27 ก.ค. 2553

นวดจัดกระดูกแบบไคโรแพรกติก


การรักษาโรคทางกระดูกในปัจจุบันนอกจากการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อแล้ว ยังมีศาตร์ในแพทย์ทางเลือกอีกวิธีหนึ่งก็คือการรักษาแบบไคโรแพรกติก ที่อาจจะพอเป็นตัวช่วยสำหรับผู้ป่วยกระดูกและข้อ ให้อาการพอทุเลาลงได้บ้าง


ไคโรแพรกติกมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก แปลว่าการรักษาด้วยมือซึ่งเป็นการแพทย์ของกรีกที่มีประวัติยาวนานร่วมสองพันปี อย่างไรก็ตามศาสตร์นี้ถูกค้นพบมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1895 โดย ดร.แดเนียล เดวิด ปาล์มเมอร์ ชาวแคนาดาซึ่งให้ความสนใจเรื่องกระดูก การทำงานของร่างกายและสามารถรักษาผู้ที่เป็นโรคหูหนวกมานานสำเร็จด้วยการใช้มือนวดและจัดกระดูกสันหลัง

สำหรับไคโรแพรกติกก็ไม่เชิงเป็นการรักษาโรคกระดูกอย่างที่หลายคนเข้าใจเสียทีเดียว หากแต่เป็นการรักษาเส้นประสาทที่มีอยู่มากมายในกระดูก ระหว่างข้อกระดูก ซึ่งการรักษาเส้นประสาทเหล่านี้จำเป็นจะต้องรักษาด้วยการจัดกระดูก จึงเป็นที่มาของคำว่า นวดจัดกระดูก ในความเข้าใจของคนไทยนั่นเอง

การรักษาแบบไคโรแพรกติกจะไม่มีการใช้ยา ใช้เข็ม หรือการผ่าตัดแต่อย่างใด แต่ใช้วิธีการรักษาด้วยมือแทน ซึ่งโดยปกติไคโรแพรกติกทำการรักษาความผิดปกติของโครงสร้างและการเคลื่อนไหวของร่างกายหรือการคลาดเคลื่อนจากตำแหน่งปกติของข้อกระดูกสันหลัง ด้วยการใช้มือจัดข้อกระดูกสันหลังและกระดูกเชิงกรานจากตำแหน่งที่ผิดปกติให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติเพื่อทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นปกติ รวมไปถึงการทำงานของระบบประสาท โดยมุ่งเน้นความสำคัญไปที่ 4 ส่วนใหญ่ๆของร่างกายได้แก่กระดูกสันหลัง ระบบประสาท โครงสร้างของร่างกาย โภชนาการด้านอาหารและวิตามิน

โรคที่ผู้ป่วยมักเข้ารับรักษาอาการแบบไคโรแพรกติกส่วนใหญ่จะเป็นอาการเกี่ยวกับการปวดหลัง ปวดศรีษะ ไมเกรน ปวดแขน ชาตามแขนขา หมอนรองกระดูกเคลื่อน ตลอดจนอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุต่างๆ อีกทั้งในผู้ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ยังพบว่าศาสาตร์แห่งการนวดจัดกระดูกก็สามารถรักษาได้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามหมอนวดกระดูกหรือไคโรแพรกเตอร์ในเมืองไทยยังมีอยู่น้อยมาก อาศัยการบอกเล่าแบบปากต่อปากเสียมากกว่า และไม่ถือเป็นสาขาหนึ่งของการแพทย์แผนปัจจุบันด้วย ดังนั้นจึงไม่มีใบประกอบโรคศิลป์ในการรักษาคนไข้ หากผู้ป่วยต้องการรักษาด้วยการนวดจัดกระดูกนี้จริงๆก็คงได้ใช้ดุลพินิจใคร่ครวญอย่างละเอียดและต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแพทย์ทางเลือกแขนงนี้เสียก่อน เพราะถึงแม้ในต่างประเทศเช่นในสหรัฐอเมริกาจะให้การยอมรับแต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะได้ผลกับผู้ป่วยทุกราย


ที่มา : รัชนก อมรรักษากุล

ไม่มีความคิดเห็น: