7 ก.พ. 2553

เครื่องดื่มแบบไหนก่อโรค


เครื่องดื่มแบบไหนก่อโรค (ชีวจิต)


ประเภทของเครื่องดื่มในท้องตลาด

เครื่องดื่มที่เราเห็นว่ามีหลากหลายชนิดในท้องตลาดนั้น มีการกำหนดความหมายและแบ่งประเภท โดยคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมความปลอดภัย และกำหนดมาตรฐานด้านอาหารตั้งแต่จุดเริ่มต้น โดยแบ่งเครื่องดื่มเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้



เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ มี 4 ประเภทย่อย

น้ำผลไม้ เช่น น้ำผลไม้แท้ น้ำผลไม้ผสม น้ำหวานเข้มข้นผสมน้ำผลไม้
เครื่องดื่มอัดแก๊ส เช่น น้ำโซดา น้ำอัดลม
เครื่องดื่มกระตุ้นประสาท เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

น้ำนม เช่น นมสด นมผสมจากนมผง นมปรุงแต่งรส น้ำนมถั่วเหลือง

เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 แบ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกเป็น 2 ประเภทย่อย

สุราแช่หรือเมรัย คือ ผลที่ได้จากการหมักส่า ให้เกิดสุราที่มีความเข้มข้น แอลกอฮอล์มากน้อยตามความต้องการโดยไม่เกิน 15 ดีกรี และไม่มีการกลั่น เช่น เบียร์ ไวน์ แชมเปญ หรือสุรากลั่นจากผลไม้ต่าง ๆ

สุรากลั่น คือผลที่ได้จากการหมักส่าให้เกิดมีแอลกอฮอล์แล้วกลั่น และบางชนิดต้องเก็บไว้นานเพื่อให้มีคุณภาพดี อาจปรุงแต่ง ให้มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตามความต้องการ เช่น บรั่นดี วิสกี้ เหล้าขาว เชียงชุน


เครื่องดื่มยอดนิยมกับผลกระทบต่อสุขภาพ

รายงานของสถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี ระบุว่า ปัจจุบันนี้เด็กไทย 6 ใน 10 คนบริโภคน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากนมหวาน รองลงไปจะเป็นขนมหวานและน้ำอัดลม ส่งผลให้เด็กไทยป่วยด้วยโรคฟันผุ โรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ มากขึ้นเป็นประวัติการณ์
ต่อมาในวัยรุ่นและวัยทำงานพบว่า สุราแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ไม่ว่าวันหยุดหรือเทศกาลใด ๆ ก็มักจะมีการดื่มสุรา ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ประชากรไทยติดอันดับชาติที่ดื่มสุราสูงสุดเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยชายวัยทำงานอายุ 20-45 ปี ดื่มสุราสูงสุดถึงร้อยละ 75 ส่วนวัยรุ่นทั้งชาย และหญิงต่างก็มีแนวโน้มการดื่มสุราสูงขึ้นเรื่อย ๆ ที่น่าตกใจคือวัยรุ่นหญิงอายุ 11 ก็เริ่มดื่มสุรากันแล้ว
สถาบันวิจัยยาเสพติด ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่วัยรุ่นหญิงนิยมดื่ม ได้แก่ สุราต่างประเทศ สุราผสมผลไม้ หรือไวน์คูลเลอร์ เพราะเชื่อว่ามีแอลกอฮอล์น้อยดื่มแล้วไม่เมา ในต่างประเทศมีการวิจัยพฤติกรรมการบริโภคสุราผสมผลไม้ หรือ RTD (Ready To Drink) พบว่า เครื่องดื่มประเภทนี้เป็นประตูบานแรก ที่เปิดให้เยาวชนกลายเป็นผู้เสพติดสุราในที่สุด

หากพิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อสุขภาพแล้ว ในส่วนเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์นั้นมีผลลบต่อสุขภาพชัดเจน แต่ในส่วนของเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์นั้น ผู้บริโภคอาจมีความรู้สึกว่า ผลกระทบต่อสุขภาพที่แฝงอยู่อาจยังไม่ชัดเจนเท่าไรนัก จึงมองข้ามผลเสียไป ทั้ง ๆ ที่เมื่อศึกษาจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับส่วนประกอบในเครื่องดื่มแล้ว จะพบว่า หากดื่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์บางประเภท ในปริมาณมากติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ก็สามารถส่งผลให้ร่างกายเจ็บป่วยได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น ก่อนตัดใจเลือกซื้อเครื่องดื่มครั้งต่อไปกัน ลองตามไปสำรวจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเครื่องดื่มและผลกระทบต่อสุขภาพ...ดีไหมคะ



ส่วนประกอบของเครื่องดื่ม
น้ำรสผลไม้ให้แต่น้ำตาล

เครื่องดื่มยอดนิยมที่เด็กๆหรือแม้แต่ผู้ใหญ่หลายคนก็ชื่นชอบ เพราะมีรสอร่อยและรู้สึกเหมือนได้ดื่มน้ำผลไม้ หาซื้อได้ง่ายและมีราคาถูกกว่าน้ำผลไม้คั้นสดหลายเท่าตัว



ส่วนประกอบ

สารแต่งกลิ่น สี รส ปริมาณสารปรุงแต่งเหล่านี้ถึงแม้จะไม่มาก แต่ก็ไปสะสมที่ตับและร่างกายส่วนอื่น เพิ่มโอกาสให้เกิดความผิดปรกติของเซลล์จนกลายเป็นมะเร็งได้

น้ำตาล เมื่อคุ้นชินกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานเสียตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้เมื่อเติบโตขึ้นมาก็ต้องบริโภคในปริมาณที่มากขึ้น จนกลายเป็นอาการติดน้ำตาล บางรายอาจจะแสดงออกด้วยอาการทางจิต เช่น ซึมเศร้า กระสับกระส่าย เดี๋ยวอารมณ์ดีเดี๋ยวอารมณ์ร้าย สมาธิสั้น มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นคนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว

ผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย

เพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ไฮโปไกลซีเมียหรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

มีอาการแพ้ที่ผิวหนัง ปรากฏเป็นผื่นคันหรือลมพิษขึ้นเป็นปื้น ๆ ตามนิ้ว แขนขาชา

โรคในช่องปาก ฟันผุ

น้ำอัดลมซ่ากว่าที่คิด

เครื่องดื่ม ที่เดิมเคยครองสัดส่วนการตลาดของเครื่องดื่มยอดนิยมทั่วโลกมาอย่างยาวนาน ด้วยรสซ่าและหวาน ที่ได้รับการโฆษณาว่า สร้างความสดชื่นและดับกระหายได้เป็นอย่างดี



ส่วนประกอบ

น้ำตาล ในน้ำอัดลมมีปริมาณน้ำตาลตั้งแต่ร้อยละ 10-15 ซึ่งนับว่าสูงมาก ลองเปรียบเทียบง่ายๆว่า ในน้ำอัดลม 1 กระป๋องขนาด 250 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาลราว 3 ช้อนชา การดื่มเครื่องดื่มซึ่งมีปริมาณน้ำตาลสูงเช่นนี้เป็นประจำ ทำให้ตับอ่อนทำงานผิดพลาด ก่อให้เกิดโรคอื่นๆที่สัมพันธ์กับระดับน้ำตาลในเลือดได้ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน เป็นต้น

กรดคาร์บอนิก น้ำอัดลมยังมีการปรุงแต่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเพิ่มอีก 2 ประการ ได้แก่ การเติมกรดปรุงแต่งรสในน้ำอัดลม ซึ่งมีค่า ph โดยประมาณเท่ากับ 3.4 ซึ่งค่าความเป็นกรดนี้สามารถกัดกร่อนฟันและกระดูกได้ ส่วนการอัดแก๊สที่เติมเข้าไปอีกนั้นช่วยให้เกิดความซ่าชวนดื่ม อาจทำให้ท้องอืดเพราะมีแก๊สในกระเพาะอาหารมากเกินไป เกิดอาการระคายแก่ผนังกระเพาะอาหาร เสี่ยงต่อการเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารในระยะยาว กระดูกและเคลือบฟันผุกร่อนเร็วกว่าปรกติ ด้วยเหตุนี้ทำให้น้ำอัดลมจึงเป็นเครื่องดื่มต้องห้ามในผู้สูงอายุ ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและผู้ป่วยด้วยโรคกระเพาะอาหาร

สารปรุงแต่งรสและสารกันบูด สารเหล่านี้อาจตกค้างในร่างกายและสะสมในตับ ทำให้การทำงานของตับลดลง ไปสู่โรคเกี่ยวกับตับ เช่น มะเร็งตับ ได้

คาเฟอีน ส่วนประกอบในน้ำอัดลมประเภทน้ำสีดำ ที่สกัดได้จากเมล็ดโคคาจึงมีคาเฟอีนตามธรรมชาติอยู่ แม้กระนั้นก็ยังมีการเติมคาเฟอีนเพิ่มในกระบวนการผลิตซ้ำอีก ดังนั้นจึงมีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง เด็กและสตรีมีครรภ์จึงไม่ควรดื่ม ส่วนน้ำอัดลมประเภทที่มีสีใส ประเภทแต่งสีแต่งกลิ่นเลียนแบบผลไม้ แม้ไม่มีคาเฟอีนผสมอยู่แต่ก็มีความหวานจัด

ผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย

ผลจากการดื่มน้ำอัดลมมีให้เห็นในภาพยนต์สารคดีเรื่อง Supersize Me อันโด่งดัง ซึ่งเรื่องจริงของ มอร์แกน สเปอร์ล๊อค ชายหนุ่มชาวอเมริกันผู้ทดลองกินอาหารฟาสต์ฟู้ด และดื่มน้ำอัดลมแก้วโตทุกมื้อติดต่อกัน เป็นเวลา 30 วัน

เมื่อครบกำหนดการทดลอง ปรากฏว่า น้ำหนักตัวของมอร์แกนเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 10 กิโลกรัม พุงโย้ กล้ามเนื้อเหี่ยว ร่างกายขาดสารอาหารจำเป็นประเภทวิตามิน เกลือแร่เกือบทุกตัว ตับและไตถูกทำลายไปมากกว่าครึ่ง และแพทย์ลงความเห็นว่า หากมอร์แกนไม่หยุดการทดลองเขาอาจช็อคและเสียชีวิตจากอาการไตวายได้

เครื่องดื่มเกลือแร่ทำลายสุขภาพคุณแน่

เครื่องดื่มประเภทนี้ได้รับการโฆษณาว่า เหมาะกับผู้ที่ออกกำลังกายหรือสูญเสียเหงื่อมาก มีรสหวานและเค็มเล็กน้อย มีการปรุงแต่งรสด้วยสีและกลิ่นผลไม้



ส่วนประกอบ

น้ำตาลและสารปรุงแต่งรส มีปริมาณไม่สูงมากเมื่อเทียบกับน้ำอัดลมและน้ำหวานรสผลไม้

เกลือแร่ต่างๆ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม ไบคาร์บอนเนต จากส่วนประกอบดังกล่าวบวกกับเทคนิคในการโฆษณาทำให้ประชาชนรู้สึกว่า เครื่องดื่มชนิดนี้เหมาะกับนักกีฬาและผู้ที่มีเหงื่อออกมาก

แต่ข้อเท็จจริงที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบก็คือ เครื่องดื่มเกลือแร่ควรใช้กับผู้ที่เสียเหงื่อมาก ๆ โดยผิดจากภาวะปรกติที่ร่างกายเคยชิน เช่น ในกรณีนักกีฬาที่เคยอยู่ในเขตหนาว เมื่อมาแข่งขันในแถบร้อน แล้วร่างกายปรับตัวไม่ทัน จะพบว่าเหงื่อออกมากขณะลงสนาม และอ่อนเพลียจากการสูญเสียเกลือแร่ได้ เป็นต้น แตถ้าเป็นการเสียเหงื่อจากการออกกำลังกายตามปรกติ รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยา ให้คำแนะนำว่า การดื่มน้ำเปล่าเพื่อชดเชยเหงื่อที่เสียไปก็เพียงพอ และถ้ายิ่งเป็นนักกีฬาที่มีการฝึกซ้อมทุกวันด้วยแล้ว ก็แทบจะไม่จำเป็นต้องดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่เสริมอีก เพราะร่างกายจะสามารถปรับตัวต่อการเสียเหงื่อเป็นประจำ โดยไม่จำเป็นต้องให้เกลือแร่ชดเชย



ผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย

หากร่างกายของเราได้รับเกลือแร่ต่างๆ จากอาหารเพียงพออยู่แล้ว การบริโภคเครื่องดื่มเกลือแร่ที่มีเกลือโซเดียมมากเกินไป อาจเป็นอันตรายโดยเฉพาะในผู้ที่ป่วยโรคหัวใจ หรือโรคไต ในกรณีของเด็กและทารกไม่ควรดื่ม เพราะอาจเกิดการเสียสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายได้



เครื่องดื่มชูกำลังให้คาเฟอีนมากเกิน

เนื่องจากชื่อเดิมที่ให้ผลบวกด้านจิตวิทยาแก่ผู้บริโภคว่า ดื่มแล้วมีกำลัง สามารถทำงานต่อเนื่องได้โดยไม่รู้สึกอ่อนเพลีย รัฐบาลได้คำนึงถึงช่องว่างดังกล่าว แล้วมองเห็นถึงผลกระทบของการบริโภคคาเฟอีนสังเคราะห์ซึ่งผสมอยู่เครื่องดื่มชนิดนี้ในปริมาณสูง จึงได้กำหนดให้เรียกชื่อเครื่องดื่มชูกำลังใหม่ว่าเป็น เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน



ส่วนประกอบ

น้ำตาล ไวตามินต่าง ๆ ผู้ดื่มอาจรู้สึกสดชื่นนั้นเนื่องจากได้รับน้ำตาลเข้าไป ส่วนวิตามินและสารอื่นๆ เช่น สารกลูคูโรโนแลคโตน สารอันโนซีทอล สารเทาริน ที่ฉลากข้างขวดมักจะระบุว่า มีส่วนช่วยบำรุงตับ หัวใจนั้น ในความเป็นจริงยังไม่ปรากฏผลทางวิชาการมารับรองว่า ร่างกายจะได้รับประโยชน์จากการดื่มสารเหล่านั้นเข้าไปโดยตรง

คาเฟอีนสังเคราะห์ ในเครื่องดื่มประเภทนี้มีการเติมคาเฟอีนสังเคราะห์ซึ่งไม่ใช้คาเฟอีนธรรมชาติ เหมือนที่พบในน้ำอัดลมหรือกาแฟ โดยปริมาณคาเฟอีนที่ผสมจะอยู่ที่ 50-100 มิลลิกรัม ต่อ ขวดบรรจุ 100 มิลลิลิตร ซึ่งนับว่าค่อนข้างสูง



ผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย

บุคคลทั่วไปไม่ควรบริโภคคาเฟอีนเกินวันละ 300 มิลลิกรัม ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากปริมาณคาเฟอีนที่ผสมอยู่จึงมีคำเตือนว่า ไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 ขวด เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม เพราะนอกจากจะมีผลกระทบต่อการทำงานของตับแล้ว ยังมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กและทารกในครรภ์

ในส่วนของวิตามินที่อ้างว่าผสมในเครื่องดื่มประเภทนี้กว่า 10 ชนิดนั้น หากเรารับประทานผักผลไม้เพียงพอแล้ว ร่างกายก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสริมวิตามิน หรือสารอาหารอื่น ๆ จากการดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้เข้าไปอีก



เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์นำไปสู่การเสพติด

เครื่องดื่มกลุ่มนี้ถือเป็นก้าวแรกที่นำวัยรุ่น ไปสู่ถนนนักดื่มได้โดยง่าย เพราะมีรสหวานเนื่องจากมีการปรุงรส สี กลิ่น หรือผสมน้ำผลไม้ ทำให้ชวนดื่ม ไม่มีรสขมจัดอย่างเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในดีกรีสูง ๆ



ส่วนประกอบ

น้ำหวานรสผลไม้หรือน้ำผลไม้ ปริมาณน้ำตาลไม่สูงเท่าน้ำอัดลมและน้ำหวานรสผลไม้

แอลกอฮอล์ แม้จะมีประมาณแอลกอฮอล์ที่ดูเหมือนไม่มากนัก คือ เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6-9 แต่หากดื่มติดต่อกันตั้งแต่ 5 ขวด (ปริมาณบรรจุขวดละ 250 มิลลิลิตร) ขึ้นไปก็ทำให้มึนเมาได้



ผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย

ผลโดยตรงจากการดื่มเครื่องดื่มประเภทนี้ไม่น่ากลัวเท่าผลทางอ้อม ที่ชักจูงให้วัยรุ่นโดยเฉพาะวันรุ่นหญิง กล้าดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ดีกรีสูงขึ้นต่อไปโดยง่าย รายงานจาก สถาบันวิจัยยาเสพติด ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การที่เด็กเริ่มต้นทำตัวเป็นนักดื่มตั้งแต่ก่อนอายุ 13 ปี มีโอกาสติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปจนโต ซึ่งมีกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 10 ปี ประมาณร้อยละ 4.7 ที่เริ่มดื่ม เมื่อเทียบอายุเฉลี่ยของคนไทยที่เริ่มดื่มแอลกอฮอล์ อยู่ที่ 20.5 ปี จะเห็นว่าเร็วจนน่าตกใจมาก



เครื่องดื่มจำเป็นต่อร่างกายหรือไม่

หากเครื่องดื่มยอดนิยมมีผลลบต่อสุขภาพเช่นนี้แล้ว เราควรเลือกดื่มเครื่องประเภทใดแทน...

หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามหลักโภชนาการ นอกจากรับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่แล้ว ร่างกายยังต้องการน้ำเฉลี่ยวันละ 2.5 ลิตรหรือราว 8 แก้ว เพื่อนำไปใช้ในระบบต่างๆของร่างกาย เช่น หล่อเลี้ยงเซลล์ ขับถ่าย ระบายความร้อน หากไม่ดื่มน้ำให้เพียงพอ ร่างกายจะเกิดภาวะขาดน้ำ เกิดขึ้นเมื่อร่างกายสูญเสียน้ำอย่างรุนแรง ส่งผลให้ระดับของโซเดียม โปแตสเซียม และคลอไรด์ ไม่สมดุล

เมื่อร่างกายประสบกับภาวะขาดน้ำ เราจะรู้สึกกระหายน้ำ ผิวหนังไม่มีความยืดหยุ่น ผิวแห้ง ปัสสาวะน้อยลง อารมณ์ฉุนเฉียว สับสน อาการเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของกลไกตามธรรมชาติของร่างกาย ที่จะแสดงออกมาเมื่อร่างกายไม่สามารถจัดสรรปันส่วนน้ำที่มีอยู่น้อยนิด ให้เพียงพอต่อความต้องการของอวัยวะสำคัญ เสี่ยงที่จะเกิดอาการจุกเสียด แน่นหน้าอก ท้องอืด คลื่นไส้

เครื่องดื่มเสริมอื่นๆอาจมีความความจำเป็นในบางช่วงวัย เช่น วัยเด็กที่กำลังเจริญเติบโตและผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุน อาจมีการเสริมแคลเซี่ยมโดยให้ดื่มนมถั่วเหลืองเป็นประจำ หรือ ขณะที่บางโรคอาจต้องมีการเสริมปริมาณเครื่องดื่ม ยกตัวอย่างเช่น การดื่มน้ำเกลือแร่โออาร์เอสในผู้ป่วยโรคท้องร่วง การดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อช่วยในการขับถ่ายในกรณีของผู้ป่วยที่มีปัญหาท้องผูก เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยา สรุปในตอนท้ายว่า สำหรับวิถีชีวิตของคนโดยทั่วไปแล้ว น้ำสะอาดที่ผ่านการต้มแล้วนับว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ในราคาประหยัด ถ้าหากสนใจจะหาซื้อเครื่องดื่มอื่นๆมาบริโภค ควรอ่านฉลากโภชนาการที่แสดงไว้บริเวณด้านข้างของผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นข้อมูลช่วยตัดสินใจว่า เครื่องดื่มชนิดนั้นให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ก่อโรค และมีราคาคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปหรือไม่



ภาวะใดบ้างที่เราควรดื่มน้ำให้มากขึ้น

สูญเสียเลือด ระหว่างวันเราควรดื่มน้ำมากที่สุด ราว ¾ - 1 แก้ว ในแต่ละครั้ง และให้บ่อยเท่าที่เป็นไปได้ น้ำปริมาณนี้ มีค่าเท่ากับ 130-180 มิลลิลิตร ในแต่ละครั้ง

เป็นไข้ เวลาเป็นไข้ควรจิบน้ำบ่อยๆ เพื่อชดเชยปริมาณน้ำที่สูญเสียไปจากการระเหยออกทางผิวหนัง การที่น้ำระเหยออกไป จะช่วยลดความร้อนจากอาการไข้ ทำให้ร่างกายเย็นลง นอกจากนี้ยังช่วยลดอัตราการเปลี่ยนสารอาหารเป็นพลังงานและโปรตีนในร่างกาย ลดการสร้างความร้อน และเพิ่มอัตราการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย

ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การดื่มน้ำมากๆ ระหว่างที่มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ จะช่วยเพิ่มการผลิตปัสสาวะ และล้างเอาเชื้อโรคออกไปได้เร็วขึ้น

เป็นโรคปวดตามข้อหรือกล้ามเนื้อ ผู้ที่มีอาการเกี่ยวข้องกับการบวมของข้อต่อ กล้ามเนื้อ ผิวบริเวณข้อต่อ จะทำให้รู้สึกปวด ผู้ที่เป็นโรคนี้ควรดื่มน้ำมากๆ เพราะน้ำจะช่วยเจือจางเลือด และลดระดับกรดยูริก (ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการเปลี่ยนสารอาหารเป็นโปรตีน) ที่ปะปนอยู่ในเลือดให้ถูกขับออกไปพร้อมปัสสาวะ



ประโยชน์ของเครื่องดื่มแบบชีวจิต

สำหรับชาวชีวจิตเองนั้นนอกจากการดื่มน้ำเปล่าที่ไม่แช่เย็นแล้ว ยังมีเครื่องดื่มที่เปรียบเสมือนตัวช่วยกระตุ้นการทำงานของภูมิชีวิต อย่าง น้ำอาร์ซี น้ำเอ็นไซม์ และน้ำชาสุขภาพ ด้วย คุณสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ในหนังสือที่เขียนโดยอาจารย์สาทิส อินทรกำแหง ได้แก่ ชีวจิต มะเร็งแห่งชีวิต รวมไปถึงข้อมูลในเวบไซต์นิตยสารชีวจิต ซึ่งจะระบุถึงประโยชน์และวิธีการทำไว้โดยละเอียดค่ะ

น้ำอาร์ซี ต้มจากข้าว 9 ชนิด มีข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เล่ย์ ลูกเดือย ลูกบัว ข้าวมันปู ข้าวกล้อง ข้าวเหนียวกล้อง ข้าวโอ๊ต ซึ่งมีกลูโคส DNA และ RNA ช่วยแก้อ่อนเพลีย รักษาระดับน้ำตาลในเลือด ควรดื่มเวลาเช้าและท้องว่าง หากเก็บใส่กระติกให้อุ่นอยู่เสมอสามารถนำมาดื่มได้ตลอดวัน แทนที่จะดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง ลองดื่มน้ำอาร์ซี เสริมภูมิชีวิตกันดีกว่า

น้ำเอนไซม์ คั้นจากเครื่องคั้นแยกกากหรือกรองและคั้นด้วยผ้าขาวบาง ห้ามใช้เครื่องปั่นไฟฟ้าเพราะจะทำให้เอนไซม์ตาย ใช้ผักและผลไม้มาคั้น เช่น แครอท เซเลอรี่ รากบัวหลวง มะระ กระเทียม แคนตาลูป ลูกใต้ใบ ช่วยเสริมการทำงานของระบบต่างในร่างกาย ฆ่าเชื้อโรค ล้างไขมัน ฟอกเลือด สมานแผลในกระเพาะอาหาร ควรดื่มวันละ 1 แก้วเวลาท้องว่าง งดดื่มน้ำหวานรสผลไม้ที่มีแต่น้ำตาลกับสารปรุงแต่งสีกลิ่นรส หันมาทำน้ำเอ็นไซม์ดื่มเองกันเถอะ
น้ำชาสุขภาพ ประโยชน์ขึ้นอยู่กับชนิดของสมุนไพรที่ใช้ ได้แก่ เถาวัลย์เปรียง เตยหอม เก็กฮวย รากบัว มะตูม ตะไคร้ ดอกคำฝอย โดยทั่วไปจะช่วยบำรุงสุขภาพ แก้จุกเสียด ช่วยเจริญอาหาร ขับปัสสาวะ บำรุงหัวใจ เป็นต้น นำมาต้มใช้ดื่มได้ตลอดวัน เลือกดื่มชาสมุนไพรที่มีสรรพคุณเหมาะกับภาวะสุขภาพ ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ใช้เยียวยาหรือบำบัดอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้

ไม่มีความคิดเห็น: