24 ม.ค. 2553

คุณรู้หรือไม่?…ยิ่งแก่ตัว คอยิ่งเสื่อม

โดยปกติกระดูกสันหลังคอจะมีการเคลื่อนไหวมากกว่า 600 ครั้งในแต่ละชั่วโมง ยังต้องรับแรงกด แรงบิด และแรงตึงเครียดอันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน ทำให้เป็นโรคข้อกระดูกสันหลังคอเสื่อม พบได้บ่อยในอนาคต โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ...

เคยไหม...ที่เวลาหันศีรษะแล้วมีเสียงดังกร๊อบบริเวณคอ หรือมีอาการปวดคอ คอเกร็ง อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อขยับเคลื่อนไหวคอ ถ้ามีอาการต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว เป็นไปได้ว่าอาจจะกำลังเป็น "โรคข้อกระดูกสันหลังคอเสื่อม" เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ตามความเสื่อมถอยของสังขาร และอายุ ส่วนไหนที่ถูกใช้งานมาก ก็จะเสื่อมเร็วกว่าส่วนที่ใช้งานน้อย โดยปกตินั้นกระดูกสันหลังคอจะมีการเคลื่อนไหวมากกว่า 600 ครั้งในแต่ละชั่วโมง นอกจากนี้ยังจะต้องรับแรงกด แรงบิด และแรงตึงเครียดอันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน ทำให้เป็นโรคข้อกระดูกสันหลังคอเสื่อม โรคข้อกระดูกสันหลังคอเสื่อมเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยๆ และยิ่งจะบ่อยขึ้นในอนาคต

โดยเฉพาะในผู้สูงอายุคอจะเริ่มเสื่อม โดยบางครั้งคุณอาจจะไม่รู้ตัว เมื่อมีอายุระหว่าง 35 – 40 ปี ความสามารถของข้อที่จะเคลื่อนตัวได้เต็มที่จะเริ่มเสียไปทีละน้อย ทำให้มีอาการฝืดเคืองเมื่อจะพยายามเหลียวเต็มที่ หลังอายุ 60 ปี การเหลียวไปที่ละข้างเกิน 90 องศา มักจะทำได้ไม่สะดวก และมีอาการปวดคอมาแทรกซ้อน เมื่อเราฝืนให้ข้อทำงานเกินกำลัง การแก่ตัวของข้อกระดูกคอยังก่อให้เกิดกระดูกงอกในด้านขอบของข้อ ซึ่งถ้างอกได้เกินขนาด จะทำให้มีอาการปวดลงแขน มือ และนิ้วได้ ในรายที่มีกระดูกงอกมาก อาจจะมีอาการชาที่นิ้วมือ หรือแขน และทำให้แขน และมือ อ่อนแรงได้รู้อย่างนี้แล้วจะปล่อยปละละเลยคอได้อย่างไร รีบแก้ก่อนที่จะสาย ก่อนที่คอจะเสื่อม สร้างความทุกข์ใจให้เราตลอดชีวิต จึงขอนัด นพ.พุทธิพร เธียรประสิทธิ์

ผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ มาช่วยแนะวิธีแก้ปัญหานี้ เพื่อให้เรามีคอที่แข็งแรงสามารถใช้งานได้อย่างปกติตลอดไป คุณหมอบอกว่า "ไม่ยากเลย การบริหารเป็นประจำ รวมทั้งการนวด หรือใช้กายภาพบริหาร มีโอกาสช่วยให้อาการบรรเทาได้ เนื่องจากข้อกระดูกอักเสบ อาจจะต้องการใช้การบริหาร หรือนวดบ่อยครั้ง เมื่อมีอาการกำเริบ อาจจะต้องพบนักกายภาพบำบัด ประมาณ 7 – 8 ครั้ง ก่อนที่อาการจะดีขึ้น การใช้เครื่องมือภายนอกช่วยบรรเทางานของกล้ามเนื้อคอ เช่น การใส่ปลอกคอ อาจจะช่วยให้อาการเจ็บคอ และแขน บรรเทาลงได้เร็วขึ้น หลังจากที่อาการบรรเทาจากการใส่ปลอกคอ ควรจะตามด้วยกายภาพบำบัด เพื่อช่วยรักษาอาการหมุน และเงยคอ ไม่ให้เสียไปในรายที่อาการเจ็บยังไม่ดีขึ้น

ควรจะต้องใช้การฉีดยาลดอาการอักเสบเข้าช่วยที่คอเป็นครั้งๆ ในรายที่มีอาการเจ็บ ชา หรืออ่อนแรงลงแขน ควรจะพบแพทย์ผู้ชำนาญด้านกระดูกสันหลัง เพื่อรับคำปรึกษา และตรวจต่อด้วยเครื่อง MRI Scan ในรายที่มีแขนชาหรืออ่อนแรงมาก อาจจะต้องคิดถึงการผ่าตัด เพื่อที่จะรักษาอาการและรักษาการทำงานของเส้นประสาทที่ถูกกดโดยกระดูกงอก หรือง่ายๆ หมอขอแนะนำว่าควรจะหันมาระมัดระวัง และใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ดูแลและป้องกันตัวเองให้ดี แค่นี้คอก็ใช้การได้ดีปอีกนาน ดังนี้ เมื่อทำงานอยู่ในท่าเดียวนานๆ ควรลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดแน่นเกินไป ไม่ควรนอนฟูกนิ่มเกินไป ความสูงของหมอนควรพอเหมาะกับคอเพื่อลดการทำงานของคอ

อาจใช้หมอนใบเล็กๆ รองใต้บริเวณคอร่วมด้วย บริเวณคอควรได้รับความอบอุ่น ไม่ควรตากแอร์ ตากลมตรงๆ ไม่ว่าในท่าเดินหรือท่ายืน ศีรษะก็ควรจะอยู่ตั้งตรงบนลำตัว ไม่ควรก้มศีรษะลง การโน้มศีรษะลงขณะอ่านหนังสือจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอทำงานมากกว่าปกติ ควรจะยกหนังสือให้ตั้งขึ้นได้ระดับสายตา อาจวางตั้งบนกองหนังสือหรือกล่องก็ได้ ขณะขับรถควรเคลื่อนลำตัวให้ใกล้พวงมาลัย หรือแม้แต่การนวดอย่างนิ่มนวลอาจช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณคอ

และ การใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบอาจช่วยลดอาการปวดคอได้ แต่ถ้าจะให้ได้ผลที่ดีกว่า ควรประคบแบบเปียกด้วยผ้าชุบน้ำร้อน นอกจากนี้ ขอแนะนำ การออกกำลังกายในท่าที่จะช่วยบริหารต้นคอด้วย ท่าเหล่านี้ จะลดความตึงตัวของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณคอ สามารถทำได้ที่บ้านและที่ทำงานวันละ 2-3 ครั้ง

และท่าใดที่ต้องก้มศีรษะลงให้ปล่อยขากรรไกรลงให้มากที่สุดพร้อมกับหลับตา และเพื่อให้ได้ผลดีขึ้นให้ทำ 2 แบบแรกอย่างช้าๆ เท่า ที่จะทำได้ ดังนี้ หมุนศีรษะตามเข็มนาฬิกา 3 ครั้ง และในทางตรงข้ามอีก 3 ครั้ง ทิ้งน้ำหนักของศีรษะลงเต็มที่ในการหมุนแต่ละครั้ง ก้มศีรษะไปข้างหน้าโดยให้ไหล่อยู่กับที่ แล้วเอียงคอไปมาทางด้านข้างและหงายไปข้างหลังให้มากที่สุด ทำซ้ำ 10 ครั้ง คอตรงหันศีรษะช้าๆ ไปด้านขวาและซ้าย 10 ครั้ง และทำซ้ำให้เร็วขึ้น แต่ถ้าต้องการตรวจเช็คให้แน่ใจว่าตอนนี้ อาการปวดคอที่เป็นอยู่ถึงขั้นเสื่อมหรือไม่ ก็สามารถเข้ามาขอคำปรึกษาได้ทีสถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โทร. 1719" ผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: