13 พ.ย. 2550

แนวโน้มการจ่ายโบนัสประจำปีของกลุ่มธุรกิจต่างๆประจำปี 2550

สมาคมการจัดการงานบุคคลฯ เปิดผลสำรวจแนวโน้มค่าจ้างปี"51 ขยับ 6.24% อสังหาฯมาแรง โบนัสพุ่งสูงสุดถึง 10% ขณะที่ธุรกิจขายสินค้าอุปโภคบริโภคครองแชมป์ปรับเงินเดือนสูงสุด 8.15% ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์จ่ายโบนัสสูงสุด เฉลี่ย 4.38% ล่าสุด "ประชาชาติธุรกิจ" สำรวจ อสังหาฯขึ้นเร็วลงเร็ว บิ๊กศุภาลัยยันอย่างต่ำ 6-8 เดือน ขณะที่แบงก์ยืนพื้นให้ 2 เดือน กสิกรไทยนำโด่งควักกระเป๋าจ่าย 4 เดือน ขณะที่แบงก์ใบโพธิ์ไม่น้อยหน้า ฉลองครบ 100 ปี จ่าย 3 เดือน ส่วนโบรกเกอร์ลุ้นหนักคาดเงินโบนัสหดตามวอลุ่ม ค่ายรถยนต์ โตโยต้าลั่นจ่าย 8.5 เดือน

นายฉัตรพงษ์ วงษ์สุข นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ที่ผ่านมาสมาคมได้สำรวจอัตราค่าจ้างและสวัสดิการประจำปี 2549/2550 ที่มีบริษัทเข้าร่วมโครงการให้ข้อมูล 201 บริษัท มีกลุ่มธุรกิจเข้าร่วมโครงการ 17 กลุ่มธุรกิจ อาทิ การขนส่ง ก่อสร้าง ขายสินค้าอุตสาหกรรม ขายสินค้าอุปโภคบริโภค ชิ้นส่วนยานยนต์ เทคโนโลยี สื่อสารและคอมพิวเตอร์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ โรงพยาบาล สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อสังหาริมทรัพย์ อาหารและเครื่องดื่ม ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์การขนาดกลางที่มีรายได้ต่อปี 101-500 ล้านบาท 51% เป็นองค์การขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปี 1,001-2,000 ล้านบาท และมากกว่า 4,000 ล้านบาท คิดเป็น 32% และองค์การที่มีขนาดเล็กรายได้ต่อปีน้อยกว่า 100 ล้านบาท คิดเป็น 13%

ปี"51 ค่าจ้างเฉลี่ยขยับขึ้น

จากการสำรวจดังกล่าว พบว่าหากเปรียบเทียบย้อนหลังจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ฐานค่าจ้าง เงินเดือน โบนัส ในปี 2549 มีสัญญาณการปรับตัวที่สูงขึ้น เพราะที่ผ่านมาการปรับเงินเดือนอยู่ในภาวะทรงตัวต่อเนื่องมาหลายปี เพิ่งเริ่มขยับขึ้นชัดเจนเมื่อปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ราคาน้ำมัน สินค้าอุปโภคบริโภคที่แพงขึ้น องค์กรต่างๆ จึงปรับฐานเงินเดือนขึ้นเพื่อให้พนักงานอยู่ได้

นายฉัตรพงษ์กล่าวว่า ทั้งนี้แนวโน้มผลการสำรวจอัตราค่าจ้างปี 2550 โดยรวมเฉลี่ยคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น 6.24% สูงกว่าปี 2549 ประมาณ 1% ที่น่าสนใจคือ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการเพิ่มขึ้นเงินเดือนและโบนัสที่แรงกว่าธุรกิจอื่นๆ และขยับขึ้นมาอยู่อันดับต้นๆ ของธุรกิจที่จ่ายผลตอบ แทนพนักงานสูงสุด โดยปี 2550 คาดว่าจะอยู่ที่ 7.15% จากปี 2549 ที่ตัวเลขการปรับเงินเดือนอยู่ที่ 7.11% โบนัสสูงสุดถึง 8% เฉลี่ยอยู่ที่ 3.21%

โดยธุรกิจที่ปรับขึ้นเงินเดือนสูงสุดยังคงเป็นธุรกิจขายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยปี 2550 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 8.25% จากปี 2549 ที่ปรับขึ้น 7.76% ตามมาด้วยอสังหาริมทรัพย์ การขายสินค้าในภาคอุตสาหกรรม ปี 2550 อยู่ที่ 6.75% ปี 2549 การปรับขึ้นของเงินเดือนอยู่ที่ 7.11% และธุรกิจก่อสร้าง เงินเดือนขึ้น 6.50% ในปี 2550 ส่วนปี 2549 ตัวเลขอยู่ที่ 7.45%

ชิ้นส่วนยานยนต์แชมป์จ่ายโบนัสสูงสุด

สำหรับการจ่ายโบนัส ปี 2549 กลุ่มอุตสาห กรรมชิ้นส่วนยานยนต์ยังครองแชมป์จ่ายโบนัสสูงสุดถึง 6% เฉลี่ย 3.38% รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์เฉลี่ย 3.11% สูงสุดอยู่ที่ 6% กลุ่มอุตสาหกรรมการขนส่งเฉลี่ย 3% สูงสุด 5% อุตสาหกรรมหนักเฉลี่ย 2.76% สูงสุด 6% ส่วนอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าค่าเฉลี่ยการจ่ายโบนัสจะมาเป็นอันดับ 5 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.68% แต่อัตราสูงสุดอยู่ที่ 6.50% นำโด่งจากธุรกิจอื่นๆ และในปี 2550 คาดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะแซงโค้งจ่ายโบนัสสูงสุดถึง 8% ตามด้วยกลุ่มธุรกิจยานยนต์ที่ยังคงจ่ายโบนัสในอัตราที่สูงกว่าค่ายอื่นๆ อัตราสูงสุดอยู่ที่ 7% เฉลี่ย 3.66% ส่วนกลุ่มธุรกิจยานยนต์ โบนัสสูงสุดคาดว่าจะอยู่ที่ 6% ขณะที่ค่าเฉลี่ยขยับขึ้นไปอยู่ที่ 3.67% ค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 6.24% หรือ 1.52 เท่าของเงินเดือน

กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มการปรับเงินเดือนในเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้น เช่น กลุ่มขายสินค้าอุปโภคบริโภค พลาสติกและเคมีภัณฑ์ โรงพยาบาล สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อสังหาริมทรัพย์ อาหารและเครื่องดื่ม ฯลฯ โดยกลุ่มธุรกิจที่มีการปรับขึ้นเงินเดือนสูงสุดในปี 2549 คือ กลุ่มเทคโนโลยี สื่อสาร และคอมพิวเตอร์ ส่วนในปี 2550 คาดว่าจะเป็นกลุ่มขายสินค้าอุปโภคบริโภค

วิศวกรเงินเดือนสตาร์ตสูงสุด

นายฉัตรพงษ์กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากนี้ PMAT ยังได้สำรวจเงินเดือนแรกเข้าของพนักงานด้วย โดยเฉลี่ยมีการปรับขึ้น 500-1,000 บาท โดยอาชีพวิศวกรยังครองแชมป์ สตาร์ตอัตราเงินเดือนสูงสุด ปี 2549 มัธยฐานอยู่ที่ 14,830 บาท สูงสุด 22,000 บาทสำหรับปริญญาตรี ระดับ ปวช. เทคนิค เงินเดือนแรกเข้าอยู่ที่ 6,300 บาท ปวช. พาณิชย์ เงินเดือนเริ่มต้น 6,000 บาท ปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ เงินเดือนแรกเข้าอยู่ที่ 12,000 บาท ปริญญาตรีสาขาบัญชี เงินเดือนแรกเข้าอยู่ที่ 10,050 บาท ปริญญาตรีสาขาสังคมศาสตร์ เงินเดือนแรกเข้าอยู่ที่ 9,900 บาท

อสังหาฯขึ้นเร็ว-ลงเร็ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อัตราผลตอบแทนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัทที่ถือว่ามาแรงในยุคหลังวิกฤตฟองสบู่ คือ พฤกษา เรียลเอสเตท และแอล.พี.เอ็น.ดีเวลล็อปเมนท์ เพราะทั้งสองบริษัทมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยมุ่งเจาะตลาดระดับกลาง-ล่าง และประสบความสำเร็จมากในตลาดทาวน์เฮาส์และคอนโดมิเนียม ส่งผลให้พฤกษาฯเป็นบริษัทใหม่รายแรกๆ ที่กล้าให้โบนัสสูงถึง 7-8 เดือน เนื่องจากทำยอดขายได้หลายพันล้านบาทในช่วงปี 2544-2547 ต่อมาเมื่อตลาดคอนโดฯเป็นดาวรุ่งการปรับตัวของศุภาลัยก็เกิดขึ้นและบุกตลาดทีหลังแต่ทำสำเร็จในช่วงเวลาต่อมา ทำให้ศุภาลัยเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนสูงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสของศุภาลัยปีนี้จะพิจารณาจากผลประเมินการทำงานของพนักงานแต่ละรายเป็นหลัก ซึ่งปกติจะจ่ายโบนัสให้ก่อน 1 เดือนภายในสิ้นปี จากนั้นช่วงต้นปีก็จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ดอีกครั้ง ส่วนจะจ่ายมากน้อยเท่าใดนั้นขณะนี้ยังบอกไม่ได้ต้องรอดูอีกครั้งในช่วงต้นปี 2550 ซึ่งหลังจากได้ข้อสรุปแล้วจะจ่ายส่วนที่เหลือในเดือนมีนาคมปีหน้า"

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาศุภาลัยจ่ายโบนัสให้กับพนักงานเฉลี่ย 6-8 เดือนอยู่แล้ว ถือเป็นมาตรฐานที่ปฏิบัติมา ส่วนจะเพิ่มหรือลดอย่างไรคงต้องรอผลจากที่ประชุมบอร์ดก่อน" นายประทีปกล่าว

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผลตอบแทนในธุรกิจอสังหาฯจะดีทั้งหมด เพราะมีหลายบริษัทที่ไม่สามารถทำยอดขายได้ดีหรือมีการปรับตัวช้ากว่าที่เป็น ทำให้ผลตอบแทนไม่สูงอย่างบริษัทข้างต้น "ยิ่งแนวโน้มธุรกิจอสังหาฯชะลอตัวมาตั้งแต่กลางปี 2548 และเกิดปัจจัยลบรอบด้าน จนมีการคาดการณ์ว่าปี 2550 การเปิดตัวใหม่ของโครงการ จัดสรรจะลดน้อยลง อาจเป็นความสุ่มเสี่ยงของบุคลากรในตลาดนี้ก็ได้ เพราะขึ้นเร็วลงเร็ว ขณะที่ผู้ประกอบการต้องวางแผนการลงทุนอย่างรัดกุมและบริหารต้นทุนอย่างรอบคอบ ดังนั้นมาร์จิ้นธุรกิจนี้จะลดลงไปเรื่อยๆ" แหล่งข่าวในวงการอสังหาฯเคยกล่าววิเคราะห์ไว้

ขณะที่นายวสันต์ เคียงศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธารารมณ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการจ่ายโบนัสและคาดว่าจะได้ข้อสรุปและนำผลดังกล่าวมาพิจารณาโบนัสให้กับพนักงานได้ประมาณต้นเดือนมกราคมปีหน้า และมีความเป็นไปได้ว่าปีนี้บริษัทจะจ่ายโบนัสเท่ากับปีที่ผ่านมาเฉลี่ยประมาณ 3 เดือนบวกลบขึ้นอยู่กับผลงานของพนักงานแต่ละคน อย่างไรก็ตามต้องดูตัวเลขผลประกอบการช่วงโค้งสุดท้ายปลายปีด้วย

แบงก์จ่ายยืนพื้น 2 เดือน

ขณะที่แหล่งข่าวจากธนาคารกสิกรไทยกล่าวในเรื่องนี้ว่า ปีนี้คาดว่าจะประกาศเรื่องการจ่ายเงินโบนัสในช่วงเดือนมกราคมปี 2550 ส่วนจะมีพิเศษหรือไม่ขึ้นกับผลงานของแต่ละคน ซึ่ง 9 เดือนที่ผ่านมาผลการดำเนินการของกสิกรไทยก็ออกมาดี จึงคาดว่าถ้าไตรมาสสุดท้ายยังสามารถทำได้ดี โบนัสไม่น่าต่ำกว่ามาตรฐาน 4 เดือนอย่างที่เคยจ่ายมา

ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจเป็นต้นมา ธนาคารได้จ่ายโบนัสพนักงานเฉลี่ยปีละ 2 เดือน แบ่งจ่ายเป็น 2 งวด อย่างไรก็ตามหากปีไหนผลประกอบการดีโบนัสก็จะมากกว่า 2 เดือน เช่นปี 2548 เป็นปีที่ธนาคารทำกำไรได้มากที่สุดตั้งแต่ตั้งธนาคารมา พนักงานก็ได้โบนัสพิเศษเพิ่มอีก 1 เดือนเป็น 3 เดือน แต่ปี 2549 แม้แนวโน้มผลประกอบการจะไม่มากเท่าปี 2548 เนื่องจากต้องจ่ายภาษีเต็มจำนวน แต่เนื่องในโอกาสที่ธนาคารจะครบรอบ 100 ปี จึงมีการจ่ายโบนัสพิเศษพนักงานเพิ่ม 1 เดือน เป็น 3 เดือนเท่าปี 2548

แหล่งข่าวจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ปีนี้ธนาคารยังคงจ่ายโบนัสเท่ากับปีที่ผ่านมา คือเฉลี่ย 2 เดือน โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด คือ งวดครึ่งปีและปลายปี อย่างไรก็ตาม ก็จะมีการจ่ายโบนัสพนักงานตามผลงานของแต่ละคนด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า ธนาคารไม่มีการให้ผลตอบแทนพนักงานในรูปโบนัสมาหลายปีแล้ว แต่จะนำเงินโบนัสที่ควรได้นั้นมาเฉลี่ยเข้ากับเงินเดือนในแต่ละเดือนของพนักงาน

โบรกเกอร์ลุ้นโบนัสหดตามวอลุ่มตลาด

นายวิบูลย์ เพิ่มอารยวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ (บล.) สินเอเซีย กล่าวว่า จะมีการหารือกับคณะกรรมการบริษัทในเรื่องการจ่ายเงินโบนัสประมาณปลายเดือนนี้ว่าจะกำหนดอัตราผลตอบแทนในรูปโบนัสปีนี้เท่าไร โดยเชื่อว่าโบนัสปีนี้จะไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อน เนื่องจากรายได้หลักของธุรกิจหลักทรัพย์เป็นไปตามภาวะตลาดที่ต้องอิงกับมูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) ที่ปัจจุบันปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

โดยปีนี้มีวอลลุ่มเฉลี่ย 16,000 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งรวมดีลขายหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 19,000 ล้านบาทต่อวัน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของธุรกิจที่กินส่วนแบ่งรายได้ไปถึง 80-90% ดังนั้นภาพรวมส่วนใหญ่คงไม่เห็นการจ่ายโบนัสที่สูงอย่างเมื่อก่อน ด้าน ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ จันทรทัต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.กรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ตอนนี้คงยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีการกำหนดผลตอบ แทนให้กับมาร์เก็ตติ้งในอัตราเท่าไร เพราะต้องรอให้บอร์ดพิจารณาประมาณต้นปีหน้า แต่คาดว่าคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีที่แล้วมากนัก เพราะดูจากวอลุ่มที่ไม่ค่อยสูงนัก

คาดค่ายรถยนต์จ่ายเท่าปีที่ผ่านมา

จากการสำรวจของ "ประชาชาติธุรกิจ" ในส่วนของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เกี่ยวกับการให้โบนัส พบว่า แม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและยอดการจำหน่ายรถยนต์จะไม่เป็นไปตามที่หลายค่ายได้ตั้งเป้าตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ผลประกอบการของค่ายรถต่างๆ ไม่ดีเท่าที่ควร แต่หลายๆ บริษัทยังคงรักษาอัตราการจ่ายโบนัสให้อยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาและบางค่ายก็มีการจ่ายเพิ่มมากขึ้น

เริ่มจากค่ายยักษ์ใหญ่ อย่างบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ที่ในช่วง 10 เดือนแรกมียอดการจำหน่ายรถยนต์อยู่ที่ 227,829 คัน มีส่วนแบ่งในตลาดเป็นอันดับหนึ่งที่ 42.20% นั้น คาดว่าจะมีการจ่ายเงินประจำปีพิเศษให้กับพนักงานในอัตราที่ไม่น้อยไปกว่าเมื่อปี 2548 ที่ผ่านมา คือ 7.5 เดือน พร้อมทั้งจะมีเงินพิเศษให้กับพนักงานโดยประเมินจากประสิทธิภาพการทำงาน

ส่วนบริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกของปีที่ผ่านมามียอดการจำหน่ายรถยนต์อยู่ที่ 26,692 คัน มีส่วนแบ่งในตลาดอยู่ที่ 4.94%คาดว่าจะมีการจ่ายประจำปีพิเศษให้กับพนักงานในอัตรา 2.5 เดือน ถึง 3 เดือน ด้านบริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ที่ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมามียอดการจำหน่ายรถยนต์อยู่ที่ 27,149 คัน มีส่วนแบ่งในตลาดอยู่ที่ 5.03% คาดว่าจะมีการจ่ายประจำปีพิเศษให้กับพนักงาน 6 เดือน บวกกับเงินพิเศษซึ่งประเมินตามประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานแต่ละคนอีกประมาณ 13,000 บาท

ส่วนบริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลส์ ที่มียอดการจำหน่าย 136,701 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 25.32% และบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล จำกัด ซึ่งมียอดการจำหน่ายอยู่ที่ 52,888 คัน และมีส่วนแบ่งในตลาดอยู่ที่ 9.8% แม้ว่าจะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการจ่ายเงินโบนัสประจำปี แต่มีการยืนยันว่าจะจ่ายไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งพนักงานแต่ละคนจะได้ไม่เท่ากัน โดยประเมินจากประสิทธิภาพการทำงาน

ที่มา ประชาชาติธุกิจ

ไม่มีความคิดเห็น: