21 ม.ค. 2551

เรื่องควรรู้เมื่อคุณมีบาดแผล

*เรื่องควรรู้เมื่อคุณมีบาดแผล -=Byหมอแมว=- * บาดแผลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งการรักษานั้นไม่น่าจะมีปัญหาอะไร บางคนเป็นแผลเล็กๆน้อยๆก็ไม่จำเป็นต้องไปรักษา ในขณะที่แผลใหญ่ๆบางคนอาจจะนึกเพียงแค่ว่าการไปเย็บแผลก็คงจะเพียงพอ แต่จริงๆไม่ใช่เพียงแค่นั้นครับ การรักษามันมีอะไรมากกว่านั้นเพราะเพียงการขาดข้อมูลบางอย่าง ก็อาจจะทำให้การรักษาล้มเหลวไม่เป็นไปตามที่หวังได้ อย่างเบาะๆอาจจะแค่แผลอักเสบหายช้า แผลเป็น อย่างหนักๆอาจจะถึงขั้นเสียอวัยวะหรือเสียชีวิตได้ทีเดียว

วันนี้ผมจึงขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการรักษาแผลเพื่อให้คุณสามารถนำไปใช้ในก­ารรักษาทั้งแก่ตนเองและที่โรงพยาบาล... เพื่อการรักษาที่ดีที่สุดครับ
การรักษาบาดแผล อย่าเพิ่งงงครับว่าทำไมเริ่มต้นมาก็ว่าถึงการรักษา ... แต่ที่จริงนี่คือการปูพื้นก่อนครับว่าข้อมูลต่างๆที่คุณควรจะรู้และปฏิบัติเกี่­ยวกับบาดแผลนั้นมีเหตุผลมาจากอะไร การรักษาบาดแผลที่โรงพยาบาลที่แพทย์จะทำกันนั้น มีหลายวิธีครับ แต่โดยหลักจะมีแบ่งเป็นแบบใหญ่ๆอยู่ 4 แบบด้วยกันก็คือ
0. ทำแผลเฉยๆ
1. เย็บเลย
2. ล้างแผลไว้ก่อนแล้วค่อยมาเย็บวันหลัง
3. ล้างแผลทำแผลไปเรื่อยๆ รอให้เนื้อขึ้นมา ไม่เย็บแผล

การทำแผลเฉยๆ ใช้ในกรณีแผลเล็กๆน้อยๆเช่นกลุ่มแผลถลอก หรือแผลที่ขนาดเล็กมาก ไม่ค่อยมีเลือดไหลหรือสามารถหยุดเลือดได้เพียงแค่การปิดแผลเบาๆ แผลกลุ่มนี้จะไปหาหมอหรือไม่ไปหาหมอก็หายได้เองอยู่แล้ว

เย็บเลย ใช้ในกรณีที่แผลนั้นเป็นแผลที่มีการฉีกขาดของเนื้อเป็นรอยแยก ถ้าหากไม่เย็บแล้วจะมีเลือดออกมากหรือหายช้าเป็นแผลเป็น การเย็บนั้นจะทำให้แผลถูกดึงเข้ามาหากันและหายได้เร็ว ส่วนใหญ่ใช้ในแผลที่ค่อนข้างสะอาดและไม่มีความเสียหายมากนัก

ล้างแผลไว้ก่อนแล้วค่อยมาเย็บวันหลัง แผลบางชนิดมีความเสียหายหรือชอกช้ำมากในขณะที่เกิดการบาดเจ็บ หรือบ้างก็มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปฝังอยู่มากยกตัวอย่างเช่น แผลจากอุบัติเหตุจราจร(เศษดินโคลนกระจกสี) แผลสุนัขกัด (น้ำลายสุนัขที่เต็มไปด้วยเชื้อร่วมกับแรงกระชาก) แผลกลุ่มนี้ในช่วงแรกที่เกิดบาดแผลเราก็จะเห็นว่าเนื้อนั้นแดงดีดูแล้วไม่มีอะไ­ร แต่หากเราเย็บปิดไปในทันที เนื้อบางส่วนที่เกิดการชอกช้ำนั้นก็จะตายในภายหลังแล้วทำให้ไหมที่เย็บไว้นั้นห­ลุดได้
ที่สำคัญไปยิ่งกว่านั้น เมื่อเนื้อที่ช้ำนั้นตายลง ก็จะเป็นอาหารชั้นดีของเชื้อโรคต่างๆโดยเฉพาะเชื้อโรคตามพื้นดิน/ปากสัตว์ ซึ่งมักจะเป็นเชื้อโรคที่ชอบอยู่ในที่ที่ไม่มีออกซิเจน หากเย็บแผลไปทันทีก็มักก่อให้เกิดการติดเชื้อลุกลามมากได้ ดังนั้นการเปิดแผลไว้ก็จะทำให้เชื้อดังกล่าวสัมผัสกับออกซิเจนและตาย เมื่อแผลดูแดงดีไม่มีหนองและเนื้อตายแล้วจึงทำการเย็บแผลชนเข้าด้วยกัน

ล้างแผลทำแผลไปเรื่อยๆ รอให้เนื้อขึ้นมา ไม่เย็บแผล การทำแผลแบบนี้ใช้มากในกรณีที่แผลเป็นแผลที่เนื้อตรงนั้นแหว่งหายไป การเย็บลงไปทันทีเพื่อให้ขอบแผลมาชนกันจะทำให้เกิดการดึงรั้งผิวหนังอย่างมากจน­ผิวบริเวณนั้นตึงจนใช้งานได้ไม่สะดวกหรืออาจจะมีรูปร่างบิดเบี้ยวไม่สวยงาม ดังนั้นแพทย์ก็จะรอให้เนื้อที่แหว่งไปนั้นโตขึ้นมาเติมเต็มช่องว่างเสียก่อนแล้­วจึงพิจารณาเย็บปิดหรือทำการย้ายผิวหนังมาแปะต่อไป

ซึ่งขึ้นชื่อว่าการรักษาบาดแผลแล้วนั้น นอกจากการรักษาให้หาย ก็มุ่งหวังไปถึงการลดภาวะแทรกซ้อนของแผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการติดเชื้อ การกลับมาใช้งานดังเดิม และความสวยงาม ... ทางที่ดีที่สุดใการรักษาจึงเป็นการทำอย่างไรก็ได้ให้แผลนั้นถูกรักษาแบบที่น้อย­ที่สุดและหายไวที่สุด ... ถ้านับตามตัวอย่างเมื่อสักครู่ ก็คือรักษาแบบที่ 1ดีกว่าแบบที่2,3 และ 4 ตามลำดับ

ตัวแผลเราคงเลือกไม่ได้ เนื่องจากคงไม่มีใครอยากให้เกิดบาดแผลกับตนเอง ดังนั้นสิ่งที่ตัวของเราจะช่วยได้ในการทำให้แผลดี รวมทั้งทำให้แพทย์เลือกการรักษาแบบที่ดีได้ ก็มีปัจจัยต่างๆดังนี้ครับ

1. โรคประจำตัว คนที่มีโรคประจำตัวบางชนิดที่ทำให้เกิดการติดเชื้อง่ายเช่นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่เป็นโรคทางภูมิคุ้มกันบางชนิดที่ต้องได้ยากดภูมิคุ้มหันหรือสเตียรอย­ด์ ควรบอกแพทย์ผู้รักษาทุกครั้ง เนื่องจากแผลที่เกิดในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่าปกติ รวมทั้งแผลก็จะหายยากกว่าปกติ

2. สาเหตุของแผลที่เกิดขึ้น เนื่องจากความชอกช้ำของเนื้อเยื่อและเรื่องเชื้อโรคเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องรู้เพ­ื่อการตัดสินใจทำแผล การรู้ประวัติการเกิดแผลที่ละเอียดย่อมช่วยในการตัดสินใจได้ดีขึ้นว่าจะทำแผลแล­ะให้ยาอย่างไร เช่นหากคุณบอกว่าหกล้มเป็นแผล การรักษาจะต่างจาก หกล้มถูกเศษกระจกที่พื้นบาด(ซึ่งต้องระวังเรื่องกระจกที่จะค้างในแผล) หรือหากบอกว่า ไปบ่อปลาแล้วหกล้ม การรักษาก็จะต่างจากเดินลงไปในบ่อปลาแล้วหกล้ม(ซึ่งเสี่ยงต่อเชื้อที่อยู่ในดิน­โคลน อาจจะต้องให้ยาและรักษาแผลที่มากขึ้น)

3. ประวัติวัคซีน ดูเผินๆแล้วประวัติวัคซีนไม่น่าเกี่ยวข้องกัน แต่เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคบาดทะยักนั้นเป็นเชื้อที่ไม่ชอบอากาศ หากประวัติของวัคซีนไม่ครบและบาดแผลมีความเสี่ยง ก็จะมีผลต่อการพิจารณารักษาบาดแผลได้ ดังนั้นหากจำประวัติการฉีดวัคซีนบาดทะยักได้ก็จะเป็นการดี

4. ระยะเวลาที่เกิดแผล ระยะเวลาที่เนิ่นนานออกไป ก็มีผลทำให้เชื้อโรคที่เข้าไป เข้าไปเติบโตในบาดแผลได้มาก ความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อก็จะสูง ทำให้การรักษาต้องเปิดแผลไว้ก่อนจนกว่าจะแน่ใจ ดังนั้นในกรณีที่เกิดบาดแผลที่ไม่แน่ใจหรือคิดว่าน่าจะได้รับการรักษาจากแพทย์ ก็ควรจะไปพบแพทย์โดยเร็วครับ ดีกว่าปล่อยไว้นาน เพราะจะยิ่งรักษายากขึ้นและมีได้ผลการรักษาไม่ดี อีกกรณีที่พอเจอได้คือในกรณีการทำประกัน บางครั้งมีข้อกำหนดว่าต้องมาพบแพทย์ภายในหนึ่งวันหลังจากเกิดเหตุ ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดปัญหาในบางรายเหมือนกันที่ว่าเกิดบาดแผลมานานกว่า1วัน แต่โกหกเพื่อให้สามารถเคลมได้ ... ตรงนี้ก็คงต้องเลือกเอาครับว่าจะเลือกความปลอดภัยหรือเลือกประกันครับ

5. ล้างแผลโดยเร็ว เมื่อเกิดบาดแผลแล้ว สิ่งที่สำคัญคือการล้างแผลเพื่อเอาเศษเนื้อที่เสียแล้ว , สิ่งแปลกปลอม , เชื้อโรค และเศษลิ่มเลือดออกจากบาดแผลให้มากที่สุด การล้างแผลที่ดีและทำได้เลยก็คือการล้างด้วยน้ำสะอาดมากๆและอาจจะฟอกสบู่ธรรมดา การล้างด้วยน้ำปริมาณมากๆ ดีกว่าการที่ไม่ได้ล้างและเอายาฆ่าเชื้อใส่ลงไปครับ เพราะการใส่ยาฆ่าเชื้อลงไปโดยที่ไม่ได้ล้างแผล ยาฆ่าเชื้อนั้นมักจะไปไม่ถึงเชื้อโรคที่อยู่ก้นแผล และยาฆ่าเชื้อยังมักจะกัดเนื้อเยื่อทำให้เนื้อเยื่อตายเป็นอาหารของเชื้อโรคเข้­าไปอีก ดังนั้นล้างแผลด้วยน้ำมากๆครับ

6. เอาสิ่งแปลกปลอมออก หรือไม่ดี? ถ้าหากสิ่งแปลกปลอมที่ว่านั้นติดอยู่อย่างหลวมๆอย่างเช่นเศษดินที่เข้าไปติดค้า­งอยู่ในแผล ก็ควรล้างด้วยน้ำให้เศษเหล่านั้นออกให้มากที่สุดก่อนครับ แต่ในกรณีที่เป็นสิ่งแปลกปลอมที่ฝังทะลุเข้าไปในเนื้อ การเอาออกอาจจะต้องระมัดระวังว่าเศษนั้นเป็นเศษที่ไปอุดในเส้นเลือดหรือไม่ เพราะถ้าเป็นการดึงออกมาก็อาจจะทำให้เกิดเลือดออกมากได้ครับ

7. หากรู้สึกผิดปกติให้บอกแพทย์หรือผู้ที่ทำแผลทันที หลังจากทำแผลหรือเย็บแผลแล้ว ส่วนมากแพทย์จะให้กลับบ้านและให้ทำแผลวันละครั้ง ซึ่งผู้ที่ทำแผลจะใช้เวลาในช่วงการทำแผลนี้ในการสังเกตว่าแผลที่เห็นนั้นมีอะไร­ที่ผิดปกติหรือไม่ มีการอักเสบหรือลักษณะติดเชื้อภายใต้แผลที่เย็บหรือไม่ แต่กระนั้นแม้ว่าจะทำการตรวจแล้วแผลหลายชนิดก็มีข้อจำกัดอยู่ อย่างเช่นกรณีที่แผลค่อนข้างลึก ผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี(เช่นผู้สูงอายุหรือเบาหวาน) บางครั้งบางคราวบริเวณที่เย็บอาจจะดูแดงเพียงเล็กน้อยในขณะที่มีหนองขังอยู่เบื­้องล่างเป็นปริมาณมาก ดังนั้นอีกสิ่งหนึ่งที่จะดูได้ก็คือเรื่องอาการครับ ... หากมีอาการปวดแผลมากกว่าเดิมมาก รู้สึกตึงบวมมาก หรือรู้สึกว่ามีไข้ ก็ควรแจ้งให้แก่ผู้ที่ทำแผลให้รู้ว่าอาการดังกล่าวนั้นมีมากกว่าปกติ (คือเน้นไปเลยครับว่ามันมีอาการที่ผิดปกติชัดเจน)
น่าจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้บ้างนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น: