17 ม.ค. 2551

โรคที่มากับแมว

ธรรมชาติของแมว เป็นสัตว์กินเนื้อ มีนิสัยที่อยากรู้อยากเห็น และไม่อยู่นิ่ง ชอบออกเดินทางไปตามที่ต่าง นิสัยเฉพาะตัวของแมวจึงเป็นที่มาของโรคหลายๆโรคที่มันนำมาสู่คนได้ คนที่เลี้ยงแมวก็ลองดูกันไว้ครับว่าคุณเสี่ยงที่จะเป็นโรคเหล่านี้หรือไม่

1. โรคหอบหืด ภูมิแพ้
ขนแมว เป็นหนึ่งในสารก่อภูมิแพ้ โดยเชื่อกันว่าสามารถก่อภูมิแพ้ได้ง่ายกว่าขนสุนัขจากคุณสมบัติที่เบากว่า แต่เรื่องขนไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้แมวทำให้เจ้าของเกิดอาการภูมิแพ้ง่ายขึ้น แต่สิ่งที่คนเราแพ้จากแมวมากเสียยิ่งกว่าขนก็ยังมีคือ ขี้ไคลแมว... อันนี้คนเราแพ้ซะยิ่งกว่าที่แพ้ขนซะอีก นอกจากนี้ยังมีเหตุอ้อมๆอีกหลายอย่าง เช่น แมวที่ชอบกัดหรือเล่นแมลงสาบ แมวที่ชอบไปคลุกฝุ่น และเอามาป้ายเจ้าของ

ทางแก้ไขก็คืออาบน้ำแมวซะบ้าง และหลีกเลี่ยงการเอาแมวมานอนบนที่นอน (เชื่อเถอะว่าทำได้ยาก เพราะผมก็นอนกับแมว) ซึ่งถ้าทำสองข้อนี้ไม่ได้และไม่สามารถตัดใจจากแมวได้ ก็ให้ทำใจว่าคุณคงไม่หายจากโรคภูมิแพ้ง่ายๆ ไม่ต้องเสียเวลาไปเปลี่ยนหมอแต่ประการใด

2. กลาก
ง่ายๆ สั้นๆ ผิวหนังสัตว์หลายๆชนิดเป็นที่สะสมของเชื้อราเป็นอย่างดี ใครก็ตามที่เป็นกลากบ่อยๆ รักษาหายแล้วเป็นซ้ำตามที่ต่างๆไม่ค่อยซ้ำแห่งกัน และเลี้ยงแมว ให้สังเกตไว้บ้างครับว่า แมวของท่านมันไปนอนซุกตามเสื้อผ้าบ้างหรือไม่ (คนที่ไม่เลี้ยงอาจคิดว่า ดูจากขนแมวสิ แต่ที่จริงไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะคนที่เลี้ยงแมวหลายๆคน เสื้อผ้าซักแล้วก็ยังมีขนแมวติดเสื้ออยู่ดี) ถ้าเจอก็ให้เอาไปซักซ้ำครับ

3. โรคท๊อกโสพลาสโมสิส (Toxoplasmosis)
อาจจะไม่คุ้นหูนัก แต่หากบอกว่า เป็นโรคเชื้อราขึ้นสมอง คงจะพอคุ้นหูกันบ้าง ที่ไม่ค่อยคุ้นเพราะโรคนี้มักไม่มีผลกับคนธรรมดาที่ร่างกายแข็งแรง แต่โรคนี้เป็นอันตรายต่อผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อย่างเช่น คนไข้มะเร็ง คนไข้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สูงอายุ ผู้ที่กินสเตียรอยด์เป็นประจำ สตรีมีครรภ์(ที่จริงคือเด็กในท้อง) โดยเชื้อโรคจะมีอยู่ในอุจจาระของแมว ซึ่งจะแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นหากปล่อยอุจจาระในที่ร่มจนแห้ง ทางแก้ เราไม่แนะนำให้ทิ้งแมว (ถ้าสังเกตดู คนที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันต่ำข้างต้น ชอบเลี้ยงแมวซะด้วย)แต่แนะนำให้ทุกครั้งที่เอากระบะอุจจาระแมวไปทำความสะอาด ควรใส่ผ้าปิดจมูกป้องกันการฟุ้งกระจาย และควรนำอุจจาระแมวหรือกระบะไปตากแดดก่อนทิ้งอย่างมิดชิด

4. โรคพิษสุนัขบ้า
เมื่อก่อนหลายคนยังเข้าใจผิดว่า โรคพิษสุนัขบ้ามีเฉพาะหน้าร้อนและมากับสุนัขเท่านั้น ความจริงโรคนี้ติดต่อได้ทางสัตว์ตระกูลเลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งแมวก็เป็นหนึ่งในสัตว์ที่เสี่ยง วิธีป้องกันคือ นำแมวที่เลี้ยงไปฉีดยาปีละครั้ง และทุกครั้งควรมีสมุดประจำตัวแมว เพื่อติดสติ๊กเกอร์เป็นหลักฐานว่าได้ฉีดจริง เวลาแมวคุณไปกัดใครเข้า จะได้มีหลักฐานไปแสดง คนที่ถูกกัดจะได้ไม่ต้องลำบากฉีดหลายเข็ม อีกอย่างหนึ่ง หากแมวคุณไปกัดคนอื่น แล้วโดนบังคับให้ตัดหัวส่ง เพื่อตรวจหาเชื้อ... ในความคิดผมเห็นว่าไม่จำเป็น เพราะปัจจุบันถ้าไม่มั่นใจหรือสงสัยจนถึงขนาดนั้น ก็มักจะฉีดเซรุ่มไปเลย ไม่มามัวนั่งรอผลตรวจสมอง ดังนั้นไม่ต้องตัด หรือถ้าจะตัด ก็ตัดไปส่งที่อื่นไม่ต้องเอามาส่งที่รพ. (อ่านเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าได้จากรวมบทความของปีที่แล้วครับ)

5. โรคติดเชื้อจากแผล
เช่นโรคบาดทะยัก และโรคติดเชื้อของเนื้อ(Cellulitis) ในปากแมวมีเชื้อโรคมากมายยิ่งกว่าเชื้อโรคตามพื้นถนน จะเป็นรองก็แค่ปากคนเท่านั้น ดังนั้นการโดนแมวกัดจึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาก สังเกตได้ว่าแผลโดนแมวขบเล็กๆ ทิ้งไว้เพียงวันเดียวก็สามารถแดงบวมขึ้นกลัดหนองได้ ดังนั้นหากโดนแมวกัด ก็ควรล้างน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด และสังเกตว่ามีลักษณะปวดบวมแดงร้อนหรือไม่ หากมีก็อาจจะต้องเจาะล้างหรือกินยาปฏิชีวนะ ส่วนเรื่องของบาดทะยัก หากใครก็ตามที่ฉีดมานานกว่า10ปี ก็สมควรไปฉีดกระตุ้นเสมอ โดยเฉพาะคนที่เลี้ยงแมวและโดนกัดหรือข่วนเป็นประจำ

หากรักจะเลี้ยงแมว สมควรรู้และปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคที่มากับแมวครับ เพื่อการป้องกันไว้ ไม่ให้เราเป็นโรค เพราะเมื่อเกิดโรคแล้วเราจะลำบากใจและทุกข์ใจที่จะลาจากจากสัตว์หน้าขนน่ารักพว­กนี้

ไม่มีความคิดเห็น: