27 ก.ค. 2553

เตือน! เบาหวานเล่นงานไต


จากข้อมูลของศูนย์เบาหวานศิริราช ทำให้รู้ว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไตวายในประชากรไทย เกิดจากโรคเบาหวาน ประมาณร้อยละ 20 – 40 พบในเด็กที่เป็นเบาหวานประเภทที่ 1 และร้อยละ 5 – 16 พบในผู้ใหญ่ที่เป็นเบาหวานประเภทที่ 2 ซึ่งหากผู้ป่วยเบาหวานได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม จะสามารถลดหรือชะลออัตราการเกิดไตวายได้

อาการของผู้ป่วยไตวาย
1. บวม ปัสสาวะออกน้อย เนื่องจากขับเกลือและน้ำได้ไม่ดี
2. ของเสียคั่ง ทำให้เบื่ออาหาร
3. ซีด เหนื่อยเพลีย
4. กระดูกพรุน

ใครที่มีโอกาสเป็นโรคไตสูง
1. ทางกรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นเบาหวานและไตวาย อย่างไรก์ตามกรรมพันธุ์ไม่ได้มีผลสำคัญมากเท่าพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกาย
2. การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี อันเนื่องมาจากการกินเกินสมดุล โดยเฉพาะอาหารจั๊งค์ฟู้ด แป้งขัดขาว ไข่แดง น้ำมัน เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล ขนมขบเคี้ยวที่มีรสหวาน หรือรสเค็มจัด ควรหันมากินผักให้มากขึ้นและไม่ควรกินจุบกินจิบ
3. ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง จะเกิดภาวะเส้นเลือดตีบตัน และเป็นเบาหวาน ไตวายในที่สุด
4. การสูบบุหรี่

ระยะของโรค
ระยะที่ 1 ภายใน 1 – 3 ปีแรก
การทำงานของไตยังปกติ ขนาดของไตโตขึ้น
ระยะที่ 2 หลังจากเป็นเบาหวาน 2 -10 ปี
เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพของไต แต่หน้าที่ไตและปริมาณโปรตีนในปัสสาวะยังปกติ
ระยะที่ 3 หลังจากเป็นเบาหวาน 10 -15 ปี
มีโปรตีนอัลบูมินรั่วออกมาในปัสสาวะมากกว่าปกติ แต่ปริมาณยังไม่มากพอจะตรวจพบด้วยแผ่นตรวจปัสสาวะธรรมดา ระยะนี้การทำงานของไตยังอาจปกติ หรือเริ่มทำงานลดลงก็ได้
ระยะที่ 4 หลังจากเป็นเบาหวาน 15 - 25 ปี
เป็นระยะที่โปรตีนอัลบูมินรั่วออกมาในปัสสาวะมากพอจะตรวจพบด้วยแผ่นตรวจปัสสาวะธรรมดา ระยะนี้โปรตีนในปัสสาวะของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนการทำงานของไตจะเสื่อมลงช้า ๆ ตามลำดับ
ระยะที่ 5 ไตวาย
หลังจากเป็นเบาหวาน 20 - 35 ปี
ตรวจเบื้องต้นอย่างไรถึงรู้ว่ามีภาวะแทรกซ้อนทางไต การตรวจที่วินิจฉัยเร็วที่สุดว่าผู้ป่วยมีปัญหาทางไตแล้ว คือ การตรวจอัลบูมินขนาดน้อย ๆ ที่ เรียกว่า microalbuminuria โดยตรวจโปรตีนด้วยแถบปัสสาวะธรรมดา แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
1. ผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 ควรตรวจครั้งแรกหลังจากทราบว่าเป็นเบาหวานอย่างน้อย 5 ปี
2. ผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 ควรตรวจโปรตีนในปัสสาวะอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
การตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ไตกำลังมีปัญหา ซึ่งถ้าทราบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
การแก้ไขโดยการควบคุมระดับน้ำตาลและการให้ยาบางชนิด (ยากลุ่ม ACE inhibitors) จะช่วยชะลอการเสื่อมของไตได้

ป้องกันและรักษาโรคไตอย่างไร
1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ ติดตามการรักษาสม่ำเสมอ
2. ตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะเป็นระยะ และให้การรักษาเมื่อพบความผิดปกติ
3. ควบคุมความดันโลหิตให้น้อยกว่า 130/80 มม.ปรอท
4. หยุดสูบบุหรี่
5. จำกัดโปรตีนในอาหารสำหรับผู้ที่มีการทำงานของไตผิดปกติ
6. ระวังรักษาภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ

การปฏิบัติตัวเพื่อชะลอการเกิดไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
1. จำกัดอาหารเค็ม
2. ควบคุมความดันโลหิต
3. กินอาหารที่มีโปรตีนต่ำ เพื่อไม่ให้ระดับของเสียในเลือดเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มผักผลไม้ต่าง ๆ
4. ลดกินอาหารที่มีฟอสเฟตสูง เพื่อลดการเกิดตะกอนหินปูนที่ไต เช่น เนื้อสัตว์ ไข่แดง นม และเมล็ดธัญพืชต่างๆ ได้แก่ เต้าหู้ นมถั่วเหลือง

เตรียมตัวเมื่อต้องเดินทาง
1. พกบัตรประจำตัวที่แสดงว่าตนเป็นเบาหวาน เนื่องจากถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น น้ำตาลต่ำ ผู้พบเห็นจะได้สามารถช่วยเหลือได้ถูกต้อง
2. เตรียมยากิน หรือ ยาฉีดอินซูลินและอุปกรณ์การฉีดยา หรืออุปกรณ์การตรวจเลือด ปัสสาวะ ให้พร้อมและเก็บไว้ในที่ที่หยิบได้ง่าย
3. พกอาหารติดตัวเสมอ เช่น ผลไม้ แครกเกอร์ น้ำผลไม้ นม
4. หลีกเลี่ยงการเก็บอินซูลินไว้ในที่อากาศร้อน เช่น ท้ายรถ เพราะอาจทำให้อินซูลินเสื่อมได้
5. ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีพอ ไม่ควรเดินทาง หรือถ้าจำเป็นควรปรึกษาแพทย์
คนเรามีสิทธิ์เลือกที่จะทำอะไรในชีวิต ว่าแต่คุณเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าหรือไม่

เพื่อหญิงไทยห่างไกลโรคมะเร็ง
ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมงาน “เพื่อเธอ หญิงไทย ห่างไกลมะเร็งปากมดลูก” เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ซึ่งงานนี้จะได้รับความรู้เรื่องภัยร้าย... ที่ไม่ไกลตัวของผู้หญิงและการป้องกันตนเองจากมะเร็งปากมดลูก โดยมีผู้ร่วมเสวนา เช่น การ์ตูน-อินทิรา เกตุวรสุนทร เจี๊ยบ-เยาวลักษณ์ ไตรสุรัตน์ มิสไทยแลนด์เวิล์ด ปี 2546 พร้อมนิทรรศการ และกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ การประกวดภาพถ่าย ประกวดร้องเพลงคาราโอเกะ กิจกรรมเกมส์ Walk Rally และการจำหน่ายสินค้าราคาประหยัดในวันที่ 24 -26 ตุลาคม 2550 เวลา 10.00 – 14.00 น. ณ อาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ รพ.ศิริราช สอบถามเพิ่มเติม ได้ที่ 0 2419 7000 ต่อ 4636

ที่มา : ศูนย์เบาหวานศิริราช

ไม่มีความคิดเห็น: