6 พ.ย. 2550

About "Safty In Your Car" !

หมอนพิงศีรษะ สำคัญกว่าที่คิด !!!

ลักษณะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและได้รับความสนใจมานานจากวิศวกรและแพทย์ที่ทำงานด้านความปลอดภัยในรถยนต์ มักเป็นการชนด้านหน้า (FRONTEND COLLISION) แต่ในระยะหลังความสนใจต่อการบาดเจ็บของกระดูกต้นคอที่เกิด จากการถูกชนทางด้านหลัง (REAR-END COLLISION) ได้เพิ่มมากขึ้น การถูกชนในลักษณะนี้อาจทำให้มีการฉีกขาด ของเอ็นยึดกระดูกต้นคอ และจากการสะบัดไปมาของคอคล้ายการสะบัดแส้ จึงเรียกการบาดเจ็บชนิดนี้ว่า Whiplash Injury เมื่อถูกชนจากด้านหลังสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าถูกชนอย่างรุนแรงคือ ตัวรถที่หยุดนิ่งอยู่ได้รับแรงมากระทำให้พุ่งไป ด้านหน้าอย่างรุนแรงเกิดความเร่งขนาดสูงมากระทำกับตัวรถ ความเร่งนี้จะถ่ายทอดมาที่เบาะทำให้ลำตัวพุ่งไปข้าง หน้าอย่างแรง ในขณะที่ศีรษะที่มีความเฉื่อยอยู่จะอยู่นิ่งในช่วงแรก ผลรวมที่เกิดขึ้นจากการที่ลำตัวพุ่งไปข้างหน้า ในขณะที่ศีรษะอยู่นิ่ง ทำให้เกิดการเงยคออย่างรุนแรง แล้วสะบัดกลับไปข้างหน้าอีกครั้ง (ดูภาพประกอบที่ 1)

Whiplash injury

ภาพประกอบที่ 1
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดในช่วงเวลาเพียง 0.2 วินาทีเท่านั้น ผลที่ตามมาคือ เอ็นยึดกระดูกคอฉีกขาด เกิดอาการ ปวดต้นคออย่างรุนแรง พระเอกตลอดกาลได้แก่เข็มขัดนิรภัย ยังมีบทบาทสำคัญในการล็อกลำตัวไว้กับที่นั่งไม่ให้พุ่ง ไปข้างหน้า พระรองที่สำคัญต่อมาได้แก่หมอนพิงศีรษะนี่เอง เหตุผลคือ แม้ว่าลำตัวจะถูกยึดอยู่กับเบาะ แต่เบาะที่ยึด กับตัวรถก็ยังพุ่งไปข้างหน้า ศีรษะที่ไม่มีอะไรรองรับก็ยังแกว่งไปข้างหลังอย่างแรงได้ แต่ถ้ามีหมอนพิงศีรษะ มารับไว้ ก็จะช่วยไม่ให้คอเงยมากเกินไปจนเกิดอันตรายขึ้น

Head restraint ไม่ใช่ Head rest !!!

ผู้เชี่ยวชาญทางอุบัติเหตุท่านหนึ่ง ได้เขียนถึงเรื่องการปรับหมอนพิงศีรษะไว้อย่างน่าสนใจว่า ยังมีความเข้าใจ ผิดกันมากเกี่ยวกับ HEAD REST นี้ ที่จริงแล้วหมอนพิงศีรษะมีชื่อจริงว่า HEAD RESTRAINT ถ้าเมื่อใดมันถูกใช้ เป็นตัว REST คอ เมื่อนั้นก็ผิดจุดประสงค์ทันที เพราะมันถูกออกแบบมาเป็นตัวให้ RESTRAINT หมายถึงให้การ ปกป้องต่อศีรษะและคอ ถ้าถูกปรับให้ต่ำลงมาเพื่อหนุนคอให้สบาย มันจะกลายสภาพเป็นจุดหมุนต่อต้นคอทันที นั่นคือศีรษะจะสะบัดไปด้านหลังโดยมีหมอนพิงศีรษะเป็นตัวค้ำที่คอให้ศีรษะสะบัดไปข้างหลังได้ดีและแรงยิ่งขึ้น

ปรับอย่างไร ให้ถูกต้อง
เมื่อผู้ขับขี่ปรับหมอนพิงศีรษะให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง มันจะป้องกันไม่ให้ศีรษะสะบัดไปด้านหลังอย่างรุนแรง จนเกิดอันตรายดังที่กล่าวมาแล้ว ภาพด้านล่างนี้แสดงถึงการปรับโดยมีระยะ Backset และ Height ดังในภาพ


จากการทดลองเชื่อว่าระยะที่ดีที่สุดในการป้องกันคือ ต้องปรับความสูงของหมอนพิงศีรษะให้สูงกว่าปลาย บนสุดของใบหู และต้องให้มีระยะห่าง Backset น้อยกว่า 10 ซม. และถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าการออกแบบ ลักษณะหมอนพิงศีรษะในหลายๆ รุ่น จะมีการงองุ้มมาด้านหน้าเพื่อให้อยู่ใกล้ศีรษะที่สุด การตรวจสอบ ตำแหน่งง่ายๆ คือ ถ้าพิงตัวลงไปที่เบาะเต็มที่ แล้วศีรษะด้านหลังส่วนที่เป็นกะโหลกแข็งๆ ( Occiput ) สัมผัสกับหมอนพิงศีรษะ แสดงว่าปรับได้ตำแหน่งที่ปลอดภัย ถ้าพิงไปแล้วหมอนมารับท้ายทอยอย่างสบาย เท่ากับว่าปรับหมอนต่ำเกิน อุปกรณ์ที่ต้องใช้ร่วมกันเสมอและไม่ต้องเน้นกันอีกแล้วก็คือเข็มขัดนิรภัย ถ้าปรับหมอนดีแต่ตัวพุ่งไปข้างหน้าได้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร

ไม่มีความคิดเห็น: