24 ม.ค. 2553

เวียนหัว...ทรงตัวไม่อยู่หนึ่งสัญญาณอันตราย!!

'น้ำในหูไม่เท่ากัน'

เคยไหมที่อยู่ดี ๆ ก็เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ คล้าย ๆ บ้านหมุนโดยไม่รู้สาเหตุ กระเพาะอาหารปั่นป่วน อยากจะอาเจียนออกมา พอลุกขึ้นยืนก็ทรงตัวไม่อยู่จะล้มเสียให้ได้!??

ลักษณะอาการเช่นนี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า คุณกำลังเข้าข่ายเป็น “โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน”

นพ.วัชชิระ ตีระพิพัฒน กุล เวชศาสตร์ครอบครัว ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยา บาลปิยะเวท อธิบายถึงลักษณะ ของโรคน้ำในหูไม่เท่ากันให้ฟังว่า คำว่า โรคน้ำในหูไม่เท่ากันนั้นเป็นภาษาที่เรียกกันทั่วไป แต่ทางการแพทย์จะเรียกว่า “โรคแรงดันน้ำในช่องหูชั้นในผิดปกติ”

ปกติหูชั้นในจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่มีลักษณะคล้ายก้นหอย ทำหน้าที่รับเสียง อีกส่วนหนึ่งเป็น อวัยวะรูปร่างคล้ายเกือกม้า ซึ่งมีอยู่ 3 ชิ้นด้วยกัน ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว

หูชั้นในนอกจากจะแบ่ง ตามหน้าที่แล้ว ยังแบ่งตาม โครงสร้างได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นกระดูก กับ ส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มภายใน ส่วนที่เป็นกระดูกจะห่อหุ้มส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มภายใน

โดยในส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มภายในจะมีของเหลวอยู่ เมื่อเกิดโรคแรงดันน้ำในช่องหูชั้นในผิดปกติ ของเหลวที่อยู่ในส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มภายในจะคั่งมาก ทำให้การไหลเวียนไม่สะดวก แรงดันที่เพิ่มขึ้นในหูชั้นในจะขัดขวางการทำงานของกระแสประสาทที่เกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัว ทำให้สูญเสียการได้ยินและความสมดุล เกิดอาการเวียนศีรษะขึ้น

โรค ๆ นี้ไม่ได้พบบ่อยนัก ในจำนวนของคนไข้ที่เข้ามาพบแพทย์ ด้วยอาการเวียนศีรษะ อาเจียน จะมีเพียงร้อยละ 7 เท่านั้นที่เป็นโรคนี้ ฉะนั้น ในการวินิจฉัยโรคจะต้องใช้อาการเฉพาะ เพื่อแยกโรคอื่นที่เกี่ยวกับหูออกไปเสียก่อน โดยใช้วิธีการตรวจเพิ่มเติมในส่วนของหูชั้นใน ซึ่งบางครั้งอาจไม่พบความผิดปกติ แต่อาจตรวจโรคอื่นที่ไม่ใช่โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เช่น หูน้ำหนวก ซึ่ง เกิดในหูชั้นกลาง แต่ก็อาจจะกระ ทบไปถึงหูชั้นในด้วย

ต่อมา คือภาวะหูชั้นในอัก เสบเฉียบพลัน ซึ่งภาวะนี้จะประกอบไปด้วย 2 โรคด้วยกัน เรียกว่า ภาวะของการทรงตัวผิดปกติอย่างเดียว กับ โรคที่หูชั้นในผิดปกติแบบเฉียบพลัน ซึ่งจะมีทั้งที่ระบบการทรงตัวเสียและการได้ยินเสียไปด้วย และอีกโรคหนึ่งที่พบบ่อย ๆ คือ บางทีคนไข้ไปตรวจกับหมอแล้วหมอพบว่า หินปูนที่เกาะอยู่ในหูชั้นในหลุด ตรงนี้จะเป็นเรื่องของโรคเกี่ยวกับหูที่หมอจะแยกออกไปจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เมื่อแยกโรคออกแล้วคนไข้มาด้วยอาการเฉพาะจึงจะบอกได้ว่าคน ๆ นั้น เป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

ลักษณะเฉพาะที่ว่านั้น คือ เวียนศีรษะคล้ายบ้านหมุน ร่วมด้วย หูอื้อ หรือมีเสียงในหู อื้อ ๆ ๆ อยู่ในหูตลอดเวลา อาจจะได้ยินข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง ก็แล้วแต่พยาธิสภาพว่าจะเป็นข้างเดียวหรือเป็นทั้ง 2 ข้าง โดยหูอื้อ อาจจะเป็นชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ ถ้าเป็นระยะแรก จะสูญเสียการได้ยินโดยจะเป็นแค่ชั่วคราว หลังจากหายเวียนศีรษะแล้วการได้ยินจะกลับมาเป็นปกติ แต่ถ้าที่มีอาการวิงเวียนบ่อย ๆ หรือเป็นมานานอาการหูอื้อมักจะถาวร

ที่สำคัญ คือ อาการมึนงง เวียนศีรษะคล้ายบ้านหมุนเหล่านี้จะเป็นอยู่ไม่นานมากนัก โดยจะมึนเวียนหัวอยู่ประมาณ 20 นาที ถึง 2 ชั่วโมงก็จะหาย แล้วไม่นานก็จะกลับมาปวดหัวหรือมีอาการ ดังกล่าวอีก โดยจะมีลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นลักษณะเฉพาะของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

โรคนี้มีโอกาสเป็นได้ทุกเพศ และทุกวัย เพราะเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด พบมากในวัยทำงานที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่มีปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการดำเนินโรคได้ โดยพบว่าอาหารที่มีปริมาณเกลือโซเดียมสูง หรืออาหารที่มีรสเค็ม สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการได้ เช่นเดียวกับ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ความเครียด และสภาวะแวดล้อมที่มีเสียงดังอึกทึก

การรักษา เนื่องจากโรคนี้ไม่มีความจำเพาะของพยาธิสภาพ หมอจะรู้แต่เพียงว่าความดันในหูไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการที่ตรวจพบ โดยจะให้ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดสภาวะอาการ บวมและคั่งของน้ำในหูชั้นใน รวมทั้งยาขยายหลอดเลือด ยาลดอาการเวียนศีรษะและคลื่นไส้อาเจียน ตลอดจนยากล่อมประสาท และยานอนหลับ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายและนอนหลับได้เป็นปกติ

การป้องกัน ทำได้โดย เมื่อทราบภาวะที่จะกระตุ้นให้เกิดโรคแล้ว อะไรที่เป็นภาวะเสี่ยงก็ ควรลดภาวะนั้น ๆ อาทิ หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา ชา กาแฟ การสูบบุหรี่ ลดการบริโภคอาหารที่มีรสชาติเค็ม นอกจากนี้ การปฏิบัติตัวเพื่อให้ลดภาวะและอาการของโรคเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ลดภาวะเครียด ควบคุมอารมณ์ให้เบิกบานแจ่มใส และลดงานบางอย่างที่มากจนเกินไป

รวมทั้ง หาเวลาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น อยู่ในที่ที่มีเสียงดังเป็นเวลานาน ตลอดจน แสงแดดจ้าหรืออากาศที่ร้อนอบอ้าว

นพ.วัชชิระ กล่าวทิ้งท้ายว่า “เมื่อมีอาการของโรค อย่าตระหนกกับอาการ เพราะไม่ได้เป็นโรคที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยมากนัก ไม่ได้ทำให้ ล้มหมอนนอนเสื่อ แต่ถ้าเป็นมากจนกระทั่งรบกวนการทำงาน ควรดูแลตนเองด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

อย่าเครียด เมื่อรู้ว่าเครียดควรหาวิธีผ่อนคลายหยุดการทำงานสักพัก เมื่อดีขึ้นจึงค่อยกลับไปทำงานต่อ รวมทั้ง ลดการบริโภคอาหารรสเค็มจัด หลีกเลี่ยงอาหารที่ ใส่เกลือมาก ๆ ลดการดื่มสุรา หากมีอาการเวียนหัวบ้านหมุนเมื่อไรควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัยแยกโรค ให้ชัดเจน จะได้ทำการรักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงทีต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: