31 ส.ค. 2551

ทำอย่างไรเมื่อไขมันในเลือดสูง (1)

ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หลอดเลือดตีบตัน การเริ่มป้องกันหรือรักษาตั้งแต่อายุประมาณ 35-40 ปี จะช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและโรคอัมพาตได้อย่างมาก

มีหลายปัจจัยที่ทำให้ไขมันในเลือดสูง สาเหตุหลักคือการรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลและกรดไขมันอิ่มตัวสูง น้ำตาล แอลกอฮอล์ บุหรี่ ความอ้วน และขาดการออกกำลังกาย นอกจากนี้โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และกรรมพันธุ์ ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไขมันในเลือดสูงได้

ไขมันในเลือดมีอยู่หลายชนิด ที่สำคัญได้แก่
1.คอเลสเตอรอล (Cholesterol) เป็นส่วนประกอบของเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะเซลล์สมอง แต่หากมีไขมันคอเลสเตอรอลมากเกินไป ไขมันเหล่านี้จะไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย เช่น หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดที่ไต ไม่เว้นแม้แต่อวัยวะเพศ เมื่อเกิดการตีบตันของหลอดเลือด ก็จะทำให้อวัยวะนั้นๆ ขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดอาการต่างๆ ตามมา เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ รวมไปถึงการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย
ไขมันคอเลสเตอรอล แบ่งแยกย่อยๆ ได้อีก 2 ชนิด คือ
1.1.แอลดีแอล คอเลสเตอรอล (Low Density Lipoprotein Cholesterol) หรือคอเลสเตอรอลชนิดร้าย มีบทบาทสำคัญในการสะสมที่ผนังหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแข็งและหลอดเลือดตีบตัน ไขมันชนิดนี้ร่างกายสร้างขึ้นเองส่วนหนึ่ง และมาจากอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์
1.2.เอชดีแอล คอเลสเตอรอล (High Density Lipoprotein Cholesterol) หรือคอเลสเตอรอลชนิดดี ที่ช่วยขนถ่ายคอเลสเตอรอลที่สะสมอยู่ออกมาทำลาย จึงช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ไขมันชนิดนี้ร่างกายสร้างขึ้นเอง หากยิ่งมีมากจะยิ่งเป็นผลดี โดยจะมีมากขึ้นในผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

2.ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันอีกชนิดหนึ่งที่มาจากอาหารร่วมกับร่างกายสร้างขึ้น ไตรกลีเซอไรด์เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของร่างกาย โดยอาหารพวกแป้งและน้ำตาล รวมทั้งโปรตีนที่เหลือใช้ จะถูกเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ และถูกเก็บสะสมไว้ที่ชั้นไขมัน เพื่อเป็นพลังงานสำรอง นอกจากนี้ไตรกลีเซอไรด์ยังช่วยดูดซึมวิตามินเอ ดี อี เค อาหารที่มีไตรกลีเซอไรด์สูง ได้แก่ ไขมันจากสัตว์ มีข้อมูลบ่งชี้ว่าการมีไขมันชนิดนี้สูง เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่อ้วน เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และมีระดับเอชดีแอล คอเลสเตอรอลต่ำ

อันตรายที่เกิดจากภาวะไขมันในเลือดสูง ก็คือ ไขมันส่วนเกินจะไปตกตะกอนตามผนังของเส้นเลือด ทำให้ผนังเส้นเลือดหนาและแข็ง ทำให้หลอดเลือดตีบตันได้ง่าย ถ้าเป็นเส้นเลือดที่หัวใจ จะทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด ถ้าเป็นเส้นเลือดที่เลี้ยงสมอง จะทำให้เกิดอัมพาต หรือถ้าเลือดไปเลี้ยงบริเวณขาไม่พอ ก็จะทำให้เวลาเดินแล้วปวดน่อง ส่วนภาวะไตรกลีเซอไรด์สูง จะทำให้ตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น ความจริงแล้วไขมันในเลือดสูงไม่ได้ทำให้เกิดอาการ อาการต่างๆ เป็นผลมาจากการตีบตันของหลอดเลือดแดง ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปี การสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดแดงเริ่มพบได้ตั้งแต่วัยรุ่น

ระดับไขมันในเลือดสูงเท่าไรจึงจะเป็นอันตราย
ระดับคอเลสเตอรอล น้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ระดับไตรกลีเซอไรด์ น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ระดับเอช ดี แอล มากกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ระดับแอล ดี แอล น้อยกว่าหรือเท่ากับ 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

แต่ในทางการแพทย์ วิธีสำรวจว่าระดับไขมันในเลือดสูงหรือไม่ จะเทียบกับค่าระดับแอลดีแอล คอเลสเตอรอลที่พึงปรารถนา ซึ่งค่าดังกล่าวขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือเป็นโรคเบาหวานหรือไม่

ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องคำนึงในการจัดระดับแอลดีแอล คอเลสเตอรอลที่พึงปรารถนา มีอยู่ 6 ประการ คือ
1.อายุ (ชายเกิน 45 ปี หญิงเกิน 55 ปี)
2.มีคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนวัยอันควร (ชายก่อนอายุ 55 ปี หญิงก่อนอายุ 65 ปี)
3.ความดันโลหิตสูง
4.โรคเบาหวาน
5.สูบบุหรี่
6.ค่าเอชดีแอล คอเลสเตอรอล น้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

แอลดีแอล คอเลสเตอรอล (LDL-Cholesterol)
เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือเป็นโรคเบาหวานควรน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคเบาหวาน แต่มีปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไปควรน้อยกว่า 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคเบาหวานและมีปัจจัยเสี่ยงน้อยกว่า 2 ข้อควรน้อยกว่า 160 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ไม่มีความคิดเห็น: