27 ก.ค. 2553

ระยะอันตรายตรวจเจอไขมันพอกตับ


ภาวะไขมันพอกตับ ความผิดปกติของร่างกายที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ดื่มเหล้า หรือดื่มเพียงเล็กน้อย ในส่วนของการตรวจเพื่อให้ทราบปัญหาตับว่ากำลังถูกไขมันพอกอยู่หรือไม่

พญ.วิภากร ชูแสง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหารและตับ เปิดเผยไว้ในนิตยสารสุขภาพ Better Health ว่า สามารถทราบได้จากการตรวจเลือด ซึ่งจะแสดงค่าเอนไซม์ตับที่ผิดปกติ รวมทั้งระดับน้ำตาล และไขมัน แต่ผลการตรวจที่ออกมาในลักษณะดังกล่าว จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ และเจ็บตึงบริเวณชายโครงขวา

นอกจากนี้ยังสามารถตรวจได้จากการอัลตร้าซาวด์ ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และการเจาะชิ้นเนื้อตับไปตรวจ เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค

โดยภาวะไขมันพอกตับมีการดำเนินโรคค่อนข้างช้า แบ่งได้เป็น 4 ระยะ เริ่มจากระยะแรก คือ ระยะที่ไขมันเริ่มก่อตัวอยู่ในเนื้อตับ ไม่ทำให้เกิดผลกระทบใด ๆ เช่น การอักเสบของตับ หรือพังผืดในตับ

ระยะที่สอง เริ่มเกิดการอักเสบที่ตับ ถ้าไม่ควบคุมดูแลให้ดีปล่อยให้ตับอักเสบเกินกว่า 6 เดือน จะกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง

ขณะที่ระยะที่สาม การอักเสบของตับเริ่มรุนแรงขึ้น เกิดพังผืดในตับ เซลล์ตับจะค่อย ๆ ถูกทำลายลง ทั้งนี้ในระยะที่สองและสามของโรค ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการบ่งชี้ให้เห็นคือ ตัวเหลือง ตาเหลือง และมีน้ำในท้องมาก

หากโรคดำเนินไปถึงระยะที่สี่หรือระยะสุดท้าย เซลล์ตับจะเสียหายไปมาก อาจไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และความรู้สึกตัวลดลง เสี่ยงต่อการเกิดตับแข็ง และมะเร็งตับ

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในการรักษามุ่งลดไขมันสะสมและลดการอักเสบ(เฉพาะในรายที่มีอาการอักเสบร่วมด้วย) เพื่อหยุดยั้งการดำเนินโรคต่อไป ส่วนวิธีที่อาจช่วยให้รู้ทันโรคก่อนสาย คือ การตรวจสุขภาพประจำปีที่ไม่ควรละเลย


ที่มา : เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: