22 พ.ย. 2550

7 สัญลักษณ์คู่กรุงเทพฯ

วัดพระแก้ว สัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ
สิ่งแรกที่น่าจะถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ ก็คือ
"วัดพระแก้ว"
หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สถานที่ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกแทบทุกคนที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยจะต้องแวะเวียนมาเยี่ยมชม ซึ่งตามความเห็นของฉันแล้ว วัดพระแก้วของเราก็มีคุณค่าควรแก่การชมเป็นอย่างยิ่งเสียด้วยสิ ในเรื่องของประวัติศาสตร์ วัดพระแก้วถือเป็นจุดสำคัญ เพราะเป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวัง สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยฝีมือของสุดยอดช่างในสมัยนั้น

ดังนั้นวัดพระแก้วจึงโดดเด่นไปด้วยสถาปัตยกรรมไทยสุดอลังการ และที่นี่ยังเป็นที่ประดิษฐาน "พระแก้วมรกต" ซึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์กลางของวัดพระแก้วแล้ว ก็ยังถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทยอีกองค์หนึ่งด้วย อีกทั้งยักษ์วัดพระแก้วก็ยังเป็นจุดดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวได้เสมอ ความงดงามของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ทำให้ผู้ที่ได้มาเยือนทั้งชาวไทยและต่างชาติต่างก็ต้องอึ้ง ทึ่ง ตื่นตาตื่นใจกันไปทั้งสิ้น สถานที่ถัดมาก็คือ
"พระปรางค์วัดอรุณ"
ที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง เพราะได้ไปอยู่ในโลโก้ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอีกต่างหาก ความโดดเด่นของวัดอรุณฯ อยู่ที่พระปรางค์องค์ใหญ่โตเป็นสง่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี พระปรางค์องค์ที่เห็นในปัจจุบันนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์อย่างในปัจจุบันเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 มีความสูงถึงประมาณ 67 เมตรด้วยกัน น่าทึ่งที่เทคโนโลยีในสมัยนั้นสามารถสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โตบนดินอ่อนๆ ริมแม่น้ำได้โดยที่ยังมั่นคงแข็งแรงมาจนถึงปัจจุบัน
วัดแห่งนี้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงมีพระบรมรูปของพระองค์ตั้งอยู่ภายในวัดนี้ด้วย สิ่งที่ไม่ควรพลาดชมในวัดอรุณฯ นอกจากพระปรางค์แล้ว ก็คือยักษ์วัดแจ้งสองตนที่ยืนเฝ้าอยู่หน้าซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถ ดูขึงขังไม่แพ้กันกับที่วัดพระแก้ว อีกทั้งตุ๊กตาหินจีนขนาดเล็กใหญ่ที่ตั้งเรียงรายอยู่รอบๆ บริเวณวัดก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน
พระปรางค์วัดอรุณฯ ตั้งตระหง่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา

"วัดเบญจมบพิตร"
ก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีผู้คนแวะเวียนมาชมความงดงามในแบบที่เรียกว่าเป็น "สถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบของศิลปะไทย" อยู่เสมอ โดยพระอุโบสถของวัดเบญจมบพิตรนั้นถือเป็นพระอุโบสถที่สร้างได้สัดส่วนสวยงามเป็นอย่างยิ่ง โดยมีรูปแบบเป็นทรงจตุรมุข มีพระระเบียงโอบรอบด้านหลัง และในพระระเบียงด้านในนี้เอง ก็ถือเป็นพิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่งที่รวบรวมเอาพระพุทธรูปโบราณสมัยต่างๆ และปางต่างๆ ที่สร้างขึ้นทั้งในและต่างประเทศมาแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชม อีกทั้งด้านในพระอุโบสถยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชที่จำลองมาจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่ปั้นได้สัดส่วนงดงามตามพุทธลักษณะ เมื่อคิดถึงสิ่งที่น่าสนใจทั้งหมดภายในวัดแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่นักท่องเที่ยวมากมายจะมาเยี่ยมเยือนวัดเบญจมบพิตรกันไม่ขาดสาย
วัดเบญจมบพิตร สุดยอดสถาปัตยกรรมไทย
"เสาชิงช้า"
ที่ตั้งอยู่หน้าวัดสุทัศนเทพวราราม ก็ถือเรียกว่าอยู่คู่กรุงเทพฯ มาตั้งแต่เมื่อแรกสร้างเลยทีเดียว อีกทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งจะมีงานฉลองกันไปหมาดๆ หลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนเสาชิงช้าต้นใหม่แทนต้นเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมไปมาก โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถก็ได้เสด็จมาในงานฉลองด้วย เสาสูงสีแดงสดนี้แต่เดิมเคยใช้ทำพิธีโล้ชิงช้าในวันขึ้นปีใหม่ของทางศาสนาพราหมณ์ แต่พิธีนี้ได้ยกเลิกไปเมื่อสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นต้นมา ในตอนนี้เสาชิงช้าจึงเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่มีผู้คนแวะเวียนมาชม มาเดินเล่นกินลมชมวิว มาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกอยู่เสมอๆ
เสาชิงช้า สูงสง่าคู่พระนคร

และไม่ไกลจากเสาชิงช้าเท่าไรนัก เป็นที่ตั้งของ
"ภูเขาทอง"
หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการว่าบรมบรรพต ตั้งอยู่ในบริเวณวัดสระเกศ ภูเขาทองเป็นภูเขาจำลองสูงเด่นมองเห็นพื้นที่รอบด้านไปได้ไกล ผู้คนที่เดินขึ้นมาบนภูเขาทองนอกจากจะได้มาสักการะพระบรมสารีริกธาตุซึ่งอยู่ในเจดีย์ด้านบนแล้ว ก็ยังจะสามารถมาชมวิวในมุมสูงของกรุงเทพฯ ได้อีกด้วย นอกจากนี้ งานประจำปีของภูเขาทองที่จัดขึ้นเป็นประจำ และมีคนจำนวนมากไปร่วมงานอยู่เสมอๆ นั้น ก็คืองานบุญห่มผ้าแดงให้องค์พระเจดีย์ เชื่อกันว่าผู้ที่ได้ทำบุญด้วยการนำผ้าไปประดับบูชาพระเจดีย์นั้น จะส่งผลให้ชีวิตของตัวเองมีความสงบร่มเย็น และหลังจากงานบุญห่มผ้าแดง ก็จะเป็นงานที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างรอคอย นั่นก็คืองานวัดภูเขาทอง งานวัดเก่าแก่ที่จัดต่อเนื่องกันมาหลายสิบปีและมีบรรยากาศของความสนุกสนานอยู่เต็มเปี่ยม
ภูเขาทอง จุดชมวิวอีกแห่งในกรุงเทพฯ

"สะพานพระราม 8"
สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่งสร้างได้ไม่นาน ใช้เชื่อมการเดินทางระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนครก็มีความโดดเด่นถือเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ ได้เช่นกัน ด้วยความงามสง่าของตัวสะพานพระราม 8 ที่เป็นสะพานขึงแบบอสมมาตร มีเสาหลักเป็นรูปตัววาย (Y) คว่ำเป็นตัวยึดสายเคเบิลที่รับน้ำหนักของสะพาน ทำให้สะพานพระราม 8 นี้เป็นที่ประทับใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็น นอกจากนั้น บริเวณด้านใต้สะพานฝั่งธนฯ ยังเป็นลานกิจกรรมที่ประชาชนสามารถมาออกกำลังกาย เต้นแอโรบิก นั่งรับลมชมวิว หรือจะมาปิกนิคกินอาหารสารพัดชนิดที่มาขายในบริเวณนั้นก็ได้ และบริเวณใกล้เคียงกันยังเป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และสวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ที่ประชาชนสามารถไปนั่งพักผ่อนและออกกำลังกายกันได้ด้วย

และสุดท้าย ฉันเลือกไม่ถูกว่าจะยกตำแหน่งสัญลักษณ์ในกรุงเทพฯ ให้แก่สถานที่ไหนดีระหว่างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนสุดท้ายตัดสินใจไม่ได้ เลยขอยกให้ทั้งสองอนุสาวรีย์เป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ ไปเลยก็แล้วกัน สำหรับ

"อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย"
ตั้งอยู่กลางวงเวียนถนนราชดำเนินกลางตัดกับถนนประชาธิปไตย ชื่อของอนุสาวรีย์ก็บอกอยู่แล้วว่าสร้างขึ้นเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ.2475

สะพานพระราม 8

ลักษณะของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้นเป็นรูปหล่อลอยตัว ตรงกลางเป็นรูปเล่มรัฐธรรมนูญในสมุดไทย ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ล้อมด้วยแท่งปูนลักษณะคล้ายปีกอยู่ทั้ง 4 ทิศ อีกทั้งยังใช้ปืนใหญ่โบราณจำนวน 75 กระบอกฝังดิน โผล่ท้ายกระบอกขึ้นมา เป็นเสา คล้องโซ่เชื่อมต่อกันเป็นรั้วอีกด้วย ในช่วงเวลาปกติ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจะอยู่อย่างนิ่งสงบ แต่เวลามีการเรียกร้อง ประท้วง หรือชุมนุมเกี่ยวกับการเมืองเมื่อไร

สถานที่นี้ก็มักจะถูกใช้เป็นจุดรวมพลอยู่บ่อยครั้ง ทั้งชุมนุมรอบๆ อนุสาวรีย์ หรือบางคนถึงกับปีนขึ้นไปประท้วงอยู่บนพานรัฐธรรมนูญ เดือดร้อนตำรวจต้องไปเกลี้ยกล่อมให้ลงมาก็บ่อยไป ทางด้าน "อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ" อนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินี้มองเห็นเป็นเสาสูงยาวชี้ขึ้นไปบนฟ้า ซึ่งเสาสูงนั้นที่จริงแล้วเป็นดาบปลายปืน 5 เล่ม ที่เอาสันประกบเข้าหากันเป็น 5 แฉก มีความสูง 50 เมตร และที่ฐานหรือโคนที่ดาบปลายปืนรอบอนุสาวรีย์ก็มีรูปปั้นหล่อทองแดงของบุคคลทั้ง 5 คน หรือนักรบ 5 เหล่า คือทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน

ในบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ นี้เรียกได้ว่าเป็นชุมทางของกรุงเทพฯ เพราะเป็นจุดศูนย์กลางของการเดินทาง โดยมีถนนสายหลัก 4 สายมาบรรจบกัน คือถนนดินแดง ถนนพหลโยธิน ถนนราชวิถี และถนนพญาไท จึงเป็นศูนย์รวมของรถเมล์หลายสาย รวมไปถึงผู้คนที่เดินทางผ่านไปผ่านมาด้วย

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ชุมทางของกรุงเทพฯ

ไม่มีความคิดเห็น: