28 ม.ค. 2551

8 ทิปการใช้งานคอมพิวเตอร์ที่ไม่ควรพลาด

ฝังฟอนต์เข้าไปในเอกสารเวิร์ด
มีคุณผู้อ่านหลายคนถามเข้ามาว่า เราสามารถฝังฟอนต์ ‘True Type’ (ฟอนต์ของภาษาต่างๆ และ Winding) เข้าไปในเอกสาร Word ได้หรือไม่ ? เพื่อที่ว่า เวลาที่มันถูกนำไปเปิดดูในคอมพิวเตอร์เครื่องใดก็ตาม เราก็ยังจะได้เห็นการใช้ชุดตัวอักษรที่ถูกต้อง แม้คอมพ์เครื่องนั้นจะไม่ได้ติดตั้งฟอนต์ที่มีอยู่ในเอกสารนั้นก็ตามคำตอบก็คือ ฟอนต์ชนิด True Type จะมีคุณสามารถของการฝัง (embed) เข้าไปในเอกสารเวิร์ดได้ครับ นอกจากนี้ นักออกแบบฟอนต์ก็มักจะจัดทำให้ฟอนต์สามารถฝังเข้าไปในหน้าเอกสารอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่คุณควรทราบก็คือ ใช่ว่าทุกฟอนต์จะฝังเข้าไปในเอกสารเวิร์ดได้ อีกทั้งการฝังฟอนต์จะทำให้ขนาดไฟล์เอกสารใหญ่ขึ้นอีกด้วย ซึ่งประเด็นหลังดูจะกลายเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร หากคุณต้องการแนบไฟล์เอกสารดังกล่าวไปกับอีเมล์
ก่อนอื่น ไม่ว่าฟอนต์ที่คุณมีอยู่จะได้รับการออกแบบให้ฝังเข้าไปในหน้าเอกสารได้ หรือไม่ก็ตาม ผมแนะนำให้คุณดาวน์โหลด Microsoft Shell Extension

(ส่วนเพิ่มขยายการทำงานของเซลล์ เช่น คำสั่งใหม่ที่เพิ่มเติมเข้าไปในคอนเท็กซ์เมนู เป็นต้น) ชื่อว่า Font Properties เนื่องจากมันจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟอนต์ ซึ่งรวมถึงว่า มันมีคุณสมบัติของการฝังฟอนต์ (embedding feature) หรือไม่อีกด้วย เพียงแค่คลิ้กขวาบนไอคอนของฟอนต์ใน Windows Explorer (C:windowsfonts) เลือกคำสั่ง Properties แล้วคลิ้กแท็บ Embedding คราวนี้กลับมาที่ขั้นตอนของการฝังฟอนต์ในเอกสาร Word หลังจากที่คุณพิมพ์หน้าเอกสารที่เลือกใช้ฟอนต์ต่างๆ ที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว ให้คลิ้กเมนู Tools เลือกคำสั่ง Options คลิ้กแท็บ Save เลือกเช็กบ็อกซ์หน้าข้อความ “Embed TrueType Fonts” คุณสามารถจัดเก็บไฟล์เอกสารให้มีขนาดเล็กลงได้อีกเล็กน้อย ด้วยการคลิ้กเลือก “Embed characters in use only” (ฝังฟอนต์เฉพาะตัวอักษรที่ใช้เท่านั้น) แล้วคลิ้กปุ่ม OK เพื่อปิดไดอะล็อกบ็อกซ์ Options จากนั้นจัดเก็บไฟล์เอกสารตามปกติ เพียงแค่นี้ ฟอนต์ TrueType ที่คุณต้องการก็จะถูกฝังเข้าไปในเอกสารเวิร์ดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเมื่อเวลาไปเปิดบนคอมพิวเตอร์เครื่องใด มันก็จะมีหน้าตาเหมือนกันทุกเครื่อง แม้คอมพ์เครื่องนั้นจะไม่ได้ติดตั้งฟอนต์ที่คุณใช้ก็ตาม

คืนชีพไฟล์ที่ลบหาย
แม้ว่าเราจะระมัดระวังแค่ไหน แต่การเผลอลบไฟล์ในฮาร์ดดิสก์ออกไปโดยไม่ตั้งใจก็ยังมีให้พบเห็นกันอยู่บ่อยๆ ที่แย่กว่านั้นก็คือ นึกได้อีกทีตอนทำความสะอาดถังขยะไปแล้ว (Empty Recycle Bin) นอกจากนี้ การลบด้วยวิธีกด Shift + Delete บนไฟล์ หรือโฟลเดอร์หนึ่งๆ รวมถึงการลบไฟล์ด้วยการใช้บรรทัดคำสั่ง (command line) จะทำให้ข้อมูลเหล่านั้นอันตรธานไปจาก Windows XP จนดูเหมือนว่า ไม่มีวันที่จะได้ข้อมูลนั้นกลับคืนมาแล้ว
เหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าใจมากๆ หากข้อมูลที่คุณเผลอลบไปนั้นใช้เวลาในการจัดทำค่อนข้างนาน เรียกว่า กว่าจะเสร็จก็หืดขึ้นคอกันเลยทีเดียว แต่ก็อย่าเพิ่งตกใจไปกว่านี้ครับ เพราะคุณยังมีโอกาสที่จะสามารถกู้ข้อมูลที่ลบไปแล้วให้กลับมาอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ได้ หากคุณแก้ไขปัญหาทันทีหลังจากเผลอลบข้อมูลนั้นไป

เนื่องจาก Windows XP ไม่ได้มาพร้อมกับแอพพลิเคชันที่ช่วยคุณกู้ข้อมูลที่ลบออกไปแล้ว ผมจึงขอแนะนำแอพพลิเคชันแจกฟรีชื่อว่า Restoration ซึ่งเป็นโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพในการกู้ข้อมูลที่ลบออกไปแล้วจากฮาร์ดดิสก์ให้กลับคืนมาได้อย่างสมบูรณ์ และเนื่องจากโปรแกรมไม่ต้องมีการติดตั้งเข้าไปในเครื่องก่อนแต่อย่างใด คุณจึงสามารถจัดเก็บโปรแกรมตัวนี้ไว้ในไดรฟ์ USB เพื่อใช้แก้ปัญหาในยามฉุกเฉินได้ตลอดเวลา
ภาพที่เห็นด้านบนเป็นตัวอย่างการกู้ไฟล์โดยใช้โปแรกรม Restoration ซึ่งมีขั้นตอนง่ายมาก เพียงแค่เลือกไดรฟ์ที่คุณต้องการกู้ไฟล์ที่เพิ่งลบไป จากดรอปดาวน์สิสต์บ็อกซ์ Drives ที่อยู่มุมบนขวาของหน้าต่างโปรแกรม จากนั้นคลิ้กปุ่ม “Search Deleted Files” เมื่อโปรแกรมทำการค้นหา และแสดงไฟล์ที่ลบขึ้นมาจนครบแล้ว ให้คุณคลิ้กเลือกไฟล์ที่ต้องการกู้กลับคืนมา แล้วคลิ้กปุ่ม “Restore By Copying” ประเด็นสำคัญก็คือ ในขั้นตอนของการกู้ไฟล์ ควรหลีกเลี่ยงการเขียนทับข้อมูลบนไดร์ฟที่กำลังกู้ไฟล์นั้นๆ ซึ่งหากคุณมีไดรฟ์ หรือพาร์ทิชันเดียว แนะนำให้กู้ และจัดเก็บไฟล์ดังกล่าวบนแผ่นดิสก์ แฟลชไดรฟ์ หรือฮาร์ดดิสก์บนเครือข่ายจะดีกว่า เอาเป็นว่า ลองดาวน์โหลดไปใช้กันดูนะครับ

อะไรกันนี่? ชัตดาวน์ช้ามาก
เคยไหมครับ ? ขณะที่คุณกำลังรีบเร่งจะกลับบ้าน แต่พอชัตดาวน์คอมพ์ที่อยู่ตรงหน้า คุณกลับต้องรอมากกว่า 5 นาทีระบบถึงจะปิดตัวเองเรียบร้อย เหตุการณ์สมมติที่อาจจะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับคุณผู้อ่านหลายๆ คน ซึ่งเราคิดว่า มันน่าจะมีสาเหตุอื่นๆ อีกที่ทำให้ Windows XP ชัต แล้วไม่ค่อยจะยอมชัตดาวน์สักทีหลังจากที่ค้นหาคำตอบจากแหล่งข้อมูลต่างๆ มากมายก็พบว่า ปัญหาใหญ่สุดที่เป็นตัวการสำคัญที่ให้การชัดดาวน์ช้าเกินเหตุก็คือ การถอดถอนโพรไฟล์ผู้ใช้ขณะนั้น (current user profile) ออกจากหน่วยความจำนั่นเอง

สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวก็เนื่องจากว่า เมื่อโปรแกรมของผู้ผลิตรายอื่น หรือแม้แต่แอพพลิเคชันของไมโครซอฟท์เองที่บางครั้งไม่สามารถออกจากหน่วยความจำของระบบได้หมดจด (ยังคงเหลือค้างบางโมดูลการทำงานของโปรแกรม หรือบริการบางอย่างในระบบ) หน้าที่ของวินโดวส์ก็คือ มันจะต้องใช้ความพยายามทั้งหมด เพื่อถอดถอนโพรไฟล์ออกไปจนกว่าระบบจะยอมรับว่า ไม่สามารถทำได้ มันจึงค่อยชัตดาวน์ และถึงแม้ว่า คุณจะหาพบแอพพลิเคชันที่เป็นต้นตอของปัญหา แต่คุณก็คงจะทำอะไรมันไม่ได้อยู่ดี (นอกจากเลิกใช้โปรแกรมนั้น แต่ดูจะเป็นการแก้ปัญหาที่ง่ายไป หรือเปล่า ?)

ไมโครซอฟท์เข้าใจถึงปัญหานี้ดี ทางบริษัทจึงได้พัฒนายูทิลิตีแจกฟรีที่สามารถทำความสะอาดโพรไฟล์ของผู้ใช้ที่ตกค้างออกจากระบบได้โดยอัตโนมัติ ทำให้คุณไม่ต้องพบกับปัญหาการรอคอยที่ยาวนานขณะชัตดาวน์ ยูทิลิตีดังกล่าวชื่อว่า User Profile Hive Cleanup Service (ผู้ใช้จะต้องคลิ้กปุ่ม Continue เพื่อตรวจสอบไลเซนส์วินโดวส์ (validation) ก่อน จากนั้นหน้าเว็บถึงจะแสดงลิงก์ให้ดาวน์โหลด ไฟล์ชื่อว่า UPHClean-Setup.msi ขนาด 329KB) เมื่อคุณสั่งรัน และติดตั้งตามขั้นตอนวิเศษ คุณอาจจะรู้สึกว่า ตัวโปรแกรมติดตั้งไม่เห็นได้ทำอะไรให้เลย แต่ถ้าคุณเปิดดูรายชื่อของบริการที่ทำงานอยู่ในขณะนั้น คุณก็จะพบกับบริการใหม่ที่กำลังทำงานอยู่เบื้องหลัง

ในหน้าต่าง Control Panel ให้คุณดับเบิลคลิ้กบนไอคอน Administrative Tools จากนั้นดับเบิลคลิ้กบนไอคอน Services ไอเดียของบริการนี้ก็คือ มันจะทำหน้าที่เรียกคืนทรัพยากรระบบทั้งหมด เมื่องาน(task) หนึ่งๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว (หน่วยความจำ ส่วนจัดการต่างๆ เป็นต้น) โดยมันจะคอยสอดส่องผู้ใช้ที่ล็อกออฟ และทดสอบว่า มีทรัพยากรระบบที่ไม่ถูกใช้และต้องเรียกคืน หรือไม่ ? ซึ่งด้วยวิธีนี้ทำให้ระบบทราบทันทีว่า มีโพรไฟล์ใดที่ไม่ถูกใช้งาน แต่ยังคงค้างอยู่ และต้องกำจัดออกไป คราวนี้ ไม่ว่าคุณจะชัตดาวน์ ล็อกออฟ หรือรีสตาร์ต ระบบก็จะสามารถตอบสนองได้ภายในไม่กี่วินาที (แทนที่จะต้องไปพะวงกับความพยายามถอดถอนโพรไฟล์ตกค้างในหน่วยความจำ) ลองดาวน์โหลดไปติดตั้งดูนะครับ

ไฟล์ MSI หาย!!!
หลังจากติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เพื่อนนายเกาหเลาช่วยพัฒนาขึ้นมาให้ผมไว้ใช้ทำงาน ซึ่งโปรแกรมที่ติดตั้งเข้าไปก็ใช้งานได้ปกติทุกอย่าง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ เวลาสั่งรันโปรแกรมไมโครซอฟท์ออฟฟิศ ระบบปฎิบัติการวินโดวส์กฟ้องว่า ไม่พบไฟล์ MSI ก่อนอื่นอธิบายก่อนว่าไฟล์ MSI (นามสกุล.msi) จะทำหน้าที่เป็นฐานข้อมูลของไฟล์ที่จำเป็น ข้อกำหนดต่างๆ ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับคอนฟิกกูเรชั่นทั้งหมดของแอพพลิเคชันนั้นๆ ซึ่งปกติวินโดวส์จะจัดเก็บไฟล์ MSI ของไมโครซอฟท์ออฟฟิศเข้าไปไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณขณะติดตั้งด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้าไฟล์ MSI ถูกลบออกไป หรือเกิดความเสียหายกับไฟล์นี้ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็จะมีตั้งแต่ไม่สามารถอัพเดต แก้ไข หรือติดตั้งคุณสมบัติเพิ่มเติมเข้าไปในโปรแกรมออฟฟิศได้ ซึ่งการที่ระบบไม่พบไฟล์ MSI นั้นมีสาเหตุได้หลายประการเหมือนกัน เช่น ไฟล์ดังกล่าวถูกลบ การเปลี่ยนชื่อไดรฟ์ของฮาร์ดดิสก์ หรือการแก้ไขรีจิสทรี (บางทีโปรแกรมของเพื่อนคุณอาจจะมีการแก้ไขรีจิสทรีที่ส่งผลกระทบกับการทำงานของไมโครซอฟท์ออฟฟิศโดยตรงก็ได้) สำหรับวิธีแก้ เมื่อวินโดวส์แจ้งว่าไม่พบไฟล์ MSI ให้คุณใส่แผ่นซีดีติดตั้งออฟฟิศเข้าไปในไดรฟ์ซีดีรอมวินโดวส์จะค้นหาไฟล์ MSI บนแผ่นซีดี และเรียกคืนไฟล์กลับเข้าไปในระบบได้ ลองทำดูนะครับ อีกวิธีหนึ่งก็คือ ลองย้อนระบบกลับไปก่อนติดตั้งโปรแกรมของเพื่อนคุณเข้าไปด้วย System Restore จากนั้นลองสั่งรันโปรแกรมออฟฟิศ หากไม่มีการแจ้งไฟล์ MSI หายไป ก็แสดงว่า โปรแกรมของเพื่อนคุณเป็นตัวการของปัญหาอย่างแน่นอน น่าจะแจ้งให้เขาทราบจะได้แก้ไขให้มันทำงานได้อย่างถูกต้องครับ

MS แจกฟรีซอฟต์แวร์ปกป้องโฟลเดอร์ส่วนตัว
ไมโครซอฟท์ออกเครื่องมือใหม่ชื่อว่า Microsoft Private Folder 1.0 ที่สามารถทำงานบนระบบปฏิบัติการ Windows XP Home, Windows XP Pro หรือ Windows Media Center โดยจะช่วยปกป้องข้อมูลส่วนตัว เมื่อเพื่อน ผู้ร่วมงาน เด็ก หรือใครก็ตามมาใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือบัญชีผู้ใช้เดียวกันกับคุณด้วยเครื่องมือซอฟต์แวร์ตัวใหม่นี้ ผู้ใช้จะสามารถกำหนดรหัสผ่านให้กับโฟลเดอร์ที่มีชื่อเรียกว่า ‘My Private Folder’ ในบัญชีผู้ใช้ของตน เพื่อจัดเก็บไฟล์ส่วนตัว สำหรับ Microsoft Private Folder 1.0 จะเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี เฉพาะลูกค้าที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows XP ที่ถูกลิขสิทธิ์ภายใต้โครงการ WGA (Windows Genuine Advantage) เท่านั้น นั่นหมายความว่า ผู้ใช้จะต้องผ่านขั้นตอน Validation (ตรวจสอบไลเซนส์ที่ถูกต้องผ่านออนไลน์ โดยที่หน้าโฮมของ microsoft.com คลิ้ก ask for Genuine Microsoft Software จากนั้นคลิ้ก ‘ตรวจสอบ Windows’) จึงจะดาวน์โหลดได้ เกือบลืมบอกที่ดาวน์โหลดที่นี่เลยครับ http://www.microsoft.com/genuine/

ซ่อนข้อความลับในไฟล์ภาพถ่าย
เชื่อว่า เพื่อนๆ น่าจะเคยนึกอยากฝากข้อความบางอย่างไปให้เพื่อนรักแบบไฮเทคบ้างเหมือนกัน อย่างเช่น ส่งไฟล์ภาพถ่าย โดยซ่อนข้อความไว้ภายในภาพเป็นไฟล์เดียวกัน ซึ่งผู้รับภาพดังกล่าวไปแล้ว สามารถเปิดอ่านไฟล์ข้อความที่ซ่อนอยู่ในภาพออกมาได้ โดยใช้รหัสผ่านเป็นกุญแจไขความลับที่ซ่อนอยู่ในภาพนั้น
นอกจากนี้ คุณอาจจะใช้ฟรีแวร์ตัวนี้ซ่อนพาสส์เวิร์ด หรือรหัสผ่านเข้าไปในภาพถ่าย เพื่อส่งให้ผู้รับอย่างปลอดภัยได้อีกด้วย แหม...อันนี้ฟังดูเหมือนในภาพยนตร์ลึกลับเลยนิ ซึ่งเทคนิคการซ่อนข้อความลับเข้าไปในวัสดุอุปกรณ์ และสิ่งต่างๆ ที่เราคุ้นเคยถูกเรียกว่า Steganography โดยฟรีแวร์ที่แนะนำในที่นี้จะทำให้เพื่อนๆ สามารถซ่อนไฟล์ข้อความเข้าไปในไฟล์ภาพ JPEG ได้ภายในพริบตาครับ แถมยังสามารถถอดไฟล์ข้อความนั้นออกจากภาพได้อย่างง่ายดายอีกด้วย ชักสนใจแล้วใช่ไหมละครับ ?

สำหรับฟรีแวร์ตัวนี้มีชื่อเรียกว่า JP Hide And Seek (JPHS) ดาวน์โหลดได้จาก ftp://ftp.gwdg.de/pub/linux/misc/ppdd/jphs_05.zip โดยโปรแกรมจะแทรกไฟล์ข้อความ (Text file) เข้าไปในไฟล์ภาพ JPEG ได้โดยที่ขนาดไฟล์แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย เนื่องจากข้อความที่ถูกซ่อนจะได้รับการเข้ารหัส และมีพาสเวิร์ดป้องกันอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น โอกาสที่ใครจะเปิดอ่านมันขึ้นมาได้ (ถ้าไม่รู้กันมาก่อน) ก็น้อยเต็มทีครับ หลังจากดาวน์โหลดไฟล์ และ unzip ออกมาแล้ว คุณจะได้ไฟล์โปรแกรม 3 ไฟล์ด้วยกันคือ jphide, jpseek และ jphswin โดย 2 ไฟล์แรกสามารถเรียกใช้งานในหน้าต่าง Command ได้ทันที ส่วนไฟล์โปรแกรม jphswin จะใช้สำหรับรันบนวินโดวส์ ซึ่งขั้นตอนการซ่อนไฟล์ข้อความก็ง่ายมาก หลังจากเปิดโปรแกรมขึ้นทำงานให้คลิ้กเมนู Open jpeg เลือกไฟล์ภาพที่ต้องการซ่อนข้อความ

โดยโปรแกรมจะแนะนำขนาดของไฟล์ข้อความที่สามารถซ่อนเข้าไปได้ด้วย ซึ่งรูปขนาดเล็กๆ อย่างสาวน้อยตากลมข้างบนนี้สามารถซ่อนไฟล์ได้แค่ 1KB เป็นต้น จากนั้นคลิ้กเมนู Hide โปรแกรมจะเปิดไดอะล็อกบ็อกซ์ Pass phrase เพื่อให้คุณพิมพ์รหัสผ่านสำหรับถอดไฟล์ข้อความออกมาได้ หลังจากกำหนดรหัสผ่านเสร็จแล้ว โปรแกรมจะให้คุณสืบค้นไฟล์ข้อความที่ต้องการซ่อนเข้าไปในรูป เมื่อเลือกเสร็จแล้ว ขั้นตอนสุดท้าย คือ เลือกคำสั่ง Save jpeg as เพื่อจัดเก็บเป็นไฟล์ใหม่ (แต่ถ้าต้องการเก็บทับก็เลือก Save jpeg) เพียงแค่นี้ คุณก็ได้ไฟล์ภาพที่ซ่อนข้อความเข้าไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วนขั้นตอนการถอดไฟล์ข้อความออกจากไฟล์ภาพก็ใช้โปรแกรมเดียวกัน โดยคลิ้ก Open jpeg เพื่อเลือกไฟล์ภาพที่มีข้อความลับซ่อนอยู่ จากนั้นคลิ้กเมนู Seek โปรแกรมจะถามรหัสผ่าน เมื่อกรอกรหัสผ่านถูกต้อง โปรแกรมจะให้คุณตั้งชื่อไฟล์ข้อความ เพื่อจัดเก็บแยกต่างหากออกมา ง่ายดีไหมครับ ?

สำรองข้อมูลบนแผ่นซีดี แต่เปิดดูไม่ได้
อาทิตย์ที่แล้วนายเกาเหลากลับไปบ้านที่ต่างจังหวัด ตั้งใจจะย้ายข้อมูลจากคอมพ์เครื่องเก่ามาใส่ลงเครื่องใหม่ที่กรุงเทพฯ โดยบันทึกข้อมูลลงบนแผ่นซีดีอาร์ แต่พอมาเปิดบนคอมพ์เครื่องใหม่มันฟ้องว่า “Cyclic Redundancy Error” เลยเกิดไอเดียมาคุยให้เพื่อนๆ ฟังสำหรับข้อผิดพลาดที่แจ้งว่า Cyclic Redundancy Error หมายถึง ไดรฟ์ไม่สามารถอ่านแผ่นซีดี (หรือดีวีดี) ได้นั่นเอง ซึ่งข้อผิดพลาดลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนเขียนแผ่นซีดี ซึ่งถ้าคุณพบว่า มันเป็นกับทุกแผ่น กลับไปที่บ้านต่างจังหวัดครั้งหน้า แนะนำให้ลองลดความเร็วในการเขียนข้อมูลลง แน่นอนว่า มันอาจจะใช้เวลาในการเขียนมากขึ้น แต่คุณจะได้แผ่นซีดีที่เปิดอ่านได้ชัวร์ อีกประเด็นหนึ่งก็คือ แผ่นซีดีอาร์ที่ใช้เริ่มเสื่อมประสิทธิภาพแล้ว ซึ่งปกติวงจรเขียนแผ่น (burner) จะยิงเลเซอร์ผ่านชั้นพลาสติกลงไปยังแผ่นโลหะบางที่อยู่ภายในซีดี โดนทั่วไปหากแผ่นซีดีอาร์ไม่ถูกนำมาใช้นานกว่า 2 ปี ชั้นแผ่นโลหะบางๆ ดังกล่าวก็จะเริ่มเสื่อมสภาพ ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการเขียนข้อมูล นอกจากนี้ ยังอาจมีสาเหตุมาจากแผ่นมีรอยขีดข่วนได้อีกด้วย

แนะนำว่า ครั้งต่อไปคุณควรตรวจสอบด้วยการเปิดดูข้อมูลบนแผ่นซีดี หรือดีวีดี หลังการเขียนทุกครั้ง และในกรณีที่คุณต้องทำสำรองแผ่นซีดีเก็บไว้ และไม่ค่อยได้ใช้งาน ก็ควรจะทำก๊อบปี้ใหม่ทุกๆ สองปี เนื่องจากแสงสว่างที่ตกกระทบแผ่นจะเป็นตัวเร่งให้พวกมันเสื่อมเร็วขึ้น หรือถ้าจะให้ดีคุณก็ควรเก็บแผ่นซีดีที่สำรองข้อมูลไว้ในกล่องมิดชิด เพื่อช่วยให้พวกมันคงสภาพการใช้งานได้นานขึ้นครับ

PS/2 Port เรื่องไม่ลับที่น่ารู้
ปิดท้ายกับคำศัพท์ PS/2 Port ซึ่งนายเกาเหลาเชื่อว่า คุณผู้อ่านหลายๆ ท่านน่าจะเคยได้ยินคำนี้มาบ้างแล้ว แต่ทราบจริงๆ หรือไม่ว่า พอร์ต PS/2 คืออะไรกันแน่ ? และมันสำคัญ อย่างไร เรามาทำความรู้จักกับพวกมันมากขึ้นอีกสักนิดดีกว่าครับโดยทั่วไป พอร์ต PS/2 จะเป็นที่รู้จักกันในฐานะของช่องเชื่อมต่อสำหรับเมาส์ เนื่องมันเป็นพอร์ตพิเศษที่ใช้สำหรับเชื่อมต่อเมาส์ หรือคีย์บอร์ดเข้ากับคอมพิวเตอร์ พอร์ตชนิดนี้จะทำงานร่วมกับปลั๊ก DIN ขนาดเล็กที่ภายในมีเข็มสัญญาณ 6 เข็ม เรียงตัวกันเป็นวง นอกจากนี้เราสามารถจดจำหน้าที่ของพอร์ต PS/2 จากสีของมันก็ได้ โดยพอร์ตที่เชื่อมต่อกับเมาส์จะใช้สีเขียว ส่วนคีย์บอร์ดจะเป็นสีม่วง

พอร์ตอีกชนิดหนึ่งที่มีการทำงานใกล้เคียงกับ PS/2 ก็คือ พอร์ตสื่อสารแบบอนุกรม (serial port) ซึ่งสามารถใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ได้เหมือนกัน เช่น โมเด็ม เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากพอร์ตอนุกรมจะมีขีดความสามารถในการทำงานที่เหนือกว่า ดังนั้น พอร์ต PS/2 จึงเหมาะกับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กกว่า และมีการทำงานที่ไม่ซับซ้อนอย่างเช่น เมาส์ และคีย์บอร์ด เท่านั้น พอร์ต PS/2 ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท IBM และคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่จะมีพอร์ต PS/2 ให้ 2 ช่อง เพื่อเชื่อมต่อกับเมาส์ และคีย์บอร์ด นั่นเอง อย่างไรก็ดี ปัจจุบันพอร์ตยอดฮิตที่รองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ได้มากมาย ซึ่งรวมถึงเมาส์ และคีย์บอร์ดก็คงจะหนีไม่พ้น USB ครับ

ไม่มีความคิดเห็น: