13 มิ.ย. 2553

ปวดหลัง-แขนขาชา สัญญาณกระดูกเคลื่อน


โดย : จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา

ปวดเมื่อยเนื้อตัวทั่วไป นอนนวดประคบประหมงสักพักก็หายเป็นปลิดทิ้ง หากปวดเป็นประจำย้ำด้วยอาการขาชาแขนชา รีบไปหาแพทย์เชี่ยวชาญด้านกระดูกดีกว่า


พออายุมากขึ้น อาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวเริ่มถามหา บางคนอาจคิดว่าอาการปวดเกิดมาจากความเสื่อมตามวัยที่ร่วงโรย แต่แท้จริงแล้วการปวดหลังเป็นเวลานาน อาจแฝงมาด้วยภัยเงียบที่เปราะถึงแกนกระดูก เมื่อกระดูกสันหลังอ่อนแอ เคลื่อนตัว นำมาสู่โรคยอดฮิตขณะก้าวเข้าสู่วัยกลางคน

นพ.ธีรชัย ผาณิตพงศ์ ศัลยแพทย์ศูนย์ระบบประสาทไขสันหลัง โรงพยาบาลพญาไท 3 กล่าวว่า โรคกระดูกสันหลังเคลื่อนเกิดจากใช้งานของหลังที่ผิดประเภท ส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุ ในวัย 45 ปีขึ้นไป จาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ ความเสื่อมของกระดูกเอง และการอ่อนแอของกระดูกสันหลังมาตั้งแต่เกิด

อาการของโรคกระดูกเคลื่อนมักพบในผู้หญิงมากกว่าชาย อาจเป็นเพราะกล้ามเนื้อของผู้หญิงไม่แข็งแรงเท่าผู้ชาย ภาวะการเคลื่อนของกระดูกเริ่มตั้งแต่หมอนรองกระดูกเสื่อม ทำให้ข้อต่อมีแรงกดเยอะขึ้น จากนั้นกระดูกก็จะค่อยๆ เคลื่อนออกจากกันในที่สุด

“โรคนี้พบบ่อย แต่เป็นโรคที่ซ่อนอยู่ บางคนมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดหลัง พอได้ตรวจ จึงได้รู้ว่ากระดูกอ่อนแอ เราสามารถยืนยันแนวการเคลื่อนของกระดูกได้จากฟิล์มเอ็กซ์เรย์ช่วยวินิจฉัย” คุณหมอ กล่าวยืนยัน

กระดูกสันหลัง เป็นส่วนที่รับน้ำหนักมากที่สุด โดยมีหมอนรองกระดูก และข้อต่อของกระดูกสันหลัง 2 อันทำหน้าที่ยึด ถ้าหากมีแรงกระทำเกิดขึ้นมีส่วนให้รอยเชื่อมฉีกขาด กระดูกสันหลังจะเคลื่อนในที่สุด

อาการของโรคที่พบชัดเจนส่วนใหญ่จะเกิดการชาในตำแหน่งที่เส้นประสาทถูกกดทับ และเป็นหนักขึ้นเวลาเดินต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาการที่แสดงออกชัดเจนคือปวดหลัง และเมื่อกระดูกเสียดสีจากการเคลื่อนจะเกิดอาการชา ก่อปัญหากับระบบขับถ่ายเมื่อเส้นประสาทตามมา

กระดูกสันหลังคนเราแต่ละส่วนมีลักษณะเป็นข้อๆ ในแต่ละข้อมีเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมส่วนต่างๆ ของร่างกาย

แพทย์ประสาทศัลยศาสตร์อธิบายว่า ตามหลักที่ถูกต้องความสมดุลระหว่างความแข็งแรงของกระดูกสันหลังกับกล้ามเนื้อต้องสัมพันธ์กัน หากนั่งผิดท่า ยกของหนัก หรือออกกำลังกายท่ากระโดดเป็นประจำ อาจมีผลทำให้แนวของแรงไปกระทำต่อกระดูกสันหลังบางส่วนผิดปกติไป ประกอบกับผู้ที่กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ไม่ได้ออกกำลังกาย คงมีโอกาสพบกับอาการข้อเสื่อมเร็ววัน

“อาการของคนไข้ที่มาพบค่อนข้างจะตรงไปตรงมา กระดูกเสื่อมก็จะมาด้วยอาการปวดหลัง แต่เมื่อมีแรงกดมากขึ้น เริ่มมีอาการปวดตามแนวของเส้นประสาทส่วนที่ถูกกดทับ หากเส้นประสาทรับความรู้สึกถูกกดทับ กล้ามเนื้อที่เส้นประสาทความคุมอยู่ก็จะเกิดอาการชาให้เห็น” คุณหมอกล่าว

แพทย์จะตรวจวินิจฉัยในเบื้องต้นจากอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นภายนอก เช่น กล้ามเนื้อมัดที่อ่อนแรงเรียงตัวอยู่แนวเส้นประสาทใด กระดูกข้อไหน เช่น หากพบอาการปวดชาไปด้านนอกของขา คาดการณ์ได้ว่าน่าจะเป็นกระดูกข้อที่ 5

ส่วนอาการปวดด้านในของขา กระดูกสันหลังส่วนคอ ปวดร้าวไปที่แขน ปวดเอวร้าวไปที่ขา อาการที่พบเหล่านี้เกิดจากการเคลื่อนของกระดูกในตำแหน่งที่ต่างกันไป

โดยทั่วไปแพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการคนไข้เป็นหลัก ด้วยวิธีการฉายรังสี หรือเอ็กซ์เรย์ ในท่าก้ม กับท่าแอ่นตัว เพื่อดูความผิดปกติ ซึ่งจะยืนยันได้ว่ากระดูกเคลื่อนหรือไม่ ขณะที่การทำเอ็กซ์เรย์แม่เหล็กจะสามารถบ่งบอกถึงแรงกดทับของเส้นประสาทกระดูกสันหลังได้ชัดเจนขึ้น

“การผ่าตัดไม่ได้แปลว่าภาวะกระดูกเคลื่อนจะหายขาด เพราะมีโอกาสกลับมาเป็นอีกในข้อต่อกระดูกตำแหน่งอื่น ต้องยอมรับก่อนว่ากระดูกเคลื่อนไปแล้ว แต่จะเคลื่อนรุนแรงถึงขนาดที่ต้องผ่าตัดไหม อาจจะไม่ คนไข้อาจจะใช้ชีวิตอยู่กับกระดูกสันหลังเคลื่อนต่อไปได้โดยไม่ต้องผ่าตัด” คุณหมอ กล่าวยืนยัน

ถ้าคนไข้มาด้วยปัญหาแค่ปวดอย่างเดียว แพทย์จะแนะนำว่าทนปวดได้ไหม ถ้าทนได้อาการปวดไม่รุนแรงมาก ไม่มีผลต่อชีวิตประจำวันมากนัก แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยยาแก้ปวด และกายภาพบำบัด เพื่อดูว่าอาการทุเลาลงหรือไม่ โดยยืนยันว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การทำกายภาพบำบัดจะช่วยให้อาการปวดดีขึ้นโดยที่ไม่ต้องผ่าตัด

สำหรับข้อควรระวังในการใช้หลังง่ายๆ คือ การปรับสมดุลให้แรงกระทำกับกระดูกสันหลังบาลานซ์กัน แรงกระทำที่ว่านี้ คือการใช้งานหลัง เช่น การยกของ แบกหาม ขณะที่แรงพยุง คือ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ น้ำหนักตัว ซึ่งต้องพยายามทำให้ทั้ง 2 แรงเกิดความสมดุล โดยลดแรงกระทำ และเพิ่มแรงพยุงเข้าไป ไม่ให้กระดูกสันหลังต้องรับโหลดมากเกินไป

“หากแรงกระทำมากกว่าแรงพยุง แรงที่กดลงไปที่กระดูกมากจะเกิดอาการปวด ถ้าคนไข้เพิ่มแรงพยุงให้มากกว่าแรงกระทำได้ อาการปวดก็จะลดน้อยลงได้” คุณหมอ อธิบาย

สำหรับท่าออกกำลังกายที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกเคลื่อน คือ การออกกำลังกายที่ไม่มีแรงกระแทก เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เดินสายพาน ช่วยเพิ่มแรงพยุง โดยละเว้นกิจกรรมที่มีแรงกระแทก เช่น การออกกำลังด้วยท่ากระโดด วิ่งสปริงตัว ขณะเล่นบาสเกตบอล ท่าออกกำลังกายประเภทนี้ถือว่าเป็นข้อห้ามด้สำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกเคลื่อน

กรณีของผู้ที่น้ำหนักตัวมากอยู่แล้ว หรือเป็นโรคอ้วน เมื่อกระดูกถูกกดทับเยอะแล้ว จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อดึงกระดูกไม่ให้เส้นประสาทถูกกดทับไปมากกว่านี้ เพราะหากเกิดการกดทับเป็นเวลานาน เส้นประสาทมีโอกาสเสียถาวร

ดังนั้น ถ้าคนไข้เริ่มมีอาการเส้นประสาทกดทับ แพทย์มักแนะนำให้ผ่าตัดทันทีก่อนที่เส้นประสาทจะเสียไป และไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ใหม่อีก

“การผ่าตัดจะผ่าเอากระดูกส่วนที่กดโดนเส้นประสาทออก ก่อนที่จะเอาเหล็กใส่เข้าไปในกระดูกสันหลัง 2 ข้าง เพื่อยืดเอาไว้ไม่ให้กระดูกเคลื่อน ในอดีตแผลผ่าตัดใหญ่กระดูกเคลื่อนมีลักษณะค่อนข้างใหญ่ ประมาณ 1 คืบ เนื่องจากต้องเปิดบาดแผลใส่อุปกรณ์ช่วยผ่าตัด แต่ปัจจุบันเทคนิคการผ่าตัดได้ถูกพัฒนาขึ้นจนกระทั่งสามารถผ่าตัดแบบแผลเล็ก 3-4 เซนติเมตร แผลหายไว และฟื้นตัวได้เร็วกว่าปกติ” เขา กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: