31 ส.ค. 2551

อาหารที่คุณกิน ปลอดภัยแล้วหรือยัง / เอมอร คชเสนี

อาหารที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันนี้ มีการนำสารเคมีที่มีพิษภัยมาใช้กันมาก ได้แก่ สารเร่งเนื้อแดง (ซาลบูทามอล) เป็นตัวยาสำคัญในการผลิตยาบรรเทาโรคหอบหืด ช่วยขยายหลอดลม และช่วยให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัว มีการนำสารชนิดนี้ไปผสมในอาหารสำหรับเลี้ยงหมู เพื่อกระตุ้นให้หมูอยากอาหาร เร่งการเจริญเติบโต ช่วยสลายไขมัน และทำให้กล้ามเนื้อขยายใหญ่ขึ้น ทำให้เนื้อหมูมีปริมาณเนื้อแดงเพิ่มมากขึ้น

การบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างอยู่ อาจมีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนศีรษะ บางรายมีอาการเป็นลม คลื่นไส้อาเจียน มีอาการทางจิตประสาท เป็นอันตรายมากสำหรับหญิงมีครรภ์และผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคไฮเปอร์ธัยรอยด์ ควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่มีสีธรรมชาติ มีมันหนาบริเวณสันหลัง และมีไขมันแทรกอยู่ในกล้ามเนื้อเห็นได้ชัดเจนเมื่อตัดขวาง

สารบอแรกซ์หรือน้ำประสานทอง มีลักษณะเป็นผงหรือผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น มีรสขม เป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น อุตสาหกรรมทำแก้ว ใช้เป็นส่วนประกอบของยาฆ่าเชื้อ ใช้เป็นสารฆ่าแมลง ใช้ทำอุปกรณ์ไฟฟ้า ใช้ในการเชื่อมทอง สารบอแรกซ์ทำให้อาหารมีลักษณะหยุ่น กรอบ และมีคุณสมบัติเป็นวัตถุกันเสียด้วย จึงพบว่ามีการนำมาผสมในอาหาร เพื่อให้มีความหยุ่น กรอบ คงตัวได้นาน ไม่บูดเสียง่าย

อาหารที่มักตรวจพบบอแรกซ์ ได้แก่ หมูสด หมูบด ปลาบด ลูกชิ้น ทอดมัน ไส้กรอก หมูยอ เกี๊ยวทอด กล้วยทอด ผักและผลไม้ดอง แม้แต่ทับทิมกรอบ ลอดช่อง และวุ้น สังเกตได้ว่าอาหารจะมีลักษณะเด้ง กรุบกรอบ ผิดปกติ

บอแรกซ์เป็นสารที่มีพิษต่อร่างกาย ความรุนแรงของการเกิดพิษขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับและการสะสมในร่างกาย หากได้รับในปริมาณไม่มาก แต่ได้รับบ่อยเป็นเวลานานจะเกิดอาการเรื้อรัง เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผิวหนังแห้งอักเสบ หนังตาบวม เยื่อตาอักเสบ ตับและไตอักเสบ ระบบสืบพันธุ์เสื่อมสมรรถภาพ เป็นต้น ถ้าได้รับบอแรกซ์ในปริมาณสูงจะเกิดอาการเป็นพิษแบบเฉียบพลัน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง ปวดศีรษะ บางครั้งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

เราสามารถหลีกเลี่ยงอันตรายจากบอแรกซ์ได้โดยไม่ซื้อเนื้อสัตว์บดสำเร็จรูป ควรซื้อเป็นชิ้นและล้างให้สะอาด แล้วจึงนำมาบดหรือสับเอง รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารที่มีลักษณะหยุ่นกรอบอยู่ได้นานผิดปกติ

สารฟอร์มาลิน หรือน้ำยาดองศพ เป็นสารละลายที่มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี แต่มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเคมีภัณฑ์พลาสติก สิ่งทอ ใช้ในการรักษาผ้าไม่ให้ยับย่น หรือใช้ในทางการแพทย์เป็นยาฆ่าเชื้อโรค ฆ่าเชื้อรา และเป็นน้ำยาดองศพ พบว่ามีการนำฟอร์มาลินมาผสมในอาหาร เพื่อให้อาหารคงความสด ไม่เน่าเสียง่าย หรือเก็บรักษาได้นาน

อาหารที่มักตรวจพบฟอร์มาลิน ได้แก่ อาหารทะเล ผักสด เนื้อสัตว์สดและเครื่องในสัตว์ สังเกตได้ว่าอาหารจะไม่เน่าเสียเร็ว ปลาหรือกุ้งมีเนื้อแข็ง แต่บางส่วนเปื่อยยุ่ย ผักมีลักษณะแข็ง กรอบ ผิดปกติ

ฟอร์มาลิน เป็นสารที่มีพิษต่อร่างกาย หากบริโภคอาหารที่มีสารฟอร์มาลินตกค้างโดยตรงจะมีพิษเฉียบพลัน คือมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน อุจจาระร่วง หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ หากได้รับในปริมาณน้อยลงมาจะทำให้การทำงานของตับ ไต หัวใจ และสมองเสื่อมลง หากสัมผัสอยู่เป็นประจำจะทำให้ร่างกายอ่อนแอ ระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจ และทำให้ผิวหนังระคายเคืองและอักเสบได้

เมื่อต้องการซื้ออาหารทะเล ผักสด และเนื้อสัตว์ ให้ตรวจสอบโดยการดมกลิ่น จะต้องไม่มีกลิ่นฉุนแสบจมูก และก่อนนำอาหารสดมาประกอบอาหารควรล้างให้สะอาดเสียก่อน

สารฟอกขาว (โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์) หรือผงซักมุ้ง เป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมเส้นใยไหม แห และอวน พบว่ามีผู้ค้าบางรายนำมาใช้ฟอกขาวในอาหาร เพื่อให้มีความขาวสดใสน่ารับประทาน และดูใหม่อยู่เสมอ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

สารฟอกขาวพบได้ในอาหารที่มีสีขาวผิดปกติ หรือไม่ใช่สีตามธรรมชาติ เช่น ถั่วงอก ขิงซอย ยอดมะพร้าว กระท้อน หน่อไม้ดอง ผักและผลไม้ดอง ทุเรียนกวน สับปะรดกวน ผลไม้อบแห้ง และน้ำตาลปี๊บ เมื่อสัมผัสโดยตรงจะทำให้ผิวหนังอักเสบเป็นผื่นแดง ถ้าบริโภคเข้าไปจะทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสอาหาร เช่น ปาก ลำคอ กระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดท้อง ปวดศีรษะ อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจขัด ความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว หากรับประทานมากเกิน 30 กรัม จะทำให้ถ่ายเป็นเลือด ชัก ช็อก หายใจไม่ออก หมดสติ ไตวาย และเสียชีวิตได้

ควรเลือกซื้ออาหารที่มีความสะอาด สีใกล้เคียงกับธรรมชาติ ไม่ขาวจนผิดปกติ เช่น ทุเรียนกวนที่มีสีหมองคล้ำตามธรรมชาติ แทนที่จะซื้อทุเรียนกวนที่มีสีเหลืองใสจากการใส่สารฟอกขาว หลีกเลี่ยงการซื้อถั่วงอกหรือขิงซอยที่ผ่านการใช้สารฟอกขาวจนทำให้มีสีขาวอยู่เสมอ

สารกันเชื้อรา หรือกรดซาลิซิลิค เป็นกรดที่มีอันตรายต่อร่างกายมาก ผู้ผลิตอาหารบางรายนำมาใส่เป็นสารกันเสียในอาหารหมักดอง เพื่อป้องกันเชื้อราขึ้น และให้เนื้อของผักผลไม้ที่ดองคงสภาพเดิมน่ารับประทาน ไม่เละง่าย อาหารที่มักตรวจพบสารกันรา ได้แก่ ผักและผลไม้ดอง สังเกตได้จากน้ำผักผลไม้ดอง จะดูใสเหมือนใหม่อยู่เสมอ เมื่อบริโภคเข้าไปจะทำลายเซลล์ในร่างกายให้ตายหากบริโภคเข้าไปมากๆ จะทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ความดันโลหิตต่ำจนช็อกได้ หรือในบางรายที่แม้บริโภคเข้าไปไม่มาก แต่ถ้าแพ้สารกันรา ก็จะทำให้มีผื่นคันขึ้นตามตัว อาเจียน หูอื้อ มีไข้

หากเรารู้จักเลือกซื้อและหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิษเหล่านี้ ก็จะทำให้เรารับประทานอาหารได้อย่างอิ่มอร่อย และปลอดภัยมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: