27 พ.ย. 2550

ทฤษฎีคนฉลาดทั้งเจ็ด - Theory of Multiple Intelligences (MIQ)

มื่อสักปีหรือสองปีก่อนนี่แหละ หลังจากผมดูรายการหนึ่งทางช่อง 5 จบแล้ว ก็กลับมาหน้าจอคอมคุย MSN ต่อกับน้องๆ Series Club ผมถามน้อง Pat ว่าได้ดูรายการนี้หรือเปล่า ? เอาใครมาแข่งรายการน่ะ ไม่รู้จักเลย (รายการนี้ไม่เคยมีผู้แข่งขันจากทางบ้าน จะเชิญแต่คนมีชื่อเสียงเท่านั้น) เป็นชายหนุ่ม 3 คน อายุอานามก็คงไม่มากไปกว่าผม จะว่าดาราก็ไม่น่าใช่ เพราะเราต้องรู้จักหรือผ่านตามั่งสิ จะว่านายแบบยิ่งไม่ใช่ เพราะหน้าตาไม่ได้ดีเลย จะว่าไฮโซ ? ก็ไม่สมควร เพราะดูการแต่งตัวแล้วไม่ใช่แน่ๆ

ที่ผมสงสัยอยากรู้ก็ด้วยผมดูแล้วรู้สึกว่า พูดจาก็ไม่ฉลาด หน้าตาก็ไม่ดี แล้วมันเป็นใครกันหว่า ? ที่ติดใจก็ตรงมันพูดจาไม่ค่อยฉลาดนี่แหละ เพราะมันทำให้เกมดูน่าเบื่อมากเลย และผมก็บ่นกระแปดๆไปอีกเป็นชุด

บังเอิญว่าผมจำชื่อหนึ่งในสามคนนั้นได้ เลยบอกน้อง Pat ไป (ผมขอสงวนชื่อนายคนนั้นและรายการเอาไว้นะครับ เพราะถ้าบอกไปเดี๋ยวจะมีเรื่องกับคนที่ชื่นชมพ่อหนุ่มทั้ง 3 นั่น)

และก็บังเอิญที่น้อง Pat รู้จักพอดี ทำให้ผมได้ถึงบางอ้อว่า เขาคือนักกีฬาระดับทีมชาติประเภทหนึ่ง

พอรู้เท่านั้นแหละ ผมรู้สึกเสียใจทันทีที่ได้พูดจาดูถูกผู้มีความสามารถยอดเยี่ยมที่ทำชื่อเสียงให­้แก่ประเทศชาติ จนหลั่ง(พิมพ์) คำขอขมาต่อเขาเหล่านั้นเป็นชุดๆ มากชุดกว่าที่ได้ดูถูกเขาไปเสียอีก

แล้วผมก็คุยกับน้อง Pat ต่อว่า ความจริงแล้ว จะไปเรียกพวกเขาเหล่านั้นว่าเป็นคนไม่ฉลาดไม่ได้ดอกนะ ผมเริ่มนึกไปถึงทฤษฎีที่นักจิตวิทยาชาวอเมริกันชื่อ ฮาวาร์ด การ์ดเนอร์ ที่ได้เสนอความคิดว่าคนฉลาดนั้นมีอยู่เจ็ดประเภท ซึ่งผมได้เคยอ่านมาจากคอลัมภ์คุยกับประภาสเมื่อนานมาแล้ว

อีตาการ์ดเนอร์คนนี้ แกจำแนกความฉลาดของมนุษย์เป็นเจ็ดอย่างครับ ซึ่งก็คือทฤษฎีคนฉลาดทั้งเจ็ดที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟังเดี๋ยวนี้ครับ

ความฉลาดประเภทแรกเรียกว่า Logical & Mathematical Intelligence หรือความฉลาดด้านตรรกะและคณิตศาสตร์
ความฉลาดประเภทนี้คือความฉลาดแบบที่คนส่วนใหญ่เข้าใจและเรียกเขาเป็นคนฉลาด เก่งวิทยาศาสตร์และเลข มีเหตุมีผล เข้าใจทุกสรรพสิ่งด้วยตรรกะ คนฉลาดแบบนี้ถ้าสมัยโบราณก็จะถูกเรียกว่าเป็นนักปราชญ์

มาถึงความฉลาดแบบที่สอง Linguistic Intelligence หรือความฉลาดทางด้านภาษา
เคยเจอกันไหมครับ คนบางคนเป็นถึงสามสี่ภาษา และยังมีความสามารถที่จะเข้าใจในหลักภาษาถึงแก่นได้อย่างง่ายๆ นอกจากนั้นยังเป็นคนที่ใช้ภาษาเก่งมาก ทั้งพูดอ่านเขียน

ความฉลาดอย่างที่สาม Spatial Intelligence หรือความฉลาดทางด้านมิติ
เคยเจอช่างก่อสร้างเก่งๆไหมครับ ไม่ว่าช่างไม้หรือช่างปูน บางคนมองปราดเดียวก็บอกเราได้เลยว่าต้องใช้ไม่ใช้อิฐเท่าไหร่ ต้องก่อต้องต่อมาในลักษณะไหน เลื่อยไม้ได้อย่างแม่นยำแทบไม่ต้องวัด พื้นที่แสนจะยากสักแค่ไหนพี่แกก็จัดการได้ไม่มีที่ติ เหมือนว่าเขาเห็นภาพสำเร็จออกมาในหัวสมองได้ทันที ยังรวมไปถึงจิตรกร ปฎิมากร ที่ใช้จินตนาการสร้างสรรค์มิติรูปร่างออกมาได้อย่างมหัศจรรย์เหลือเชื่อ คนเหล่านี้ล้วนมีความฉลาดด้านมิติเป็นอย่างสูง

ความฉลาดอย่างที่สี่ Bodily Intelligence หรือความฉลาดทางด้านร่างกาย
ความสามารถในการควบคุมร่างกายนี่ก็ถือเป็นความฉลาดอย่างหนึ่งนะครับ สังเกตไหมครับว่าคนบางคนเนี่ย จะเล่ากีฬาอะไรก็ดูจะเก่งไปเสียทุกอย่าง ตัวอย่างที่เห็นชัดๆก็อย่างเช่นพ่อไมเคิล จอร์แดน ทั้งบาสเกตบอล เบสบอล กอล์ฟ ทำไมพี่แกเก่งไปเสียหมด หรือขวัญใจชาวไทยอย่างพี่ระ เขาทราย กาแล็กซี่ ที่บนเวทีมวยไม่มีใครเลยล้มเขาได้ นอกจากนั้นยังเก่งกีฬาอีกตั้งหลายอย่าง มาดูกีฬาโปรดของผมหน่อยดีกว่า สนุกเกอร์ครับ คนที่เล่นและเข้าใจสนุกเกอร์จะทราบดีเลยว่า เป็นกีฬาที่ต้องใช้ศิลปะในการบังคับร่างกายสูงมาก ผมถึงได้แสนจะหลงใหลไม่ว่าจะเป็น จอร์น ฮิกกิ้น รอนนี่ โอซุลิแวน สตีเฟ่น เฮนรี่ มาร์ก เจ วิลเลี่ยม หรือ พี่ต๋อง วัฒนา ภูโอบอ้อม ล้วนแต่สุดยอดทั้งนั้น นอกจากนักกีฬาแล้วผมว่าพวกนักเต้นทั้งหลายนี่ก็ใช่ นักประดิษฐ์ นักแกะสลัก ที่ใช้มือเก่งนี่ก็รวมอยู่ในความฉลาดประเภทนี้ด้วย

มาถึงความฉลาดประเภทที่ห้ากันครับ Musical Intelligence ความฉลาดด้านดนตรี
ผมเห็นคนบางคนเหมือนมันจะมีประสาทสัมผัสทางดนตรีสูงมาตั้งแต่เกิดก็ว่าได้ ไม่ว่าจะโน้ต คีย์ จังหวะ มันช่างแม่นยำเหลือเกิน ทั้งๆที่บางคนก็ไม่ได้ร่ำเรียนดนตรีสู่งส่งมาจากไหนด้วยซ้ำ แต่โน้ตไหนเพี้ยน จังหวะไม่ตรง มันฟังออกหมดเลย ตอนนี้ผมกำลังนึกถึงเพื่อนผมคนหนึ่ง ชื่ออีตา พัชร เวลาผมดูมันเล่นดนตรีไม่ว่าชิ้นใด ผมมีความรู้สึกว่ามันเล่นได้เหมือนกับจังหวะดนตรีอยู่ในชีพจรของมันเลยล่ะ ไม่ว่าจะตั้งใจเล่นหรือไม่ตั้งใจเล่น ดูมันลงตัวไปหมด

และความฉลาดต่อไปคือประเภทที่หก Interpersonal Intelligence หรือความฉลาดด้านมนุษยสัมพันธ์
คนที่มีความฉลาดด้านนี้ อยู่ที่ไหนใครก็ชอบใครก็รัก ดูเหมือนเขาจะเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นได้เป็นอย่างดี และยังรู้ถึงความเหมาะเจาะของสัมพันธภาพของมนุษย์

และก็มาถึงความฉลาดประเภทที่เจ็ดซึ่งเป็นอย่างสุดท้าย Intrapersonal Intelligence หรือความฉลาดในด้านเข้าใจตนเอง
จะมีอะไรดีไปกว่า การรู้จักและเข้าใจตนเอง รู้ความปรารถนาและอารมณ์ของตนเองเป็นอย่างดี แต่ส่งที่สำคัญนั่นคือรู้ด้วยว่าจะสามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองในเวลานั้นๆได­้อย่างไร ความฉลาดแบบนี้บางทีเขาก็เรียกกันว่า EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์นั่นเอง

ทำความรู้จักกับความฉลาดทั้งเจ็ดแล้วเป็นยังไงบ้างครับ ลองมองตัวเองและคนอื่นๆดูบ้างก็ได้นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น: