13 มิ.ย. 2553
สุขภาพแข็งแรงได้ด้วยอาหาร-ชี่กง
หัวเฉียวแพทย์จีนแนะนำวิธีดูแลสุขภาพอย่างง่าย อ้างอิงศาสตร์การแพทยืโบราณ ที่เน้นเรื่องอาหารคือยา ควบคู่กับการออกกำลังกายสไตล์ชี่กง
การป้องกันโรคเป็นสิ่งที่สามารถทำได้โดยง่าย เพียงหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และเมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติก็ต้องรีบสังเกตความเปลี่ยนแปลงนั้นมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อขจัดหรือยับยั้งพัฒนาการของโรครวมถึงการประเมินและรักษาเฉพาะจุดเป็นการขจัดการเติบโตของโรคอย่างถาวร
การป้องกันโรคสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ
1. การป้องกันโรคระดับแรก หมายถึง การส่งเสริมสุขภาพโดยทั่วไปรวมถึงการปกป้องและต่อต้านการเกิดเฉพาะโรค ได้แก่ การให้ความรู้พื้นฐานด้านสุขอนามัย การรับประทานอาหารเหมาะสมตามวัย การพัฒนาบุคลิกภาพ การทำงาน การพักผ่อน และนันทนาการอย่างเหมาะสม และการตรวจสุขภาพ
2. การป้องกันโรคระดับที่สอง หมายถึง การได้รับการวินิจฉัยในระยะแรกของโรคและได้รับการรักษาทันท่วงที ความรุนแรงของโรคที่เป็นมีระยะเวลาสั้นสามารถกลับสู่สภาวะของการมีสุขภาพดีได้อย่างรวดเร็ว
3. การป้องกันโรคระดับที่สาม เป็นการหยุดยั้งการขยายตัวของโรคและป้องกันความเสื่อมสมรรถภาพอย่างสมบูรณ์
ในหลายกรณีพบว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์หลังเกิดอาการป่วยจนเกินเยียวยา โดยให้เหตุผลต่อการไม่สังเกตความผิดปกติของร่างกาย เพราะต้องทำงานมากเกินไป ในท้ายที่สุดอาจต้องจ่ายค่ารักษาสูงเกินเหตุ หรือส่งผลถึงการสูญเสียชีวิต
สำหรับการบำรุงสุขภาพ ศาสตร์การแพทย์จีนเชื่อว่าการบำรุงสุขภาพด้วยยา หรือสารสังเคราะห์ทางเคมี ย่อมจะดีสู้การบำรุงสุขภาพด้วยอาหารไม่ได้ ดังนั้นการแพทย์จีนจึงเน้นการสร้างความเชื่อจนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ว่า...ควรให้”อาหาร”เป็น”ยา”บำรุงสุขภาพ...ซึ่งเริ่มตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว หรือประมาณ 1000ปีเศษก่อนคริสต์กาล ประเพณีดั้งเดิมที่ให้การแพทย์และอาหารการกินประสานเข้าอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นก็มีปรากฎให้เห็นอยู่แล้ว ในหนังสือโบราณมีข้อเขียนจำนวนมากเกี่ยวกับการบำรุงสุขภาพด้วยอาหาร
เช่น เมื่อสมาชิกครอบครัวเป็นหวัด คนในบ้านก็จะต้มน้ำขิงและก้านของต้นหอมใส่น้ำตาลให้กิน ถ้าคนไข้ดื่มน้ำดังกล่าวนี้ในยามร้อน ก็จะทำให้ร่างกายมีออกเหงื่อ โดยทั่วไปมักจะได้ผล
เกี่ยวกับวิธีการบำรุงสุขภาพประจำวัน ชาวจีนมีข้อคิดเห็นว่า ควรจะกินขิงในยามเช้าและกินหัวผักกาดก่อนนอน นอกจากนี้เครื่องปรุงรส เช่น เกลือ น้ำส้ม และขิง ฯลฯ ล้วนมีประโยชน์ในการบำรุงสุขภาพทั้งสิ้น
นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการออกกำลังกายในแบบ”ชี่กง” ซึ่งเป็นการฝึกฝนเพื่อเพิ่มพูนพลังชีวิตขึ้นในร่างกาย ทั้งนี้เพราะศาสตร์การแพทย์จีนเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีพลังอยู่แล้ว มากบ้างน้อยบ้าง แตกต่างกันไป แต่เมื่อเป็นคนไข้ก็ย่อมมีพลังชีวิตเช่นนี้น้อยกว่าคนปกติ ผู้ที่ฝึก”ชี่กง”มาพอสมควร ก็มีจะพลังชีวิตที่สูงกว่าคนทั่วไป
ศาสตร์การแพทย์จีนได้กล่าวถึงความสำคัญของสมดุลและการไหลเวียน เหมือนกับน้ำที่ต้องหมุนเวียนผลัดเปลี่ยน เส้นของพลังงานในร่างกายที่มองไม่เห็นจะชักนำชี่ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย ซึ่งชี่จะไปตามเลือด การอุดตันของเส้นพลังงานอาจทำให้เกิดความเจ็บปวดและโรคภัยต่างๆ ซึ่งรักษาได้ด้วยการฝังเข็ม การกดจุด และการออกกำลังการในแบบ”ชี่กง”
สำหรับในช่วงเวลานี้ ผู้คนมีความเครียดทางจิตใจมากกว่าปกติ (ผลกระทบจากการเมือง) ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเสียสมดุลย์ของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เป็นต้นเหตุของโรคทางร่างกายและจิตใจเนื่องจากความเครียด ตั้งแต่หงุดหงิดง่าย ปวดศีรษะ ไมเกรน ความดันเลือดสูง โรคหัวใจขาดเลือด ฯลฯ
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายเสียสมดุลย์ไป ก็เนื่องมาจากการทำงานที่มากเกินไปของระบบประสาทอัตโนมัติที่จะแสดงออกมาในรูปของใจสั่น เหงื่อแตก ความดันโลหิตสูงขึ้น และฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต ซึ่งส่วนใหญ่จะเห็นได้ชัดที่หลอดเลือดส่วนปลายของมือและเท้า คนที่มีความเครียดจึงมีมือเท้าเย็น ซีด เป็นที่สังเกตได้ง่าย
“การฝึกชี่กง” จะเริ่มตั้งแต่การฝึกหายใจ โดยปกติแล้วการหายใจด้วยอก ชีพจรจะเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย แต่ถ้าหายใจด้วยท้องชีพจรจะเต้นช้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถอธิบายในทางวิทยาศาสตร์ได้ว่าเป็นการกระตุ้นกะบังลม ที่กะบังลมจะมีเส้นประสาท ซึ่งจะส่งคลื่นไปที่สมอง ทำให้หลอดเลือดขยาย ความดันเลือดลดลง ชีพจรเต้นช้า หายใจช้า ต้องฝึกหายใจลงไปที่ท้องแทน
การฝึกชี่กงจะทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ความเครียดลดลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองดีขึ้น อย่างไรก็ตามชี่กงมีกระบวนท่ามากมาย ผู้ฝึกจึงสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมกับตนเอง
บทความนี้เรียบเรียงจากการบรรยายเรื่อง การป้องกันโรคและการบำรุงสุขภาพโดยศาสตร์การแพทย์แผนจีน วิทยากรโดยแพทย์จีนหยางฉวนเหวี่ยน และนายสุวัฒน์ ลี้ชาญกุล รองผู้อำนวยการหัวเฉียวแพทย์จีน สำหรับผู้สนใจการบรรยายความรู้ทางสุขภาพเรื่องต่างๆ ซึ่งจัดทุกวันจันทร์สุดท้ายของเดือน สามารถสอบถามและสำรองที่นั่งเข้าร่วมฟังได้ที่คุณเพชรรา รักษ์สาคร โทร. 0-2223-1111 ต่อ102 และ 103
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น