27 ก.ค. 2553

บาดทะยัก กล้ามเนื้อเกร็ง อ้าปากไม่ได้


แม้โรคบาดทะยักจะมีวัคซีนป้องกัน แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังพบผู้ป่วยอยู่เรื่อยๆ และมีแนวโน้มว่าจะพบในผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่า ในผู้ป่วยบางราย เพียงแค่โดนเข่งบาดมือ ก็เป็นโรคบาดทะยักได้

ผศ.น.พ.สุพจน์ ตุลยาเดชานนท์ หน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี อธิบายว่า บาดทะยักเป็นโรคติดเชื้อ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในดิน ในสิ่งแวดล้อม ชื่อ คลอสทริเดียม เตตตาไน (Clostridium tetani) เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล โดยเฉพาะบาดแผลที่เจาะลึกเข้าไปในผิวหนัง เช่น ตะปูตำ เสี้ยนไม้ตำ นอกจากนี้อาจพบการติดเชื้อในคนไข้ทำแท้งเถื่อนที่ใช้เครื่องมือไม่สะอาด รวมถึงคนที่ฉีดยาเสพติด โดยการใช้เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด

เมื่อเชื้อบาดทะยักเข้าไปในบาดแผลแล้วจะสร้างสารพิษท็อกซิน ซึ่งสารพิษดังกล่าวจะไปจับกับเส้นประสาท เชื้อจะลามไปตามเส้นประสาท สู่ไขสันหลัง และอาจไปถึงก้านสมองบางส่วน ประมาณ 3 วันถึง 3 สัปดาห์คนไข้จะแสดงอาการ โดยเฉลี่ยประมาณ 1 สัปดาห์

โรคบาดทะยักยิ่งเกิดอาการเร็วก็ยิ่งน่ากลัว เริ่มแรกคนไข้จะมีอาการปวด คล้ายปวดกล้ามเนื้อ จากนั้นจะเริ่มมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายเป็นระยะๆ อ้าปากไม่ได้ คอเกร็ง หลังเกร็ง หรือบางคนอาจมีอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น เหงื่อแตก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ บางคนเกร็งรุนแรงจนกล้ามเนื้อสลายตัว หรือจนถึงขั้นกระดูกหักก็มี

การเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่ช่วยหายใจ ทำให้หายใจไม่ได้ และอาจทำให้คนไข้เสียชีวิตได้ โดยคนไข้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเพราะติดเชื้อแทรกซ้อน หรือบางคนมีระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ แต่ถ้าคนไข้ได้รับการดูแลรักษาอย่างดี มาพบแพทย์ทันเวลา 70-80% ก็สามารถหายเป็นปกติได้ แต่มีส่วนหนึ่งที่เสียชีวิตทั้งที่แพทย์รักษาจนสุดความสามารถแล้ว

การรักษาจะให้ยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการเกร็ง ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อที่แผล รวมทั้งให้วัคซีนให้ภูมิคุ้มกัน เพราะเมื่อเชื้อบาดทะยักเข้าไปในเส้นประสาทแล้ว คนไข้คงสร้างภูมิคุ้มกันเองไม่ทัน ต้องเอาภูมิคุ้มกันที่สร้างแล้ว มาฉีดให้คนไข้ ขณะเดียวกันก็นำวัคซีนบาดทะยักที่ฉีดให้กับคนไข้ทั่วไปมาฉีดพร้อมกันด้วย เพื่อกระตุ้นให้เขาสร้างภูมิคุ้มกันเอง จะเป็นวิธีช่วยผ่อนหนักเป็นเบา ซึ่งในคนไข้บางรายอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย โดยคนไข้บาดทะยักต้องใช้เวลาในการดูแลรักษาประมาณ 1 เดือนอาการจะดีขึ้น และหายเป็นปกติได้

การป้องกันไม่ให้เป็นแผลคงยาก ดังนั้น ถ้าเข้าไปในสิ่งแวดล้อมที่สกปรก ก็ควรระมัดระวังไม่ให้มีบาดแผล หรือไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปในแผล หรือในกรณีที่เป็นแผลขึ้นมา ควรล้างแผลให้สะอาด พบแพทย์เพื่อรับการดูแลบาดแผล รับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม และถ้าแพทย์ดูแผลแล้ว เห็นว่ามีโอกาสที่จะเกิดโรคบาดทะยัก จะให้วัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน หรือถ้าดูแล้วแผลน่ากลัวอาจจะเป็นโรคบาดทะยักอาจให้ทั้งวัคซีนและภูมิคุ้มกันทั้ง 2 อย่าง


ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: