An Inconvenient Truth สัญญาณเตือนพิบัติโลก 20 กันยายน 2549 16:16 น.
"เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเวลานักการเมืองพูดอะไรออกมา ต้องเอาสองหารแล้วใส่ตระแกรงร่อน ที่เหลือคือ ความจริง แต่สำหรับ An Inconvenient Truth ที่ออกมาจากปากผู้ที่เกือบจะได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 43 แห่งสหรัฐ คือความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมเปิดเผยความจริง"
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : สหรัฐเคยมีประธานาธิบดีที่อดีตเคยเป็นดาราภาพยนตร์อย่างพระเอกคาวบอย โรนัลด์ เรแกน แต่สำหรับอัล กอร์ กลับเป็นอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐที่ผันตัวมาเป็นนักแสดงภาพยนตร์ที่เปิดโปงความจริงให้โลกตระหนักถึงภาวะโลกร้อน อัล กอร์ รับบทเป็นตัวเขาเองในภาพยนตร์เรื่อง An Inconvenient Truth ที่มีความยาว 94 นาที บางคนอาจจะอยากรู้ว่าหลังจากเขาพ่ายการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับจอร์จ บุช แล้ว วิถีชีวิตของเขาดำเนินไปอย่างไร หรือไม่อยากรู้ก็ไม่เป็นไร เพราะเนื้อเรื่องที่เขานำมาเสนอน่าสนใจกว่า
ผีเสื้อขยับปีก ภาพโคลสอัพจับไปที่ หมีขาวขั้วโลก ที่กำลังพยายามตะเกียก ตะกายว่ายน้ำ เพื่อขึ้นไปอยู่บนแผ่นน้ำแข็งเล็กๆแผ่นหนึ่ง แต่มันตกลงมาอีกครั้งพร้อมกับแผ่นน้ำแข็งที่แตกกระจายออกไป ดูเหมือนว่า
ความพยายามของมันจะไม่มีที่สิ้นสุด มันว่ายน้ำ ไปหาแผ่นน้ำแข็งแผ่นใหม่ ขณะที่กล้องค่อยๆ แพนภาพให้เห็นในมุมกว้าง แผ่นน้ำแข็งชิ้นเล็กน้อยที่หมีขั้วโลกกำลังปีนปาย เป็นเพียงจุดเล็กกลางมหาสมุทร ...มันต้องว่ายน้ำอีกไกลแค่ไหน จึงจะถึงแผ่นน้ำแข็งที่เคยเป็นบ้านที่อบอุ่น ... ความพยายามของหมีขาวขั้วโลก ให้ทั้งความรู้สึกหวาดหวั่น และลุ้นระทึกกับผู้ชมที่เข้ามานั่งดู หนังสารคดีเล็กๆ An Inconvenient Truth ซึ่งจัดขึ้น โดย ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใครจะไปคิดว่า น้ำแข็งขั้วโลกที่ติดกันเป็นแผ่นใหญ่สีขาวโพลนจะกลายเป็นเวิ้งมหาสมุทรและมีเศษแผ่นน้ำแข็งชิ้นเล็กชิ้นน้อยกระจัดกระจาย หลังจากการพ่ายการแข่งขันชิงประธานาธิบดีในปี ค.ศ.2000 อัล กอร์ พลิกบทบาทตัวเองเป็นพระเอกนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตีแผ่เรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาวิกฤตการณ์โลกร้อนอย่างแจ่มแจ้ง ตั้งแต่จุดแรกของปัญหาโลกร้อน ไปจนถึงบทอวสานของโลก
ที่อาจจะเกิดขึ้นในเวลาอีกไม่กี่สิบปี ต้องยอมรับว่า มีนักการเมืองของสหรัฐไม่กี่คนที่เข้าใจปัญหาโลกร้อน อัล กอร์ คือไม่กี่คนในจำนวนนั้น เขาเป็นนักสิ่งแวดล้อมที่ได้รับตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง ในฐานะรองประธานาธิบดีสมัยรัฐบาลบิล คลินตัน เขาผลักดันให้เกิดการประชุมพิธีสารเกียวโตว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปี ค.ศ.1997 เพื่อให้ประเทศที่พัฒนาแล้วร่วมลงสัตยาบันรับมือกับปัญหาโลกร้อน โดยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ อันเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้น
อัล กอร์ ปรากฏตัวบนเวทีด้วยบุคคลิกที่เป็นกันเอง และพกพาอารมณ์ขันเรียกเสียงหัวเราะแก่ผู้ฟังโดยบอกว่า " I'm Al Gore. I used to be the next president of the United States" แต่สิ่งเขาตั้งคำถามต่อมา พร้อมกับนำเสนอข้อมูลและต้นเหตุของภัยพิบัติที่เกิดในรอบทศวรรษ พลันเสียงในห้องสัมมนาเงียบกริบ สลับกับเสียงถอนลมหายใจ เขาถามว่า "แล้วเราจะเหลืออะไรเอาไว้ให้ลูก หากว่าชั้นบรรยากาศที่บอบบางที่สุดในระบบนิเวศของโลกไม่ทำหน้าที่กรอง แสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องทะลุชั้นบรรยากาศมายังพื้นผิวโลก และนำความอบอุ่นมาให้ แล้วอะไรจะเกิดขึ้นหากอุณหภูมิโลกร้อนเกินไป"
เป็นความจริงที่ว่า สิ่งมีชีวิตบนโลกดำรงอยู่ได้เพราะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซอื่นๆ ห่อหุ้มโลกไว้ทำให้โลกอบอุ่นและน่าอยู่ แต่การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมัน ตลอดจนการหักล้างทำลายป่า ยิ่งเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมากขึ้น และอุณหภูมิโลกยิ่งสูงขึ้น
สารคดี ได้ฉายภาพเปรียบเทียบน้ำแข็งทั่วโลก จากภาพถ่ายเทือกเขาคีรีมันจาโรเมื่อสามสิบปีก่อน ที่มีน้ำแข็งปกคลุมบนยอดเขามากมาย กับภาพปัจจุบันที่มีน้ำแข็งเหลือน้อยมาก จนนักวิทยาศาสตร์บอกว่า ไม่ถึงสิบปีเทือกเขาแห่งนี้จะไม่มีน้ำแข็งอีกต่อไป
ธารน้ำแข็งตามเทือกเขาต่างๆ ที่กำลังหายไปอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เทือกเขาแอนดิสในอาร์เจนตินา ชิลี ไปจนถึงเทือกเขาแอลป์ในสวิตเซอร์แลนด์ และเทือกเขาหิมาลัย น้ำแข็งจากเทือกเขาหิมาลัยเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสำคัญ 7 สาย แต่อีกไม่ถึงห้าสิบปี ประชากรที่พึ่งพิงแหล่งน้ำเหล่านี้จะเผชิญกับการขาดแคลนน้ำจืดอย่างรุนแรง
อัล กอร์ ได้นำภาพเส้นกราฟแสดงอุณหภูมิที่สูงขึ้นแผ่กระจายไปตามเมืองใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ในปี ค.ศ.2003 คลื่นความร้อนได้ทำให้คนในยุโรปตายไปถึง 35,000 คน อุณหภูมิในมหาสมุทรสูงขึ้น และเกิดพายุรุนแรงและถี่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไต้ฝุ่น เฮอร์ริเคน ไซโคลน หลายร้อยลูกที่พัดกระหน่ำชายฝั่งทั่วโลกอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาที่พัดกระหน่ำเมืองนิวออร์ลีนส์ในเดือนสิงหาคม 2005 สร้างความเสียหายครั้งประวัติศาสตร์มีคนตายกว่า 2 พันคน และทรัพย์สินเสียหายกว่า 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
ข้อมูลที่สำคัญคือภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นถึงการลดลงอย่างรวดเร็วของน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกา ขั้วโลกเหนือ และเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งหากน้ำแข็งละลายหมด ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงถึง 6 เมตร อดีตรองประธานาธิบดีได้ใช้กราฟแสดงให้เห็นว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้นคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ใส่ลูกเล่นในการนำเสนอเรื่องโดยนำเอารถเครนมายกตัวเองขึ้นตามเส้นกราฟที่พุ่งขึ้นอย่างน่าตกใจในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา
แน่นอนว่า หากถึงเวลานั้น กรุงเทพฯ นิวยอร์ก ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ จมน้ำไปครึ่งหนึ่ง บังกลาเทศอาจหายไปจากแผนที่โลก และประชากรนับพันล้านคนจะไม่มีที่อาศัย
โลกร้อน เรื่องจริงหรือนิยาย
อย่างไรก็ตาม ภาวะโลกร้อน ยังคงเป็นข้อถกเถียงว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ โดยสารคดีได้บอกถึง ความพยายามของ บริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ ที่พยายามทำให้คนทั่วไปเชื่อว่า โลกร้อนเป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้นไม่มีวันที่จะเกิดขึ้นจริง และเมื่อเป็นแค่ทฤษฎีก็ไม่ต้องเชื่อว่าจะเป็นเรื่องจริงเสมอไป ถึงตอนนี้หนังได้นำเอาภาพการ์ตูน ที่เปรียบเทียบ กบกำลังลอยอยู่ในหม้อหุงต้มที่กำลังเปิดเตาแก๊ส ตอนที่หม้อยังไม่ร้อน กบก็ไม่รู้สึกอะไร แต่เมื่อน้ำร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนเดือดปุดๆ กว่ากบจะรู้ตัวก็สายเกินไปแล้ว
อัล กอร์ พยายามจะบอกว่า โลกร้อน เป็นเรื่องของผลกระทบระยะยาว ไม่ได้เกิดขึ้นฉับพลัน ต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะเห็นผล แต่เมื่อปรากฏผลแล้วก็สายเกินแก้ สารคดีจบลงด้วยคำถาม ถึงเวลาหรือยังที่เราจะช่วยกันแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนร่วมกัน ซึ่งคำถามจึงย้อนกลับมาที่ประเทศไทยว่า เราพร้อมหรือตระหนักแค่ไหนกับภาวะโลกร้อน "เราจะเป็นกบที่ลอยในหม้อหุงต้มที่เมื่อรู้สึกตัวก็สายไปเสียแล้ว หรือจะช่วยกันป้องกันก่อนที่จะสายเกินไป"
คำถามเหล่านี้ถูกไขข้อสงสัย หลังจบสารคดี ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำผู้รู้นักคิดมาช่วยกันถกเถียง เพื่อย้อนกลับมาดูตัวเอง ประเทศไทยพร้อมแค่ไหนกับภาวะโลกร้อนขึ้น มีสัญญาณอะไรที่เตือนภัย ได้ว่า โลกร้อนขึ้นไม่ได้เป็นเพียงทฤษฎี หากเป็นเรื่องจริงที่ต้องระมัดระวัง
รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ภาควิชาธรณีวิทยาบอกว่า สัญญาณอันตรายเริ่มเกิดขึ้นแล้ว โดยจากการศึกษาระดับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกประเทศไทยได้รับผลกระทบแน่นอน โดยจะเกิดภูมิอากาศแปรปวนของฤดูกาล ในช่วงฤดูฝน 6 เดือน จะมีปริมาณฝนตกเยอะขึ้นและจะมีอุทกภัยเพิ่มขึ้นทุก 20% ต่อปีซึ่งในปีนี้เริ่มเห็นแล้วว่า เรามีอุทกภัยมากขึ้น ส่วนฤดูหนาว ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านเข้ามาจะทำให้หนาวจัดในบางปี และในช่วงนั้นจะเกิดฝนตกหนักในภาคใต้อีกด้วย
"อ่าวไทย ฝั่งตะวันออก ฝนจะตกมากในช่วงเดือน พฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติและจะทำให้มีผลต่อพืชผลทางการเกษตรในอนาคต"
รศ.ดร.ธนวัฒน์ บอกว่า ไม่เพียงฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น ความรุนแรงของภัยธรรมชาติก็มีเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะพายุไต้ฝุ่นเช่น เดิมมีพายุไต้ฝุ่น 2.8 ลูกต่อปี แต่ในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 ลูกต่อปี ซึ่งในส่วนอ่าวไทยเดิมพายุไต้ฝุ่นเคยพัดผ่านประเทศเวียดนามก่อนที่จะเริ่มอ่อนตัวลงในช่วงที่พัดเข้าไทย โดยจะมีพายุที่พัดเข้าสู่อ่าวไทยโดยตรง 3-5 ปีต่อ ลูก แต่ในอนาคต พายุไต้ฝุ่นจะพัดเข้าสู่อ่าวไทยโดยตรงไม่ผ่านเวียดนาม และอาจจะเกิดขึ้น 1-2 ปีต่อลูก ซึ่งจะทำให้มีความรุนแรงมากขึ้น ส่วนฤดูร้อนจะร้อนเร็วขึ้น ร้อนนานขึ้น และอุณหภูมิสูงขึ้นและยังพบว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีฟ้าผ่ามากขึ้นในช่วงพายุฤดูร้อน
ทั้งหมดล้วนเป็นสัญญาณเตือนที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วในไทย โดยเฉพาะปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ซึ่งในเรื่องนี้ได้รับการยืนยัน จาก จรูญ เลาหเลิศชัย นักอุตุนิยมวิทยา 8
กรมอุตุนิยมวิทยา บอกว่า จากการเฝ้าดูอากาศพบว่า ผลกระทบจากโลกร้อนเกิดขึ้นแล้ว โดยพบว่าพายุมีความรุนแรงมากขึ้น ถี่ขึ้นแน่นอน ซึ่งที่น่าสังเกตคือ
ทะเลระดับต่ำกว่า 40 เมตรอย่างอ่าวไทยไม่น่าจะเกิดพายุได้ เพราะพายุจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อทะเลมีระดับความลึก 50 เมตร แต่ปัจจุบันอ่าวไทยเริ่มมีพายุเกิดขึ้นแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่เพียงมีพายุเป็นสัญญาณเตือนเท่านั้น วราวุธ ขันติยานันท์ ผู้อำนวยการส่วนฝนหลวง สำนักฝนหลวงและการบินยังบอกเช่นกันว่าตลอดระยะเวลาของการทำฝนหลวงมานานกว่า 30 ปี พบว่า การรวมตัวของเมฆเปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าจะมีรูปร่างไม่แตกต่างจากเดิม
แต่ความแข็งแรงของน้อยลง เพราะเดิมฐานเมฆจะมีความหนาแน่น เพื่อควบคุมอุณหภูมิที่เกิดขึ้นในก้อนเมฆไม่ให้ฝนตกเร็วเกินไป แต่ปัจจุบันจะพบว่า เมฆเริ่มอ่อนแอ รวมกลุ่มเร็วขึ้นและฝนตกกระจายค่อนข้างเร็วแล้วก็หายไป เรียกว่า ก้อนเมฆไม่มีความสมดุล ทำให้ลักษณะของฝนตกแบบพรมๆ แล้วหายไป บางแห่งตกหนัก
ส่วนในระดับใต้ทะเลลึกก็เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน โดย ผศ.ดร.ปราโมทย์ โศจิกร ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล บอกว่า อ่าวไทยเป็นทะเลบริเวณที่เรียกว่าเส้นศูนย์สูตร เป็นทะเลปิดอยู่นอกเขตการไหลของน้ำมหาสมุทร ทำให้ทิศทางการไหลของน้ำจึงขึ้นอยู่กับกระแสลมเป็นหลัก ซึ่งอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น กระทบต่อปะการังใต้น้ำแน่นอนหากอุณหภูมิสูงเกิน 33 องศา ทำให้เกิดปะการังฟอกขาว ซึ่งเริ่มมีปรากฏการณ์ให้เห็นแล้วในอ่าวไทย ที่ปะการังจำนวนไม่น้อยเริ่มฟอกขาวจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น
ปะการังเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอาศัยอยู่ในทะเลตามโขดหิน แท้จริงแล้วสีของปะการังเกิดจากสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง คือสาหร่ายทะเลขนาดเล็กที่มีชีวิตอยู่ร่วมกับปะการังแบบพึ่งพาอาศัยกัน สาหร่ายเหล่านี้มีความไวต่ออุณหภูมิน้ำทะเลมาก เพียงอุณหภูมิสูงขึ้นหนึ่งองศาเซลเซียส สาหร่ายจะหยุดสังเคราะห์แสงและตายไป สีของปะการังจึงดูซีดขาว
ถึงแม้จะมีภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ดหลายเรื่องที่นำเสนอภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่อง The Day After Tomorrow และ The Core แต่ทั้งหมดนั้นยังอิงความเป็นดราม่ามากกว่า "ข้อเท็จจริง" แต่สำหรับ An Inconvenient Truth เป็นภาพยนตร์ที่นำเอารายงานข่าวหายนะภัยที่เกิดขึ้นทั่วโลกผสมกับข้อมูลจริงเชิงอุตุนิยมวิทยาที่ไม่อาจปฏิเสธได้
ข่าวดีก็คือ มนุษยชาติสามารถแก้ปัญหานี้ได้ และเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องทำ เพียงแค่เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตบ้างเล็กน้อยในแต่ละวันจะช่วยเพิ่มพูนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเพื่อหยุดภาวะโลกร้อน ถึงเวลาแล้วที่เราจะช่วยกันแก้ปัญหาตั้งแต่วันนี้
---------------
วิธีแก้ปัญหาโลกร้อน ง่ายๆ ทำได้ทุกคน เปลี่ยนหลอดไฟ จากหลอดกลมหันมาใช้หลอดตะเกียบแทน เชื่อไหมว่าลดการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ได้ 150 ปอนด์ต่อปี
ขับรถน้อยลง หันมาเดิน ขี่จักรยาน บริการขนส่งมวลชน หรือเลือกติดรถเพื่อน ทางเดียวกันไปด้วยกัน แค่นี้ ก็สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1 ปอนด์ทุกๆ 1 ไมล์ที่เราลดการขับขี่
รีไซเคิลของให้มากขึ้น แค่รีไซเคิลขยะในบ้านเพียงครึ่งหนึ่งก็ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2,400 ปอนด์ต่อปี
เช็คลมยาง รักษาระดับลมยางให้เหมาะสม ช่วยประหยัดการใช้น้ำมันได้ถึง 3% และการประหยัดน้ำมันในทุกๆ แกลลอน จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ 20 ปอนด์
ใช้น้ำร้อนน้อยลง เปิดเครื่องทำน้ำอุ่นแต่ละครั้งใช้พลังงานจำนวนมาก อาบน้ำด้วยน้ำอุ่นน้อยลง และอย่าเปิดฝักบัวแรงสุด ลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 350 ปอนด์ต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น