21 ก.พ. 2553

โรคอ้วน เสี่ยงต่อภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง


คุณคงทราบดีว่า ความอ้วน ไขมัน คือปัจจัยสำคัญที่นำพาคนเราไปสู่ความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากที่สุด เมื่อเทียบกับโรคภัยระบาดต่าง ๆ ตามฤดูกาลที่เกิดจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสและเชื้อโรคต่าง ๆ เสียอีก ซึ่งอาจเรียกได้ว่าโรคร้ายที่เกิดจากการสะสมพอกพูนของไขมัน ทำให้เกิดโรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ...และคนอ้วนหลายคนก็จบชีวิตด้วยโรคเหล่านี้ต่อเนื่องกัน ปีละนับพันนับหมื่นคน


 
ภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง


เป็นอีกหนึ่งอาการที่ตอกย้ำว่า เมื่อเราบริโภคอาหารอย่างไม่ยั้งคิด เมื่อคุณรับประทานแบบไม่คิดถึงผลที่จะตามมา ก็ย่อมส่งผลอย่างไม่คาดคิดเช่นกัน เพราะเมื่อคุณบริโภคอาหารที่มีปริมาณไขมันจำนวนมากเข้าไป ร่างกายของคุณที่เคยปกติดี จะเริ่มเกิดปัญหา ร่างกายไม่สามารถลำเลียงเลือดและออกซิเจนไปยังสมองได้ เนื่องจากเกิดอุปสรรคที่ขวางกั้นจากลิ่มเลือด ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดมีความผิดปกติ และมีการปริแตก หรืออาจเกิดจากภาวะเสื่อมถอยของร่างกาย สมองของคุณเกิดขาดเลือดเนื่องจากอายุที่มากขึ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่ในวัยทองในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป


ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือหญิง มีโอกาสเสี่ยงต่ออาการภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง และปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดภาวะนี้มากที่สุด ก็คือพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ทำให้เกิดความเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มนักบริหารที่ขาดการพักผ่อน หรือเกิดภาวะเครียดจากการทำงาน หรือผู้ที่ชอบออกสังคมทั้งหลาย ชอบปาร์ตี้ ดื่มเหล้า และรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงอย่างไม่ระมัดระวัง การสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง ผู้ที่มีอาการของโรคความดันโลหิตสูง มีคอเลสเตอรอลสูง มีอาการของโรคเบาหวาน และโรคอ้วน


แน่นอนว่าเมื่อคุณป่วยมีอาการภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงสมองแล้ว อันตรายย่อมเกิดกับคุณได้ตลอดเวลา และอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต หรือเกิดอาการอัมพาต หรือแค่เพียงคุณเกิดภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงสมองน้อย ก็สร้างความเสียหายต่อสมองในส่วนของความทรงจำของคุณ และแน่นอนว่าโอกาสของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ย่อมสูงตามไปด้วย


เมื่อสมองขาดเลือด ร่างกายของคุณย่อมขาดประสิทธิภาพ


เมื่อร่างกายของคุณเริ่มอ้วน และมีคอเลสเตอรอลสะสมในร่างกายมาก คุณมีโอกาสเกิดภาวะสมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงชั่วคราว การมีไขมันที่พอกพูนตามเส้นเลือด เปรียบเสมือนท่อน้ำที่เกิดการสะสมของขยะ และเศษตะกอนให้หลอดเหลือไหลไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ หรือไปเลี้ยงสมองน้อย ส่งผลต่อแหล่งพลังงานที่อยู่ในเลือดน้อยตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล หรือออกซิเจน


จากนั้นจึงเกิดภาวะเซลล์สมองเสื่อมสภาพ โดยมีสารอะไมลอยด์ (Amyloid) และโปรตีนเทา (Tau) ซึ่งจากการศึกษาพบว่าภาวะนี้นำไปสู่โรคอัลไซเมอร์ได้ แม้ว่าอาการของสมองขาดเลือด จะเป็นไปตามความเสื่อมของร่างกายตามอายุขัย แต่ทว่าปัจจัยที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น คือ การเปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมของหลอดเลือด อันเนื่องมาจากมีไขมันมาสะสมที่ผนังหลอดเลือด กระแสเลือดที่นำไปเลี้ยงสมองถูกขวางกระบวนการเดินทางอย่างรุนแรง จากนั้นเนื้อสมองบางส่วนจะค่อย ๆ เสื่อมลงอย่างรุนแรง และเหตุนี้นำไปสู่อาการป่วยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความจำเสื่อมและรุนแรงจนถึงอาการอัมพฤกษ์ หรืออัมพาต


ความผิดปกติของเส้นเลือดไม่ไปเลี้ยงสมอง


ภาวะสมองขาดเลือดที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ ส่งผลต่อภาวะแขนขาที่อ่อนแรง ทำให้มีโอกาสเกิดโรคอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตได้ง่าย


ภาวะสมองขาดเลือดที่เกิดจากหลอดเลือดปริแตก หรือรั่ว ส่งผลให้เลือดคั่งบริเวณใกล้ ๆ สมอง สูญเสียความสามารถในการพูด หมดเรี่ยวแรงเคลื่อนไหว


เมื่อสมองขาดเลือด ผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถในการพูด การกลืน กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง เนื้อเยื่อสมองถูกทำลายอย่างรุนแรง แต่คุณสามารถสังเกตอาการเพื่อเฝ้าระวัง โดยหากมีอาการเหล่านี้ ขอให้รู้ไว้ว่านี่คืออาการเตือนที่แสนอันตราย


ชาบริเวณแขน ขา ใบหน้า


สูญเสียทักษะการพูด และการมอง


อาจมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง


เวียนศีรษะ อาการบ้านหมุน เป็นลม หรือวูบ


กลุ่มเสี่ยงต่อภาวะ Ischemic Stroke


ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป


ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับไขมัน ไม่ว่าจะความดันเลือด โรคเบาหวาน


ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่


ผู้มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือโรคอ้วน


Health Tips : รู้ทันโรค เพื่อป้องกัน และรักษา


ในขั้นตอนแรก เมื่อแพทย์ได้วินิจฉัยอาการ และวิเคราะห์ถึงความรุนแรงแล้ว จะทำการรักษาอย่างตรงกับอาการ ซึ่งขั้นตอนสำคัญในการวินิจฉัยคือ การใช้เครื่องเอ็กซเรย์ภาพขวาง หรือ CT Scan และเอ็กซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI เพื่อค้นหาการอุดตันขัดขวางทางการไหลเวียนของเลือดสู่สมอง หรือบริเวณที่เลือดออก


เมื่อทราบแล้ว เป้าหมายของการรักษาคือ การให้เลือดที่ไหล่ติดขัดได้ไหลเวียนได้ตามปกติ โดยแพทย์จะมีทางเลือก เช่น การใช้ยาสลายลิ่มเลือด หรือการรักษาโดยการปรับพฤติกรรม การใช้ชีวิต เช่น การควบคุมความดันโลหิต การใช้โภชนาการเพื่อการลดไขมันในร่างกาย จนถึงการออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อลดน้ำหนัก ปรับสมดุลให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ในกรณีที่มีอาการหนักมาก ผู้ป่วยมีอาการขั้นรุนแรงจะมีการฟื้นฟูเป็นระยะเวลาหนึ่ง มีทั้งการพื้นฟูการทรงตัว หัดพูด ปรับการเคลื่อนไหว


สุดท้ายสิ่งที่คุณไม่ควรมองข้าม...จากข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่คุณควรรู้และรีบเตรียมตัวก็คือ การคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวไว้ว่าในปี 2565 หรืออีก 13 ปีข้างหน้า จะมีประชากรเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มเป็นร้อยละ 30 จากที่เป็นอยู่ โดยเกิดในประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นร้อยละ 80 และประเทศไทยก็คือกลุ่มเสี่ยง


ถึงเวลาหรือยังที่จะลดความเสี่ยงด้วยการลดความอ้วน และหันมาดูแลสุขภาพให้มากขึ้น...

ไม่มีความคิดเห็น: