18 ก.ค. 2553

การแก้ปัญหา "ผมร่วง" ที่ผิดทาง?

ปัญหา "ผมร่วง" สามารถพบได้เกือบทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มสาวใหญ่และหนุ่มใหญ่ ที่บางคนแทบจะไม่เหลือเส้นผมบนศรีษะแล้ว แต่ยังพยายามหายาดีมากินและทา จนเสียเงินทองไปมากมายแต่ก็ไม่ได้ผล ทั้งหมดนี้เกิดจากความไม่เข้าใจในธรรมชาติร่างกายของมนุษย์นั่นเอง

ผมร่วงตามธรรมชาติ

วงจรชีวิตของเส้นผมมีอยู่ 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 "ระยะของการเติบโต" โดยเส้นผมที่งอกจากรากผมจะเจริญเติบโตประมาณ 1 เซนติเมตรต่อเดือนและจะสามารถคงอยู่บนหนังศรีษะได้นาน 3 - 7 ปีในคนที่มีสุขภาพปกติ จากนั้นจึงเข้าสู่ระยะที่ 2 "ระยะพักตัว" ซึ่งระยะนี้เส้นผมจะไม่เจริญเติบโตแล้วและรามผมยังหดฝ่อ ระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 3 - 4 สัปดาห์ ก่อนเข้าสู่ระยะสุดท้าย คือ "ระยะหลุดร่วง" โดยรากและเส้นผมจะหลุดร่วงออกจากหนังศรีษะ กินเวลาประมาณ 3 - 4 เดือน ในที่สุดร่างกายจะมีปัจจัยมากระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นผมใหม่ แทนที่หลุดร่วงไป โดยในคนที่มีสุขภาพปกติ เส้นผมบนศรีษะ 80 - 90 % จะอยู่ในระยะเติบโต ส่วนอีก 5 - 20 % จะอยู่ในระยะหลุดร่วง ส่วนระยะที่ 2 นั้นจะกินเวลาที่สั้นมาก

ดังนั้น ทุกคนจะมีผมร่วงทุกวัน ประมาณ 100 - 150 เส้นต่อวัน ซึ่งเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์พบว่าผู้หญิงจะมีเส้นผมที่ดกหนากว่าผู้ชาย

ความแตกต่างในวัยยังมีผลต่อการเจริญงอกงอมของเส้นผมอีกด้วย ในวัยเด็กและวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยเจริญพันธุ์ร่างกายมีฮอร์โมนเพศสูงสุด เซลล์ในร่างกายมีการแบ่งตัวเต็มที่ รากผมก็เช่นกัน จะมีรากผมใหม่เกิดทดแทนรากผมเก่าในทันที แต่เมื่อย่างเข้าสู่วัยกลางคนและชรา อัตราการเกิดของเซลล์รากผมใหม่จะน้อยกว่าอัตราที่รากผมตายไป ทำให้ดูเหมือนผมบางลงสวนทางกับอายุที่มากขึ้น

ดังนั้น หากเราเป็นคนวัยกลางคนหรือวัยชรา การมีผมบนศรีษะบางถือเป็นเรื่องปกติและไม่ควรพยายามไปหาซื้อยาหรือวิตามินมากินให้เสียดายเงิน

ผมร่วงแบบผิดปกติ

ผู้ที่มีเส้นผมร่วงมากจนผิดปกติ เกิดจากปัจจัยมากมาย ดังนี้

1.ผมร่วงชนิดชั่วคราว : สาเหตุเช่น มีความเครียดเป็นเวลานานๆ มักมีอาการผมร่วงตามมาแบบไม่รู้ตัว สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกวัย หรืออาจเกิดจากอาการป่วยหรือเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน หรือเกิดในเพศหญิงที่เพิ่งคลอดบุตร และในผู้ที่นิยมทานยาคุมกำเนิด เป็นต้น

การรักษา อาการผมร่วงชนิดนี้ ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาเพราะสามารถหายได้เอง

2.ผมร่วงจากกรรมพันธุ์ : เกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรมและระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอร์โรนในร่างกาย สามารถพบได้ทั้งในชายและหญิง แต่จะพบในชายมากกว่า

การรักษาสามารถแก้ได้ยากมาก แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะพยายามคิดค้นยาใหม่ๆ แต่พบว่าไม่ได้ผล แพทย์ผิวหนังจึงนิยมจ่ายยาเพื่อลดปริมาณของฮอร์โมนชนิดดังกล่าวในร่างกาย หรือจ่ายยาลดความดันโลหิต ซึ่งมีอาการข้างเคียง คือ การงอกของเส้นผมจะเป็นเพียงเส้นขนอ่อนและบางเท่านั้น หรือแม้แต่ยาในกลุ่มสเตรียรอยด์ ที่แพทย์บางคนนิยมจ่าย ก็ได้ผมยากมากแต่ที่แน่ๆ คือ จะได้รับอันตรายจากยาอันตรายเท่านี้แทน

องค์ประกอบเคมีของผลิตภัณฑ์บำรุงผม หรือป้องกันผมร่วง

มักประกอบด้วย
1.สารสำคัญในการกระตุ้นให้มีการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงรากผม เพื่อป้องกันผมร่วง เช่น วิตามินชนิดต่างๆ และสารสกัดจากสมุนไพร
2.สารอาหารในกลุ่มโปรตีน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้รากผมและเส้นผม
3.สารสำคัญ ที่มีประสิทธิภาพลดและควบคุมปริมาณไขมันของหนังศรีษะและลดอาการอักเสบของต่อมไขมัน
4.สารสำคัญในการควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์บนหนังศรีษะ

ข้อควรสังเกต

หากยาและผลิตภัณฑ์ป้องกันผมร่วงมีประสิทธิภาพสามารถแก้ผมร่วงได้จริง เราคงไม่เห็นคนหัวเถิกหรือหัวล้านในทุกประเทศทั่วโลก เพราะสาเหตุจากกรรมพันธุ์เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับความเป็นจริง ดังนั้น อาจสามารถแก้ไขปัญหาโดยการใส่วิก หรือถักผมลงบนศรีษะ ซึ่งจะปลอดภัยกว่าการพยายามหายาวิเศษ ที่เป็นอันตราย แต่ไร้ความหวังมาเป็นที่พึ่ง

*****************



ที่มา นิตยสาร "ฉลาดซื้อ" ฉบับที่ 99 เขียนโดย รศ.ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกุล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ไม่มีความคิดเห็น: