (muscle tissue) มากกว่าผู้ที่มีไขมันในร่างกายต่ำกว่า และแม้แต่ผู้ที่มีน้ำหนักเท่ากัน หรือเทียบจากดัชนี BMI เท่า ๆ กัน ก็อาจมีเปอร์เซ็นต์ของไขมัน ในร่างกายที่แตกต่างกันได้


หลังใช้เวลาศึกษานานถึง 9 ปี ทีมของ ดร.โลเปซ-จิเมเนซประเมินว่า อาจมีชาวอเมริกันราว 30 ล้านคนตกอยู่ในสภาวะ อ้วนซ่อนรูปเช่นนี้ และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตระหนักถึงความเสี่ยงจากโรคหัวใจที่สูงขึ้น เพราะคิดว่าตัวเองมีสุขภาพแข็งแรง


อย่างไรก็ ตาม "ดร.โรเบิร์ต เอ็กเคล" ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอ้วนและกลุ่มความผิดปกติ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด แนะนำว่า ควรมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ผลที่เที่ยงตรงมากขึ้น แต่การค้นพบนี้ก็จะเป็นประโยชน์ สำหรับการพิสูจน์สมมติฐานและเทรนด์ที่เกิดขึ้น


พร้อมกับมองว่า ผลการศึกษาไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่มีไขมันในร่างกายจะต้องมีความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคหัวใจมากขึ้น เพราะโดยทั่วไปผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานนิดหน่อย ก็อาจมีสัญญาณเตือนล่วงหน้า แต่การศึกษาเพิ่มเติมมีความจำเป็นเพื่อจะได้รู้ว่า การลดไขมันในร่างกายในบางคน จะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจได้จริงหรือไม่


นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่า ผู้ชายและผู้หญิงน้ำหนักปกติที่มีไขมันในร่างกายสูง จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกลุ่มความผิดปกติ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (metabolic syndrome) มากขึ้นถึง 4 เท่า ซึ่งโรคนี้มักเกิดกับคนอ้วน และเป็นเหมือนดัชนี้ชี้ถึงความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด


สำหรับในกลุ่มผู้หญิง ไขมันในร่างกายที่สูง หมายถึงความเสี่ยงที่มากขึ้นต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ส่วนผู้ชายที่มีไขมันสูงก็อาจพัฒนาเป็นโรคความดันโลหิตสูง ขณะที่ทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่มีไขมันสูง มีความเสี่ยงมากขึ้นเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล


ดร.โลเปซ-จิเมเนซมองว่า การวัดไขมันในร่างกาย อาจจะช่วยจำแนกความเสี่ยงในกลุ่มคนที่มีน้ำหนักปกติได้ ยกตัวอย่างเรื่องของคอเลสเตอรอล ซึ่งการมีระดับคอเลสเตอรอลต่ำกว่า 200 ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีหัวใจแข็งแรง แต่ทว่าคนที่มีสุขภาพในเกณฑ์แข็งแรงนี้ อาจมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี หรือ HDL ต่ำ แต่มีระดับคอเลสเตอรอลชนิดร้าย (LDL) ในระดับที่สูง ซึ่งเข้าข่ายมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจวายสูงขึ้น


ผลศึกษาชิ้นนี้เสนอแนะให้ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ด้วยการเพิ่มมวลกล้ามเนื้อไร้ไขมัน (lean muscle mass) ซึ่งการออกกำลังกายด้วยการยกเวต และออกกำลังด้วยเครื่องต้านแรงจะช่วยได้ รวมทั้งการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพก็ช่วยได้เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น: