17 ส.ค. 2551

แต่งงานแบบไทย...มีขั้นตอนอย่างไร?

เชื่อว่าเมื่อคนสองคนตกลงปลงใจพร้อมจะร่วมหอลงโรงกันแล้ว คู่บ่าวสาวป้ายแดงทั้งหลายคงต้องวางแผนงานแต่งงานกันยกใหญ่ และหาที่ปรึกษากันให้วุ่น... ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องสำคัญที่ต้องตัดสินใจเป็นอันดับต้นๆ คงไม่พ้นเรื่องของพิธีการ ซึ่งมักจะแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติ ศาสนา หรือแม้กระทั่งความชอบของคู่บ่าวสาวเอง สำหรับใครที่กำลังคิดว่าจะแต่งงานตามธรรมเนียมประเพณีแบบไทย วันนี้เราขนรายละเอียดแบบทุกขั้นทุกตอนมาฝากกัน

การแต่งงานตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย พูดได้เลยว่ารายละเอียดค่อนข้างมาก ขั้นตอนก็เยอะเอาการอยู่ แต่ยุคสมัยนี้มักประยุกต์กันแบบรวบรัด แต่คงไว้ซึ่งความถูกต้องของแบบแผนเดิม ทำให้คู่บ่าวสาวไม่เหนื่อยมากในวันงานจริง ว่าแต่มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย...

1. พิธีตักบาตรร่วมขัน
ฝ่ายชายจะเป็นผู้มาร่วมพิธีตักบาตรเลี้ยงพระที่บ้านฝ่ายหญิงในตอนเช้าของวันงานพิธี โดยคู่บ่าวสาวจะตักบาตร โดยใช้ทัพพีและใช้ขันใส่ข้าวใบเดียวกัน จากนั้นเจ้าบ่าวจึงจะออกไปตั้งขบวนเตรียมสู่พิธีแห่ขันหมากต่อไป

2. พิธีแห่ขันหมาก
ในยุคปัจจุบันนิยมจัดพิธีหมั้นและพิธีแต่งงานในวันเดียวกัน ดังนั้นจึงมีการรวบรัดเอาขันหมากหมั้นและขันหมากแต่งเข้าไว้ด้วยกัน ขันหมากแต่งอาจยุ่งยากกว่าขันหมากหมั้นเล็กน้อยคือ มีทั้งขันหมากเอก และขันหมากโท

- ขันหมากเอก บรรจุหมากพลู ถุงห่อถั่วงอกเตียบสำหรับใส่หมูต้ม ห่อหมก ขนมจีนแล้วปิดฝาหุ้มคลุมด้วยผ้าแพรหรือผ้าไหมให้สวยงาม

- ขันหมากโท บรรจุผลไม้และขนมต่างๆ ที่มีชื่อเป็นมงคล อาทิ ทองเอก ฝอยทอง ซึ่งนิยมจัดเป็นคู่เพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ ต้องเตรียมพานไหว้และพานธูปเทียนไว้สำหรับพิธีรับไหว้ ซึ่งจะมีทั้งต้นกล้วย ต้นอ้อยมะพร้าวอ่อน พานใส่เหล้า

ทั้งนี้ หากไม่อยากให้ขบวนขันหมากดูเอิกเกริกจนเกินไป สามารถตัดในส่วนของต้นกล้วย ต้นอ้อย หรือขันหมากโทออกก็ได้ และสำหรับของหมั้นที่นิยมนำมาใช้ประกอบในพิธีก็คือของมีค่า เช่น ทองคำ หรือแหวนเพชร รวมทั้งเงินสินสอดและเงินทุนซึ่งจะถูกนำมาจัดรวมไว้ในขันหมาก สำหรับการโห่จะร้องรับกัน 3 ลา (ครั้ง) เพื่อเป็นการให้สัญญาณ และเมื่อขบวน เดินทางมาถึงบ้านฝ่ายเจ้าสาวแล้วก็จะใช้การโห่ร้องรับกัน 3 ลา อีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นการบอกกล่าวฝ่ายครอบครัวเจ้าสาว ว่าขบวนขันหมากได้เดินทางมาถึงแล้ว 3. พิธีปิดหรือกั้นประตู (อันนี้เพื่อนๆ และญาติเจ้าสาวชอบดีนักแล)

เมื่อขบวนขันหมากของฝ่ายชายเดินทางมาถึงบ้านของฝ่ายหญิง บรรดาญาติพี่น้องของฝ่ายหญิง จะออกมากั้นประตู โดยถือสร้อยเงิน สร้อยทอง หรือผ้าแพรคนละฝั่งเพื่อทำเป็นประตู ซึ่งถ้าอิงประเพณีดั้งเดิมนั้นมีหลักๆ เพียง 3 ประตู คือ ประตูชัย ประตูเงิน และประตูทอง (ตามลำดับ)

โดยที่ฝ่ายชายจะต้องบอกชื่อประตูให้ถูกต้อง และต้องให้ซองแถมพก (ซองใส่เงิน) แก่ผู้เฝ้าประตูหลังจาก ผ่านประตูทุกด่านเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายหญิงจะจัดเด็กผู้หญิงหน้าตาน่ารัก ถือพานรองหมากพลูไว้รอเชิญขบวนขันหมากของเจ้าบ่าวขึ้นเรือน ซึ่งเจ้าบ่าวต้องเตรียมซองเงินไว้เป็นรางวัล สำหรับเด็กที่มารอรับขบวนขันหมากด้วย

4. พิธีนับสินสอด
การนับสินสอดนั้นจะเริ่มโดยการวางเงินสินสอดบนผ้าแดงหรือผ้าเงินผ้าทอง จากนั้นฝ่ายหญิงจะทำการตรวจนับตามธรรมเนียมประเพณี ด้วยเงินสินสอดนั้นโบราณให้ใส่เกินจำนวนไว้เล็กน้อยเพราะเมื่อถึงเวลาที่ฝ่ายหญิงทำการตรวจนับจะได้ร้องอุทานว่า “เงินเกิน” หรือ “เงินงอก” เป็นเคล็ดว่าต่อไปครอบครัวจะได้มีเงินไหลมาเทมา

เสร็จแล้วญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะทำการโปรยถั่ว ข้าวตอก ดอกไม้ ฯลฯ ลงบนสินสอด จากนั้นแม่ฝ่ายเจ้าสาวจะห่อสินสอดด้วยผ้าและแบกขึ้นไว้บนบ่า (ตามประเพณีต้องแบกขึ้นบนบ่าเท่านั้น) และให้พูดเอาเคล็ดว่า "ห่อนี้หนักเสียจริงๆ คงมีเงินทองงอกเงยออกมามากมายเต็มบ้านเต็มเรือน"

5. พิธีสวมแหวนหมั้น
เมื่อถึงฤกษ์ที่เป็นมงคล ฝ่ายชายจะทำการสวมแหวนหมั้นให้แก่ฝ่ายหญิง จากนั้นฝ่ายหญิงจะรับไหว้พร้อมกับสวมแหวนแลกกับฝ่ายชาย แต่ที่จริงแล้วของหมั้นนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นแหวนเสมอไป อาจใช้สร้อยคอกำไล ทองแท่งเป็นของหมั้นก็ได้ แต่ที่นิยมเลือกแหวนก็เพราะเป็นของมีค่าที่ทั้งสองคนสามารถใส่ติดตัวได้ตลอดเวลา

6. พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ หรือเรียกง่ายๆ ว่า "การรดน้ำสังข์"
เริ่มจากการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วจึงไปนั่งบนตั่งรดน้ำที่เตรียมไว้ โดยให้ฝ่ายหญิงนั่งทางซ้ายและฝ่ายชายนั่งทางขวา ตลอดการรดน้ำเพื่อนเจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าสาวฝ่ายละ 2 คนยืนประกบอยู่ด้านหลังที่สำคัญต้องเป็นคนโสด

จากนั้นเถ้าแก่หรือพ่อแม่ของคู่บ่าวสาวจะสวมมาลัยและมงคลคู่พร้อมกับเจิมที่หน้าผากและเริ่มรดน้ำก่อนตามด้วยญาติผู้ใหญ่ แขกเหรื่อที่อาวุโสกว่า ตามด้วยญาติมิตรและเพื่อนฝูงตามลำดับ พิธีนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญของพิธีแต่งงานเลยทีเดียว เพราะเมื่อทำการหลั่งน้ำพระพุทธมนต์เรียบร้อยแล้ว ก็เป็นอันว่าชายหญิงคู่นั้นๆ เป็นสามีภรรยากันถูกต้องตามธรรมเนียม

7. พิธีรับไหว้
หลังพิธีรดน้ำเสร็จสิ้นจะเป็นพิธีไหว้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือเพื่อเป็นการฝากเนื้อฝากตัว ถ้าเป็นพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ต้องกราบ 3 ครั้ง ส่วนญาติคนอื่นๆ ให้กราบเพียงครั้งเดียวไม่ต้องแบมือ แล้วจึงส่งพานธูปเทียนให้ผู้ใหญ่จะรับไหว้และให้พร พร้อมกับใส่เงินลงในพานให้เป็นเงินทุน บางแห่งอาจมีการผูกข้อมือด้วยสายสิญจน์ในขณะอวยพร

8. พิธีปูที่นอนและส่งตัวเข้าหอ
สิ่งของมงคลที่ต้องเตรียมคือ ฟักเขียวลูกหนึ่ง หม้อใหม่ใส่น้ำใบหนึ่ง หินบดยา และถั่วงาพร้อมทุนสินสอดวางไว้บนพาน แล้วนำไปวางไว้ข้างที่นอนเพื่อเป็นเครื่องหมายสำหรับอำนวยพรว่า "ให้คู่บ่าวสาวมีใจเย็นเสมือนน้ำฟัก มีน้ำใจหนักดั่งศิลา มีแต่ความจำเริญวัฒนาเหมือนถั่วงา"

จากนั้นผู้ใหญ่ฝ่ายบ่าวสาวจึงจัดแจงวางหมอนหนุนศีรษะ และให้ผู้ใหญ่คู่ที่ได้รับเชิญมาจัดทำพิธีนี้ลงนอนก่อนเป็นปฐมฤกษ์ กล่าวให้ศีลให้พรแล้วจึงออกมาจากห้องหอ

9. พิธีจัดเลี้ยง
คู่ไหนที่ต้องการพิธีแบบรวบรัด ไม่เหนื่อยมาก อาจทำพิธีเสร็จในช่วงเที่ยง แล้วจัดเลี้ยงแขกในมื้อกลางวันเลย หรืออาจจัดเลี้ยงฉลองสมรสในช่วงเย็น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของคู่บ่าวสาว

ไม่มีความคิดเห็น: