27 ก.ค. 2553

ไตรโคลซาน ภัยมืดที่ต้องเฝ้าระวัง



ไตรโคลซาน (Triclosan) คือสารสังเคราะห์ ที่มีประสิทธิภาพต้านเชื้อจุลินทรีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อแบคทีเรีย และยังสามารถต้านเชื้อราและไวรัสบางชนิดได้ดี ได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกาว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัย มีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลก

ไตรโคลซาน เป็นส่วนผสมสำคัญเพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์เกือบทุกชนิด ตั้งแต่ในโรงพยาบาล เช่น ผ้ากรอซทำความสะอาดคนไข้ก่อนการผ่าตัด ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำความสะอาดห้องคนป่วย สินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย สบู่อาบน้ำ สระผม ล้างหน้า ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ยาแก้เหงือกอักเสบ ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ ของเล่นเด็ก ผ้า และผ้าพลาสติก เป็นสารกันบูดในอาหาร
นอกจากนี้ยังเป็นตัวยาสำคัญในผลิตภัณฑ์แก้สิวหลายยี่ห้อ (ความเข้มข้น 0.2-1.0%) อีกด้วยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ปริมาณที่นิยมใส่ในผลิตภัณฑ์เพื่อทำหน้าที่เป็นสารกันเสียในการต้านเชื้อ จุลินทรีย์คือ สูงสุดไม่เกิน 0.3% สำหรับเครื่องสำอาง และในประเภทอาหารคือ 5 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม

ไตรโคลซาน : การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และปัญหาทางการแพทย์

ไตรโคลซาน ได้ถูกนำมาใช้เป็นเวลากว่า 35 ปี จำนวนสินค้าที่ใส่สารไตรโครซานทั้งของกินของใช้รวมถึงอุปกรณ์ที่ เกี่ยวข้องกับการแพทย์ในโรงพยาบาลมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องจากกระแสความกลัวการแพร่กระจายของเชื้อโรคในสิ่งแวดล้อมเป็นเหตุ ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้สังคมของโลกมนุษย์มีการผสมสารต้านเชื้อจุลินทรีย์ ดังกล่าวลงในผลิตภัณฑ์เกือบทุกชนิดก็ว่าได้

ความนิยมสารไตรโคลซานมากกว่าสารต้านจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ เนื่องมาจากประสิทธิภาพการต้านเชื้อจุลินทรีย์อย่างได้ผล และสารชนิดนี้ยังมีคุณสมบัติที่ดีคือมีความคงตัวในอุณหภูมิที่สูงถึง 200 °C (ชนิดอื่นๆ ประสิทธิภาพการต้านเชื้อมักจะถูกทำลายหรือด้อยลงในอุณหภูมิสูงมากกว่า 50°C) ทำให้สะดวกต่อการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมทุกชนิด ปริมาณไตรโคลซานที่ใช้เพิ่มขึ้นมากมายในโลก ทำให้นักวิชาการสิ่งแวดล้อมเป็นห่วงว่าทั้งในอากาศ น้ำเสีย อาจมีการปนเปื้อนสารดังกล่าวตกค้างสะสมได้

ส่วนนักวิชาการทางการแพทย์เป็นห่วงว่า การที่เราใช้สารต้านเชื้อจุลินทรีย์ชนิดนี้มากเกินไป จะก่อให้เกิดปัญหาทางการแพทย์ กล่าวคือ เชื้อโรคมีการพัฒนาสายพันธุ์และดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่ใช้สำหรับรักษาโรคติด เชื้อรุนแรง และในอนาคตหากเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ มนุษย์คงต้องหายาปฏิชีวนะที่เข้มข้นและแรงขึ้นในการต่อสู้กับเชื้อโรคที่นับวันจะดุและดื้อยามากขึ้น

จากงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ปี ค.ศ.2007 พบว่าไตรโครซานสามารถสลายตัวด้วยรังสีดวงอาทิตย์ทั้งในน้ำจืดและน้ำทะเล มีอายุสั้นเพียง 4-8 วันเท่านั้น ทำให้ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการสะสมของสารดังกล่าวในสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ส่วนปัญหาทางการแพทย์ที่พบว่าหากยังมีการใช้สินค้าที่ผสมสารต้านเชื้อจุลินทรีย์มากมายเช่นในปัจจุบัน จะทำให้การรักษาโรคติดเชื้อยากขึ้น นักวิชาการจึงแนะนำว่าเราไม่จำเป็นต้องล้างมือล้างหน้าอาบน้ำด้วยผลิตภัณฑ์ ต้านเชื้อจุลินทรีย์โดยไม่มีเหตุจำเป็น รวมถึงสินค้าอุปโภค เช่น น้ำยาซักผ้า เครื่องใช้ในครัวเรือนทั้งหลาย หากช่วยกันรณรงค์การงดเว้นสารต้านเชื้อจุลชีพได้ น่าจะดีกว่า แต่หันมาให้ความสำคัญกับการรักษาสุขลักษณะที่ดีมากกว่า

ไตรโคลซาน : ผลทางคลินิกของการสะสมในร่างกายของผู้บริโภค

ผลจากการวิจัยทางคลินิกล่าสุด (2006, มกราคม 2007)ในหญิงที่ให้นมบุตรและเป็นผู้บริโภคที่ใช้ผลิตภัณฑ์ผสมไตรโคลซาน พบปริมาณสารดังกล่าวในกระแสเลือดและในน้ำนมแม่ที่ให้นมบุตร

ไม่ต้องสงสัยว่าไตรโคลซานสามารถถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางกระเพาะอาหาร และทางผิวหนังได้และต่อเนื่องไปยังกระแสเลือดและน้ำนมที่ให้บุตรได้ แต่ปริมาณที่พบในกระแสเลือดของผู้เป็นแม่จะสูงกว่าในน้ำนม นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ได้ทำการวิจัยต่อเนื่องในสัตว์ทดลอง (หนู) เพื่อดูการสะสมและผลเสียที่อาจจะส่งต่อจากแม่สู่ลูกผ่านทางน้ำนมแม่ว่า จะส่งผลเสียสะสมถึง 2 ช่วงอายุคนหรือไม่ เนื่องจากปริมาณที่พบในน้ำนมมีน้อยมาก จึงไม่พบข้อบ่งชี้อย่างมีนัยสำคัญว่าจะทำให้ทารกที่ดื่มนมแม่มีความเสี่ยง ต่ออันตรายจากไตรโครซานถึง 2 ช่วงอายุคนได้ ซึ่งความหมายคือ ปลอดภัยต่อเด็กทารก อย่างไรก็ตามการวิจัยในเรื่องนี้จะยังเข้มข้นมากขึ้นเพื่อหาขอสรุปที่ชัดเจน ถึงความเสี่ยงที่จะใช้สารไตรโคลซานอย่างกว้างขวางเช่นในปัจจุบัน

ไตรโคลซาน : เป็นสารก่อมะเร็งหรือไม่

นักวิชาการที่ออกมารณรงค์ให้คณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา พิจารณาถอดถอนหรือควบคุมการใช้ไตรโคลซานอย่างเร่งด่วน ให้เหตุผลว่า ไตรโคลซานจะถูกย่อยสลายกลายเป็นสารไดออกซิน (Dioxin) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง โรคตับอักเสบ เมื่อได้รับการสัมผัสบ่อยๆ ทำให้เด็กทารกคลอดผิดปกติ (ไม่สมประกอบ) อาจมีผลทำให้ฮอร์โมนเพศผิดปกติ รวมทั้งอาจทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอและบกพร่องได้

นอกจากนี้สารไตรโคลซานที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ยาสีฟัน หรือ ครีมอาบน้ำ ล้างมือ เมื่อไตรโคลซานผสมกับคลอรีนในน้ำประปา จะให้ก๊าซคลอโรฟอร์ม ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่รู้จักกันดีอีกด้วย นักวิจัยที่ทำการวิจัยเรื่องดังกล่าวมีมากมาย แต่ยังพอสรุปได้ว่าปริมาณที่พบในสิ่งแวดล้อม และในร่างกาย มีน้อยมาก จนไม่มีนัยสำคัญทางการแพทย์ที่จะก่อให้เกิดผลเสียตามที่เป็นห่วงกัน

ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภค

ข้อมูลทั้งหมดผู้เขียนได้รวบรวมและสืบค้นจากบทความวิจัยทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือ ยังไม่พบข้อสรุปหรือการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดการใช้สารดังกล่าวจากสำนักงานคณะ กรรมการอาหารและยา ทั้งจากประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือ ไทย เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่มากเพียงพอที่จะสรุปว่า สารไตรโครซานเป็นอันตราย ต่อมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อม คาดว่ายังคงมีการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อหาข้อสรุปให้สังคม




ที่มา : มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค

ไม่มีความคิดเห็น: