20 มิ.ย. 2553

10 อาหารลดความเครียด

โดย : วลัญช์ สุภากร






ความเครียด เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่บั่นทอนสุขภาพ ถึงแม้เป็นผลที่เกิดขึ้นทางอารมณ์ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานหลายอย่างของร่างกาย แม้กระทั่งการเกิด 'ผมขาว'

ผลการศึกษาในเยอรมนีของผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังชี้ว่า กระบวนการหงอกของเส้นผมนั้น อาจมาจากการที่เซลล์ถูกอนุมูลอิสระทำลายอย่างฉับพลัน (อ่านรายละเอียดได้ในเว็บไซต์วิชาการดอทคอม) เนื่องจากความเครียดทำให้อนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เซลล์ร่างกายเสื่อม ต้นเหตุของโรคร้ายแรงสารพัดอย่าง ร่างกายจึงมีความต้องการสารอาหารประเภท แอนตี้ออกซิแดนท์ (สารต้านอนุมูลอิสระ) เพื่อกำจัดตัวอนุมูลอิสระที่เพิ่มมากขึ้นเหล่านั้น


สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบันก่อให้เกิด 'ความเครียด' ขึ้นได้ง่าย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจ รวมทั้งมลภาวะทางอากาศ อาหาร น้ำดื่ม ล้วนก่อให้เกิดปัญหาอนุมูลอิสระสะสมในร่างกายเป็นประจำทุกวันแบบไม่รู้ตัว โดยเฉพาะความเครียดที่ก่อให้เกิดปัญหากับระบบร่างกาย ซึ่งแทบจะเป็นโรคประจำตัวของคนเมืองเข้าไปทุกที จัดได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันกันเลยทีเดียว แต่ใครที่ไม่มีความเครียดเลย ก็อาจกลายเป็นคนเฉื่อยชาได้เหมือนกัน เนื่องจากไม่มีแรงกระตุ้น ชีวิตเรียบง่ายเกินไป แต่ถ้าเครียดมากไป ก็ส่งผลตรงข้ามเหมือนกัน ดังนั้น จึงควรควบคุมไม่ให้เครียดเกินจุดวิกฤติ

ความร้ายกาจของอาการเครียด ทำให้มีคนพยายามสรรหาวิธีคลายเครียดหลากหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือ การใช้อาหารมาช่วยคลายเครียด สมาคมโภชนาการสหรัฐอเมริกา พบว่า การที่ร่างกายได้อาหารอย่างครบถ้วน จะช่วยในเรื่องของการรักษาสมดุลของอารมณ์ได้ เพราะอาหารเป็นตัวหนึ่งที่สร้าง เซโรโทนิน (Serotonin) สารเคมีในสมองที่ถูกสังเคราะห์ในระบบประสาทส่วนกลางจากเซลล์ประสาท ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท มีบทบาทหลายหน้าที่ เช่น ควบคุมความหิว-อารมณ์-ความโกรธ ช่วยทำให้ใจเย็น เบิกบานขึ้น รวมไปถึง ทริปโตฟาน (Tryptophan) กรดอะมิโนที่ร่างกายเปลี่ยนให้เป็นเซโรโทนินได้ ช่วยให้จิตใจสงบ นอนหลับง่าย จึงเหมือนสารอาหารที่ช่วยลดระดับความเครียดได้

ดังนั้น การเลือกรับประทานอาหารจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ หลายคนเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชญาภัทร์ สุทธิมิตร คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) เปิดเผยว่า ปกติแล้วคนส่วนใหญ่จะคิดว่าการรับประทานอาหารเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ต้องใส่ใจมากนัก แต่จริงๆ แล้ว อาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรดูแลเป็นพิเศษ แต่อาหารธรรมดาก็อาจจะไม่ช่วยให้คลายเครียดได้ จึงขอนำเสนอวิธีการเลือกรับประทานอาหารเพื่อช่วยคลายเครียด เช่น การเลือกรับประทานช็อกโกแลต น้ำมะตูม กล้วย และนมสด นับเป็นอาหารคลายเครียดที่ติดอันดับต้นๆ พบว่าอาหารเหล่านี้มีคุณสมบัติช่วยลดอาการกระวนกระวายได้ ทั้งยังช่วยลดอาการเครียด ทำให้นอนหลับสบายได้ นอกจากนี้อาหารประเภทเนื้อสัตว์ นม ไข่ เมล็ดธัญพืชต่างๆ อาหารเหล่านี้มีกรดอะมิโน ทริปโทเฟน ที่จะช่วยเพิ่มสารซีโรโทนินในสมอง ซึ่งมีฤทธิ์กล่อมประสาทช่วยคลายความหงุดหงิดได้

10 อาหารลดความเครียด

1. ช็อกโกแลต : ความฉงนสนเท่ห์เกี่ยวกับช็อกโกแลตมีมากมาย บ้างก็ว่าดีต่อสุขภาพ บ้างก็ว่าอ้วนเพราะกินช็อกโกแลต จักราวุธ ภู่เสม อาจารย์ประจำภาควิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร แนะนำว่า ควรเลือกรับประทานประเภท ดาร์ค ช็อกโกแลต (Dark Chocolate) หมายถึงช็อกโกแลตที่ไม่มีนมและครีมเป็นส่วนผสมที่มากเกินไป ครีมเป็นส่วนผสมที่ให้ความหวาน ซึ่งทำให้คนบริโภคช็อกโกแลตประเภทนี้ง่ายขึ้น เมื่อบริโภคง่ายจนเกินพอดี ก็ทำให้เกิดภาวะโภชนาการเกิน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาความอ้วน-น้ำหนักเกิน ดังนั้นถ้าจะกินช็อกโกแลต ให้กินช็อกโกแลตประเภท 'ดาร์ค ช็อกโกแลต' และช็อกโกแลตที่ให้ความหวานแต่น้อย


ความจริงแล้ว ช็อกโกแลตเป็นอาหารแห่งความสุข เนื่องจากในช็อกโกแลตมีสารที่เรียกว่า Phenylethylamine ปกติสารเคมีตัวนี้สมองจะหลั่งออกมาขณะที่คนคนนั้นเกิดความรัก

เว็บไซต์ 'ทาเลนท์ดีเวลอปดอทคอม' เผยแพร่ผลการศึกษา Dark Chocolate: The New Antianxiety Drug ของ ดร.เมอร์โคลา ที่ระบุการใช้ช็อกโกแลตบำบัดผู้ป่วยด้านอารมณ์ของคลินิกบำบัดแห่งหนึ่ง โดยพบว่าการกินดาร์ค ช็อกโกแลต จำนวนออนซ์ครึ่งทุกวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ช่วยลดระดับฮอร์โมนความเครียดลงได้

2. น้ำมะตูม : นอกจากเป็นไม้มงคล คนไทยรุ่นปู่ย่าตายายเชื่อว่า สรรพคุณเชิงสมุนไพร มะตูมเป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยความที่เป็นพืชในตระกูลที่ให้น้ำมันหอมระเหย กลิ่นผลมะตูมสุกจึงช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายนอกเหนือจากสรรพคุณแก้กระหายน้ำ ขับลมในลำไส้ ลดความดันโลหิตสูง

อ.จักราวุธ แนะนำให้ระวังเมื่อนำผลมะตูมมาทำเป็นเครื่องดื่มและรับประทานเป็นของหวานแบบเชื่อมน้ำตาล เนื่องจากโดยธรรมชาติเนื้อมะตูมมีความเผ็ดร้อนและปร่า เพื่อขจัดรสชาติเหล่านี้ คนโบราณนิยมใช้น้ำตาลทรายเป็นจำนวนมาก ซึ่งนั่นทำให้ร่างกายได้รับภาวะโภชนาการเกินเช่นกัน

ดังนั้น ถ้าจะทำเป็นเครื่องดื่มหรือเชื่อมมะตูมเพื่อเป็นของหวาน จึงควรใช้น้ำตาลทรายแต่พอดี หรือใช้สารเพิ่มความหวานจากธรรมชาติชนิดอื่น เช่น น้ำผึ้ง น้ำตาลทรายแดง โดยสูตรน้ำมะตูมที่ อ.จักราวุธ ปรุงสำหรับดื่มเองนั้นใช้มะตูมแห้ง 100 กรัม คั่วแล้วจึงนำไปต้มกับน้ำสะอาด 2 ลิตร ตักใส่แก้วขนาด 300 มิลลิลิตร เติมน้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ

3. กล้วยหอม : ช่วยคลายเครียดได้ดี เพราะกล้วยหอมเป็นแหล่ง 'ทริปโตฟาน' ชั้นยอด และยังมีน้ำตาลครบ 3 ชนิด คือ ซูโครส ฟรักโทส และกลูโคส ซึ่งร่างกายพร้อมนำไปใช้งานได้ทันที เส้นใยอาหารในกล้วยหอมช่วยทำให้ระบบขับถ่ายในร่างกายทำงานได้ดี ลดสารพิษที่คั่งค้างในร่างกาย

4. นมสด : หลายคนนิยมหรือได้รับคำแนะนำให้ดื่มนมอุ่นๆ ก่อนนอน จะทำให้นอนหลับง่าย (นางเอกในนวนิยายหลายเรื่องเชียวล่ะ) ข้อมูลเชิงวิชาการให้เหตุผลว่า เนื่องจากในนมสดมีสารอาหารประเภทแคลเซียม เมื่อแคลเซียมรวมตัวกับกรดแลกติกที่บริเวณปลายประสาท จะทำให้กรดแลกติกไม่สามารถก่อความระคายเคืองต่อระบบประสาทได้ จึงทำให้ไม่เกิดความเครียด หรือเครียดน้อยลง ที่สำคัญนมสดยังเป็นแหล่งของกรดอะมิโนที่ชื่อ 'ทริปโตฟาน' อีกเช่นกัน

5. เนื้อสัตว์ : ร่างกายต้องการพลังงานและโปรตีนในการดำเนินชีวิตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เนื้อสัตว์ถือเป็นแหล่งอาหารที่ให้พลังงานที่สำคัญแหล่งหนึ่ง โดยเฉพาะสารอาหารประเภทโปรตีน ซึ่งร่างกายจะย่อยเพื่อให้ได้กรดอะมิโนต่อไป ที่สำคัญควรเลือกเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หรือติดมันแต่น้อย

6. ไข่ไก่ : จัดอยู่ในแหล่งอาหารที่ให้โปรตีนสูง มีกรดอะมิโนครบที่ร่างกายต้องการ และยังมีเกลือแร่ วิตามินอื่นๆ ที่สำคัญมากมาย ไข่ไก่ 100 กรัม ไม่ว่าจะไข่ดิบ ไข่ต้ม ไข่เจียว ก็ให้โปรตีนประมาณ 6 กรัม (แต่ให้พลังงานมากน้อยต่างกัน) ถ้าเป็นไข่เป็ด จะให้โปรตีน 15 กรัม

7. เมล็ดธัญพืช : เมื่อความเครียดมาเยือน ร่างกายนำสารอาหารหลายชนิดที่สะสมไว้ ไปใช้ในการสร้างฮอร์โมน เพื่อช่วยในการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ และขับสารอาหารบางชนิดออกทางปัสสาวะมากขึ้นด้วย ร่างกายจึงมีความต้องการสารอาหารบางชนิดเพิ่มขึ้น หากความเครียดสะสมเป็นเวลานาน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะอ่อนแอ ทำให้เจ็บป่วยง่าย สารอาหารที่ร่างกายต้องการเพิ่มขึ้นยามนี้คือ 'วิตามินบี' ชนิดต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงต่อการส่งสัญญาณของประสาททุกชนิด แหล่งวิตามินบีสำคัญก็คือ ข้าวกล้อง จมูกข้าวสาลี ถั่วเหลือง ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดธัญพืชต่างๆ นั่นเอง

8. ขี้เหล็ก : คนไทยโบราณประจักษ์สรรพคุณต้นขี้เหล็กมานาน นำใบและดอกมาแกงรับประทาน เป็นยาระบายได้ดี ความจริงก็คือใบขี้เหล็กมีสาร บาราคอล (Baracol) ที่มีคุณสมบัติช่วยให้นอนหลับง่ายและยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ เหมาะสำหรับทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาหลับยากและปัญหาระบบขับถ่าย ทั้งระบายท้องทั้งระงับประสาท จึงเหมาะสำหรับรับประทานเป็นอาหารแก้เครียดขนานหนึ่ง

9. เสาวรส : มีทั้งแบบเปลือกสีม่วงและสีเหลือง ชื่อสากลรู้จักกันในนาม Passion Fruit ผลไม้ชนิดนี้รสเปรี้ยว แต่เป็นรสเปรี้ยวที่มีเจือไว้ด้วยสาร ธีโอโบรมีน (Theobromine) ซึ่งเป็นอนุพันธ์หนึ่งในกลุ่มกาเฟอีน มีผลในการช่วยขยายหลอดเลือด ช่วยให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะและร่างกายส่วนต่างๆ ได้ทั่วถึง จึงรู้สึกผ่อนคลาย กระปรี้กระเปร่า

10. ลูกยอ : พืชชนิดนี้ใช้ได้ทั้งผลอ่อน ผลสุก และใบ ล้วนมีสรรพคุณเชิงสมุนไพรเกี่ยวกับการบำรุงสมองและการไหลเวียนของเส้นเลือดในสมอง ส่งผลให้มีสมาธิดีและมีความจำที่ดีขึ้น วิธีรับประทานคือนำลูกยอไปฝานเป็นแว่นๆ ตากแดดให้แห้งสนิท ใส่ลงในแก้วน้ำ เทน้ำร้อนตามแล้วดื่มได้ทันทีแบบจิบทีละน้อย แต่บ่อยครั้ง ได้ผลดีกว่าดื่มรวดเดียว

นอกจากอาหาร 10 ประเภทข้างต้น อ.จักราวุธ ภู่เสม ยังแนะนำวิธีเรียบง่ายโดยให้ลองดื่ม น้ำเปล่า ซึ่งน้ำต้องเป็นอุณหภูมิปกติ ไม่เย็นจนเกินไป การดื่มน้ำเปล่าช่วยลดอุณหภูมิส่วนเกินของร่างกายได้ เพราะในช่วงที่เกิดความเครียดนั้น ระบบต่างๆ ของร่างกายจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งเกิดจากการทำงานของเซลล์ และเซลล์ก็จะปล่อยสารเคมีต่างๆ ออกมา ทำให้เลือดมีแร่ธาตุต่างๆ ในปริมาณที่สูง ทำให้เลือดข้น นอกจากน้ำเปล่าแล้วก็ยังมี โกโก้ร้อน (อุ่นเกือบร้อน) เพราะในโกโก้นั้นมีสาร Phenylethylamine มีฤทธิ์คล้ายกับสาร Endorphin ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ร่างกายผ่อนคลาย และมีความสุข

หรืออย่างน้อยก็ให้ปฏิบัติตามหลัก โภชนบัญญัติ 9 ประการ ก็นับว่าเป็นอาหารลดความเครียดได้เป็นอย่างดี เพราะทำให้ร่างกายห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่เจ็บป่วยก็ทำให้จิตใจเป็นสุข คือ กินอาหารครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลายและหมั่นดูแลน้ำหนักตัว, กินข้าวเป็นหลักสลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ, กินพืชผักให้มากและกินผลไม้เป็นประจำ, กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ, ดื่มน้ำให้เหมาะสมตามวัย, กินอาหารที่มีไขมันแต่พอควร, หลีกเลี่ยงการกินอาหารหวานจัดและเค็มจัด, กินอาหารที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อน, งดหรือลดเครื่องดิ่มที่มีแอลกอฮอล์

ประการถัดมา อ.จักราวุธ กล่าวถึงข้อคิด 'หลักธรรม' ที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงการบริโภคเพื่อยังประโยชน์แก่สุขภาพ ความว่า

'คนเราที่มีสติอยู่ตลอดเวลา รู้จักประมาณในการบริโภค ย่อมมีเวทนาบางเบา แก่ช้า และครองอายุอยู่ได้นาน'

แม้กระทั่ง ศีล 8 ก็มีศีลข้อหนึ่งที่บัญญัติให้ละเว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดองค์รวมสุขภาพแบบตะวันออกภายใต้ชื่อ นาฬิกาชีวิต ที่ไม่แนะนำให้บริโภคอาหารหนักหลังเวลา 21.00 น. เพราะเป็นเวลาที่กระเพาะอาหารหยุดทำงาน การที่ร่างกายได้รับอาหารหนักๆ เข้าไปเป็นจำนวนมากหลังเวลาดังกล่าว ทำให้เกิดการสะสมคั่งค้างภายในกระเพาะอาหาร เกิดผลเสียหายมากกว่าผลดี

การรู้จักเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่า ประกอบกับแนวคิดที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแขนงอื่นๆ ช่วยให้ร่างกายเสื่อมถอยช้าลง



ซึ่งน่าจะลดความเครียดได้เป็นอย่างดี

ไม่มีความคิดเห็น: