25 ม.ค. 2551

อันตราย! ที่คาดไม่ถึงของ ตา-หู-จมูก-ปาก

ประสาทสัมผัสทั้งห้าคือ มองเห็น รู้รส รับกลิ่น ยินเสียง เคยสัมผัส เป็นช่องทางที่คนเราจะเข้าถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว อุบัติเหตุรูปแบบต่างๆ อาจจะนำไปสู่การบาดเจ็บและก่อให้เกิดความเสียหายของประสาททั้งห้า หมอฉุกเฉินก็ต้องประสบผู้ป่วยเหล่านี้เป็นประจำครับ ไม่ว่าจะเป็นตา ปาก จมูก หูหรือผิวหนัง รวมๆ แล้วก็หลายรายต่อสัปดาห์ทีเดียว

“ลูก” บาดเจ็บที่ดวงตา ทำอย่างไร ?
การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับดวงตา ที่พบบ่อยเกิดจากของแข็งกระแทกตา ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ จากความซุ่มซ่ามของเจ้าหนูเดินชน เล่นอัดลูกบอลเข้าหน้ากันหรือเล่นของเล่นอันตราย เช่น ปืนอัดลมเศษสิ่งของกระเด็นเข้าตา ก็สารพัดแหละครับไม่ว่าจะเป็นผงทรายที่เด็กๆ สาดเข้าใส่กัน เล่นเป่าฝุ่นผง เศษไม้เข้าลูกตา หรือแม่แต่ที่บ้าน ยามที่คุณพ่อกำลังไถเครื่องตัดหญ้าเพลินๆ แล้วคุณลูกเดินเข้ามาใกล้ๆ ก็อาจโดนเศษหิน เศษไม้ หรือเศษหญ้าคมๆ กระเด็นเข้าลูกนัยน์ตาแป๋วๆ ของหนูน้อยได้ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้อาจทำให้หนังตาฟกช้ำเลือดออกที่เยื่อบุตาขาว ระคายเคืองจากสิ่งแปลกปลอมเยื่อบุตาขาวหรือกระจกตา กระจกตาถลอก เลือดออกในช่องลูกตาด้านหน้า หรือร้ายสุดคือลูกตาแตกซึ่งนำไปสู่อาการตาบอดได้ครับ

ตายังอาจบาดเจ็บได้จากสารเคมีหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นกรด ด่าง น้ำยาเคมีต่างๆ (น้ำยาล้างจาน, น้ำยาซักผ้า-ล้างห้องน้ำ-เช็ดกระจก-น้ำมันเครื่อง ฯลฯ) และที่พบได้อีกอย่างคือ กาวหลอดสารพัดประโยชน์หลายยี่ห้อเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เด็กๆ ต้องระมัดระวังในการใช้ กรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นมากมายซ้ำแล้วซ้ำอีก มีทั้งการบีบกาวให้ออกทางหัวหลอดปกติ แต่ดันทะลุออกมาทางก้นหลอด! แล้วกระเด็นเข้าไปในดวงตาของคนบีบ!!!

ยังมีการบาดเจ็บของดวงตาอีกสองกรณีที่จะต้องบอกคุณพ่อคุณแม่ให้ระมัดระวัง กรณีที่หนึ่งคือตู้ไมโครเวฟ ซึ่งเด็กๆ ชอบเหลือเกินที่จะยืนจ้องดูอาหารที่ใส่ในตู้ แล้วรอลุ้นยืนจ้องอยู่ว่าเมื่อไหร่ตู้จะดัง “ปิ๊ง” นั่นหมายถึงอาหารนั้นร้อนได้ที่ ทานได้แล้ว แต่คลื่นไมโครเวฟที่ผ่านตามขอบประตูของเตาอาจส่งผลต่อลูกตาได้ อีกกรณีหนึ่งคือเด็กบางคนชอบท้าทายเพื่อนๆ จ้องแสงอาทิตย์ แข่งกัน!! ซึ่งแสงอุลตราไวโอเลตอาจทำให้เซลล์ผิวหน้าของตาดำเกิดแผลถลอกได้ อาการหลังจากโดนแสงประมาณ 4-6 ชั่วโมง จะเริ่มมีอาการเคืองตา ปวดตามาก น้ำตาไหลได้

การปฐมพยาบาลแก้ไขเมื่อมีการบาดเจ็บต่อลูกตา
ในกรณีที่มีการบาดเจ็บที่รุนแรง เช่น ถูกกระแทกอย่างแรงโดยลูกบอก ลูกเทนนิส ถูกยิงโดยกระสุนปืนอัดลม หรือถูกทิ่มแทงโดยวัตถุมีคม หรือถูกของมีคมบาด แทง ข้อควรระวังอย่างยิ่งคืออย่าล้างตาแม้ว่ามีอาการเจ็บหรือระคายเคือง อย่ากดลงบนลูกตาเพราะหากมีการบาดเจ็บถึงขั้นฉีกขาดของลูกตาแล้ว การกดทับทำให้ชิ้นส่วนต่างๆ ทะลักออกมาได้ การปฐมพยาบาลที่ต้องหลีกเลี่ยงคือการใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสำลีกดอัดลงบนลูกตาและปิ­ดแน่นให้ตนเองก่อนให้แพทย์ตรวจประเมิน ให้ใช้เพียงผ้าก๊อซวางเบาๆ และปิดเทปที่มุมบนล่างเบาๆ หรือให้ใช้ที่ครอบลูกตาหากหาไม่ได้ให้ใช้ถ้วยกระดาษแบบกรวย หรือ กระป๋องขนาดที่เหมาะสมต่างๆ ครอบลูกตาไว้เพื่อป้องกันเด็กใช้มือจับกด

สำหรับการบาดเจ็บจากสารเคมีหรือความร้อน สิ่งที่ต้องทำโดยทันทีคือ จะต้องรีบล้างตาโดยเร็วและล้างด้วยน้ำสะอาดเป็นจำนวนมากกว่า 1 ลิตรขึ้นไป หากมีอาการระคายเคืองมาก หรือรู้ว่าสารเคมีที่สัมผัสนั้นเป็นกรดหรือด่างที่รุนแรงห้ามขยี้ตา ซึ่งเด็กๆ และผู้ใหญ่มักกระทำเสมอ โดยเฉพาะเวลาที่เคืองตา ดังนั้นควรห้ามเด็กๆ และอธิบายว่า การขยี้ตานั้นจะทำให้บาดแผลที่ตาจะถลอก และแผลจะลึกมากขึ้น หลังการล้างตาให้ครอบตาก่อนพาส่งแพทย์

สำหรับเจ้ากาวสารพัดประโยชน์นั้นจะทำให้ปวดแสบปวดร้อน ทันทีที่โดนตาให้รีบล้างน้ำให้มากๆ ก่อนนำส่งแพทย์ กรณีกาวมาติดที่หนังตา ไม่ปวดแสบปวดร้อน ให้ล้างเปลือกตาด้วยน้ำอุ่นๆ บ่อยๆ แล้วหนังตาจะค่อยๆ หลุดออกจากกัน กรณีที่ติดที่ขนตาแพทย์จะทำการตัดขนตาออก หนังตาก็จะเปิดได้

อุบัติเหตุการกินของลูกน้อย
ปากมีไว้กิน รับรสอาหารอันเอร็ดอร่อยอุบัติเหตุจากการกินก็เกิดขึ้นได้หลายประการครับ ในการศึกษาพบว่าเด็กไทยต้องเสียชีวิตจากการสำลักสิ่งแปลกปลอมอุดตันทางเดินหายใ­จประมาณ 80 รายต่อปี สิ่งที่เด็กมักเอาเข้าปากและเป็นสาเหตุของการสำลักได้บ่อยคือ ถั่ว เมล็ดผลไม้ น้อยหน่า มะขาม ละมุด ลูกอม ไส้กรอก ลูกชิ้น ชิ้นส่วนของเล่น และเม็ดพลาสติกกลมชนิดต่างๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุน้อยกว่า 5 ปี (ร้อยละ 85)

นอกจากการสำลักอุดตันทางเดินหายใจจากการกินแล้ว การดื่มกิเนสารพิษโดยไม่ตั้งใจเป็นอีกเรื่องของการบาดเจ็บอันมีเหตุจากการกิน สารพิษที่เป็นของเหลวมีอยู่ทั่วไปในครัวเรือน เช่น ยาฉีดยุง-แมลง น้ำยาทำความสะอาดทั้งหลายเช่น น้ำยาขัดล้างห้องน้ำ น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างท่อตัน น้ำยาขัดสนิม น้ำยาอื่นๆ เช่น น้ำยากัดส้นเท้า เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นเพชฌฆาตรสำหรับลูกได้ พ่อแม่บางคนมักง่าย เมื่อใช้สารเคมีเหล่านี้แล้วเหลือ มักหาภาชนะที่เป็นขวดมาเก็บบรรจุ ขวดที่หาง่ายในบ้านก็เป็นขวดเดิมที่เคยใช้ใส่น้ำดื่มกิน เมื่อใส่แล้วก็ไม่ปิดฉลาก หรือทำสัญลักษณ์เตือน ไม่เก็บวางไว้ในที่ที่ปลอดภัย แต่กลับนำไปวางในที่ที่เด็กหยิบได้ หรือที่อาการหนักคือนำไปวางไว้ในที่ที่อาจเข้าใจผิดว่าเป็นของดื่มกินได้ เช่น วางบนโต๊ะอาหาร วางในตู้เย็น สารเคมีเหล่านี้หากเผลอกินเข้าไปจะมีอันตรายต่อร่างกายมากน้อยเพียงใดขึ้นกับชน­ิดของสารพิษนั้น น้ำยาล้างพื้นอาจเป็นด่างชนิดรุนแรง เผลอกลืนเพียงเล็กน้อยจะกัดปาก กัดหลอดอาหารถึงขั้นตีบตันต้องผ่าตัดเอาลำไส้มาไว้แทนหลอดอาหารเป็นต้น อย่าเทสารพิษทั้งหลายลงในขวด หรือภาชนะอื่นๆ เช่น ใส่ในถ้วย ในจาน ในชาม ในขวด อย่านำสารพิษทั้งหลายไว้ใกล้ๆ อาหารหรือเครื่องดื่ม เช่น ไว้บนโต๊ะอาหาร ไว้ในตู้กับข้าว และอย่าเก็บวัตถุเคมี ยา และสารพิษต่างๆ ไว้ในที่ๆ เด็กๆ มองเห็นและหยิบจับได้ ผู้ใหญ่หลายท่านมักประมาทโดยคิดง่ายๆ ว่า….เฮอ….เอาไว้ตรงนี้ก่อนแหละ…. เดี๋ยวค่อยเก็บเข้าที่!!… ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ ได้ทำให้เด็กต่อหลายรายแล้ว!!!

อันตรายต่อโสตประสาท…
โสตประสาทหรือประสาทการได้ยินนี้มีขีดจำกัดในการรับเสียง เสียงที่ดังมากไปจะทำลายเซลล์ประสาทของเด็ก การศึกษาของศูนย์ควบคุมโรค สถาบันอาชีวอนามัยแห่งชาติ ศูนย์วิจัยการบาดเจ็บ มหาวิทยาลัย จอห์น ฮอบกิ้น ได้ร่วมกันรายงานระดับเสียงที่เป็นอันตรายเพื่อให้ประชาชนได้ระวัง มีรายละเอียดดังนี้
“เสียงที่ระดับ 85 เดซิเบล มีอันตรายเมื่อได้ยินติดต่อกันนานเกินกว่า 8 ชั่วโมง เสียงที่ระดับ 100 เดซิเบล หากได้ยินนานเกินกว่า 15 นาที โดยไม่มีสิ่งป้องกันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อโสตประสททได้ สำหรับเสียงที่ดังเกินกว่า 130 เดซิเบล จะทำให้เกิดความเสียหายต่อโสตประสาทในเวลาเพียง 2 นาที”
ในชีวิตประจำวันมีเสียงต่างๆ มากมายที่หูเด็กๆ ต้องเผชิญ ตัวอย่างจากงานวิจัยมีดังนี้

ประเภทของใช้ ระดับเสียง (เดซิเบล)
เครื่องเป่าผม
เครื่องตัดหญ้า
เลื่อยไฟฟ้า
รถแทรกเตอร์
สว่านเจาะ
ไซเรน
ประทัด ดอกไม้ไฟ
คอนเสิร์ต
เสียงเชียร์ฟุตบอลบนอัฒจันทร์
เสียงปืน
รถไฟใต้ดินที่ชานชาลา
เสียงรถยนต์บนถนน
75-90
90-100
110
95-100
95-100
120
130-190
110-120
90-100
160-170
95-105
80-100

สำหรับเด็กนั้นเสียงที่ใกล้ตัวที่สุดคือเสียงของเล่น ในปี 1985 Dr. Alf Axelson และ Thomas Jerson จากมหาวิทยาลัย Goetborg ในประเทศสวีเดน ได้เป็นคนแรกที่รายงานการศึกษาอันตรายจากของเล่นที่มีเสียง โดยได้ทำการวัดระดับเสียงของเล่นต่างๆ ที่ระยะห่าง 10 เซนติเมตร พบว่าของเล่นประเภทกดบีบ (squeak toy) ทำให้เกิดเสียง 78-108 เดซิเบล ของเล่นเคลื่อนไหวได้ เช่น รถ หุ่นยนต์ ทำให้เกิดเสียง 82-101 เดซิเบล ที่ระยะ 50 เซนติเมตร ของเล่นประเภทปืนยังสามารถสร้างเสียงได้ถึง 153 เดซิเบล ที่ระยะ 3 เมตร ประทัด 5 ชนิดสามารถสร้างเสียงได้ถึง 125-156 เดซิเบล
ผู้ดูแลเด็กควรต้องระวังอันตรายจากเสียงต่อเด็ก การศึกษาของเล่นบางชนิดพบระดับเสียงที่น่ากังวลใจ ของเล่นที่เด็กเล่นเป็นประจำสามารถทำให้เกิดเสียงที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ เช่น

ประเภทของเล่น ระดับเสียง(เดซิเบล)
ของเล่นประเภทไซโลโฟน ที่ระยะห่าง 1 ฟุต
ของเล่นประเภท กลอง แตร กีตาร์
กุ๊งกิ๊ง
เครื่องเป่า ทรัมเปต
ของเล่นประเภทโทรศัพท์
ของเล่นที่มีการขยายเสียง
ของเล่นประเภทปืน
129
122
110
95
123-129
เกิดเสียงได้สูงถึง 135
เกิดเสียงได้สูงถึง 150

สำหรับจมูกนั้น เด็กๆ ไม่ใช้ดมกลิ่นอย่างเดียว ชอบเอาไปฝากไว้ในรูจมูกเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นลูกปัด เมล็ดน้อยหน่า ยางลบ วิตามินซี คุณพ่อคุณแม่ก็สงสัยว่าทำไมน้ำมูกไหลข้างเดียวยิ่งนานวันยิ่งเขียวยิ่งเหม็น กินยาแก้หวัดก็ไม่หายเสียที หากมีอาการแบบนี้ควรพาพบแพทย์ครับส่องดูเองอาจไม่เห็นอะไร นอกจากเยื่อบุจมูกที่บวมเป่งและน้ำมูกข้นๆ หมอที่คลินิกก็จะเอาออกให้ได้ครับ ใช้คลิบหนีบกระดาษนี่แหละเครื่องมือที่ดีที่สุดในการเขี่ยออก แต่ต้องทำความสะอาดก่อนและต้องใช้เจลหล่อลื่นช่วยด้วย แต่หากเด็กเอาใส่หู เช่น เมล็ดถั่วเขียว เหตุการณ์นี้ไม่หมูเหมือนจมูกครับ อาจต้องส่งโรงพยาบาลพบหมอ หู คอ จมูก ทิ้งไว้กลายเป็นถั่วงอกในรูหูละก็แย่เลยครับ!.

(update 25 ธันวาคม 2006)
[ ที่มา.. นิตยสารบันทึกคุณแม่ No.159 October 2006]

ไม่มีความคิดเห็น: