23 พ.ย. 2550

10 กลโกงทางเน็ต

1. การหลอกลวงให้ประมูลสินค้าทางอินเตอร์เน็ต การหลอกลวงจากการจัดการประมูล มีหลายรูปแบบ เช่น
- ผู้ขายไม่ส่งมอบสินค้าที่ผู้ซื้อประมูลได้ เพราะไม่มีสินค้าอยู่จริง
- การหลอกลวงโดยการปั่นราคาซื้อขาย ผู้ขายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ขายจะเข้าเสนอราคา เพื่อประมูลสินค้าของตน เพื่อให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น ทำให้ผู้ซื้อต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงเกินจริง

2.การให้บริการอินเทอร์เน็ตโดยหลอกลวง ผู้หลอกลวงจะส่งเช็คจำนวนหนึ่ง (เช่นราว 3.5 ดอลลาร์สหรัฐ) ให้แก่ผู้ใช้บริการเมื่อมีการเบิกเงินตามเช็คแล้ว ถือว่าผู้บริโภคตกลงที่จะใช้บริการของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider - ISP) โดยไม่แจ้งค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใดๆ โดย ผู้หลอกลวงจงใจให้ผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการเกิดความสับสน และเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการบริการ กล่าวคือ เมื่อผู้บริโภคเข้าทำสัญญาดังกล่าวแล้ว จะถือว่ายินยอมตามเงื่อนไขทุกประการที่ระบุไว้ โดย บริโภคถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการต่างๆ จากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ ยังอาจจะมีคำขู่ที่กล่าวว่าถ้าหากผู้ใช้บริการต้องการเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดสัญญาจะถูกปรับเป็นจำนวนเงินที่สูง

3. การใช้บัตรเครดิตโดยไม่ได้รับอนุญาต มีหลายวิธี ตัวอย่างเช่น การให้บริการ ดูภาพลามกอนาจารโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป (ตามกฎหมายสหรัฐอเมริกา) แต่ผู้บริโภคต้องแจ้งข้อมูลบัตรเครดิตให้ผู้ให้บริการทราบเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล แล้วผู้หลอกลวงใช้ข้อมูลนี้ไปกระทำผิดในที่อื่น ซึ่งผู้ถือบัตรที่เป็นผู้บริโภคถูกเรียกเก็บเงินค่าสินค้าหรือบริการจากบริษัทหรือธนาคารของผู้ออกบัตร ทั้งที่ผู้ถือบัตรไม่ได้ใช้บัตรเครดิตชำระรายการนั้นๆ เลย

4.การเข้าควบคุมการใช้โมเดมจากบุคคลอื่น ผ่านการโฆษณาการให้บริการชมภาพลามกอนาจาร โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ผู้ใช้บริการจะต้องติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อดูภาพดังกล่าว หรือเรียกว่า "Viewer" หรือ "Dialer" ของผู้ให้บริการ เมื่อผู้ใช้บริการเปิดดูภาพด้วยโปรแกรมข้างต้นแล้ว โปรแกรมจะควบคุมการทำงานของเครื่องโมเดม และสั่งให้หยุดการทำงานโดยที่ผู้ใช้บริการไม่รู้ตัว แล้วจะสั่งให้มีการต่อเชื่อมผ่านโมเดมอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นการใช้โทรศัพท์ทางไกลจากที่ใดที่หนึ่ง แล้วมีการใช้อินเทอร์เน็ตอีกครั้งจากที่แห่งนั้น เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถดูเวบไซต์ ผู้ใช้บริการจะถูกเรียกเก็บเงินค่าโทรศัพท์ทางไกลจำนวนมาก ทั้งที่ผู้ใช้บริการอาจจะไม่ได้ตั้งใจหรือรับรู้ ซึ่งอาจเป็นเพราะมีบุคคลอื่นลักลอบใช้โทรศัพท์โดยอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าว

5. การหลอกลวงให้ใช้บริการเกี่ยวกับเวบไซต์ การหลอกลวงว่ามีการให้บริการเปิดเวบเพจ (Web Page) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เมื่อมีการตกลงใช้บริการดังกล่าวแล้ว ผู้ใช้บริการจะถูกเรียกเก็บเงินค่าใช้บริการโทรศัพท์ หรือค่าใช้บริการในการมีเวบเพจ (ค่าธรรมเนียมการใช้พื้นที่) เป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ตนไม่เคยใช้บริการหรือไม่ได้สมัครแต่อย่างใด ผู้ใช้บริการยังไม่สามารถแจ้งให้ผู้ให้บริการยกเลิกได้ทันทีอีกด้วย

6.การหลอกลวงโดยใช้การตลาด หรือการขายแบบตรง โดยอาจมีการชักชวนให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมเป็นสมาชิกในเครือข่ายธุรกิจ โดยการกล่าวอ้างว่าผู้ขายจะได้รับสิทธิในการจำหน่ายสินค้าหลายชนิด และได้รับผลประโยชน์จากการขายสินค้า หรือชักชวนบุคคลอื่นเข้ามาเป็นตัวแทนขายตรง เป็นทอดๆ ผู้บริโภคที่เข้าร่วมเครือข่ายจะต้องชำระค่าสมาชิกจำนวนหนึ่ง แต่จะไม่มีรายได้ประจำแต่อย่างใด รายได้ของผู้บริโภคจึงไม่แน่นอน และมักจะไม่ได้รับผลประโยชน์ตามที่ผู้หลอกลวงกล่าวอ้าง

7.การหลอกเสนอให้เงินจากประเทศไนจีเรีย ใช้อินเทอร์เน็ตจะได้รับE-Mail จากบุคคลที่กล่าวอ้างว่ามีความสำคัญในประเทศไนจีเรีย เพื่อขอความช่วยเหลือในการโอนเงินจำนวนมากไปต่างประเทศ ข้อความใน อีเมล์มีเนื้อหาทำนองว่า ประชาชนในประเทศไนจีเรียไม่สามารถเปิดบัญชีเงินฝากในต่างประเทศ หรือโอนเงินออกนอกประเทศที่มีมูลค่าราว 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้ หรือรัฐบาลไนจีเรียต้องการทำธุรกิจกับชาวต่างชาติ จึงต้องการความช่วยเหลือจากชาวต่างชาติในการเปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันที่เบิกด้วยเช็ค

ซึ่งท่านจะได้รับค่าตอบแทนหรือค่านายหน้า ผู้บริโภคเพียงแต่แจ้งรายละเอียดของบัญชีเงินฝากของตน และกรอกเอกสารพร้อมทั้งลงลายมือชื่อของเจ้าของบัญชีเท่านั้น เมื่อมีการแจ้งข้อมูลบัญชีเงินฝากแล้ว ผู้บริโภคจะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตลอดเวลา โดยให้ผู้บริโภคโอนเงินเข้าบัญชีที่แจ้งไว้ ผู้ที่หลอกลวงสามารถเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวได้โดยอ้างเอกสารมอบอำนาจของเจ้าของบัญชี แต่การโอนเงินลักษณะนี้อาจไม่สามารถทำได้ในประเทศไทย เว้นแต่จะเป็นการโอนเงินระหว่างบัญชีของธนาคารเดียวกันทางอินเทอร์เน็ต

8.การหลอกลวงให้ประกอบธุรกิจที่บ้าน (Work-At-Home) บริษัทที่หลอกลวงจะเชิญชวนให้ผู้ต้องการประกอบธุรกิจทางอินเทอร์เน็ต หรือธุรกิจด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) สมัครเป็นสมาชิกเพื่อทำธุรกิจ โดยผู้บริโภคมีเพียงเครื่องคอมพิวเตอร์ และสามารถใช้อินเทอร์เน็ตจากที่บ้าน และมักอ้างว่าธุรกิจประเภทนี้เป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผู้บริโภคจะไม่ได้รับคำแนะนำในการทำธุรกิจ ไม่มีข้อมูลธุรกิจที่ชัดเจนหรือไม่ทราบว่าตนอาจไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ เลย ผู้ถูกหลอกลวงจะถูกกำหนดให้ชำระเงินค่าสมาชิกหรือซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อเริ่มทำธุรกิจ โดยผู้ลงทุนจะไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนตามที่มีการกล่าวอ้าง และอาจต้องสูญเสียเงินจากการลงทุนอีกด้วย

9. การหลอกให้จดทะเบียนโดเมนเนม ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจทางอินเทอร์เน็ตที่ต้องการมีเวบไซต์ และโดเมนเนมของตนเอง จะได้รับการเสนอแนะว่า ท่านสามารถได้รับสิทธิในการจดทะเบียนโดเมนเนมในระดับบนประเภทที่เรียกว่า "Generic Top-Level Domain" หรือ gTLD ได้แก่ .com, .org, .net, .int, .edu, .gov, .mil, .aero, .biz, .coop, .info, .museum, .name, and .pr) ก่อนบุคคลอื่น และถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจองโดเมนเนมที่ต้องการ ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีการให้บริการในลักษณะดังกล่าว

10.การโฆษณาหรือขายยามหัศจรรย์ การโฆษณาหรือขายยาทางอินเทอร์เน็ตที่อ้างสรรพคุณว่าสามารถรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง, โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV/Aids), โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ สามารถบรรเทาความเจ็บป่วยได้ภายในระยะเวลาอันสั้น และมักอ้างว่ายาเหล่านี้ได้รับการรับรองหรือการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้ว ผู้ป่วยที่ซื้อยาดังกล่าวโดยเชื่อว่าสามารถรักษาความเจ็บป่วยได้ อาจต้องสูญเสียเงิน หรือโอกาสในการได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังอาจได้รับอันตรายจากการใช้ยาเหล่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: