31 ส.ค. 2551

“อัมพฤกษ์-อัมพาต” วิบากกรรมร่างกายที่ป้องกันได้

เมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัยร่างกายที่ต้องตรากตรำกับงานมาเป็นระยะเวลายาวนานก็เริ่มที่จะสึกหรอไปทีละส่วน ไม่เว้นแม้แต่ส่วนสำคัญที่ใช้ควบคุม สั่งการ การทำงานของร่างกายอย่าง สมอง ที่ต้องพบเจอกับภาวะ “โรคหลอดเลือดสมองตีบ” หรือหากจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ “อัมพฤกษ์-อัมพาต” นั่นเอง

อัมพฤกษ์-อัมพาต นั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และภาวะหลอดเลือดสมองตีบก็เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่เป็นได้กับคนทุกเชื้อชาติ และที่น่าตกใจ คือ โรคนี้มีอัตราการตายเป็นอันดับ 3 รองจากโรคมะเร็ง และโรคหัวใจ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยทุพพลภาพ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน

** พบอาการ รีบส่งหมอ ช่วยชีวิตได้
นพ.ยรรยง ทองเจริญ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลปิยะเวท กรุงเทพฯ ให้ข้อมูลถึงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ว่า ปัจจัยแรก คือ เรื่องของอายุเพราะโรคนี้พบมากในผู้สูงอายุ ปัจจัยที่สอง คือ เรื่องของโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน เพราะตอนนี้ร้อยละ 10 ของคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นโรคเบาหวาน ตามติดมาด้วยภาวะความดันโลหิตสูงซึ่งมีสาเหตุมาจากการชอบรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม อาหารที่มีระดับไขมันสูง ขณะที่การสูบบุหรี่ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่น่าห่วงมาก อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่สามารถแก้ไขและควบคุมได้ด้วยตัวของเราเอง

แต่ความเสี่ยงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คือ เพศชายที่มีอายุเพิ่มมากขึ้นจะมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากกว่าเพศหญิง นอกจากนี้ ยังพบในกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจตีบ และที่สำคัญในปัจจุบันนี้ก็พบในผู้ป่วยที่เป็นวัยรุ่นเช่นกัน

นพ.ยรรยง อธิบายต่อว่า สาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดสมองตีบนั้นมาจากการที่มีไขมันมาจับที่ผนังหลอดเลือดทำให้ช่องของหลอดเลือดมีขนาดเล็กลง และมีลิ่มเลือดเข้ามาจับทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดที่ต้องไปเลี้ยงสมองเกิดความผิดปกติ และช้าลง เป็นเหตุให้เนื้อสมองส่วนที่ไม่ได้รับเลือดตายจึงมีผลต่อการควบคุมการเคลื่อนไหว และส่วนการทำงานของร่างกายตามมา

สำหรับอาการที่บ่งบอกได้ว่าร่างกายกำลังเข้าใกล้กับโรคหลอดเลือดสมองตีบนั้น จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่แสดงอาการโดยจะมีอาการเดินเซ แขน ขาไม่มีเรี่ยวแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการหลงๆ ลืมๆ ปวดหัวโดยไม่ทราบสาเหตุบ่อยครั้ง และส่วนต่อไปคือกลุ่มผู้ป่วยที่เกิดอาการอย่างเฉียบพลันในขณะที่นอนอยู่เฉยๆ คือ ร่างกายจะมีอาการชาไปทั้งตัว หรือครึ่งตัว ไม่สามารถขยับตัวได้

“เมื่อมีอาการไม่ควรนิ่งนอนใจต้องรีบนำส่งให้ถึงมือแพทย์อย่างเร็วที่สุด เพราะในระยะเวลา 3 ชั่วโมงหลังจากที่เกิดอาการ แพทย์จะให้ยาสลายลิ่มเลือด ซึ่งจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยไว้ได้” นพ.ยรรยง อธิบาย

** สลายลิ่มเลือด-ทำบอลลูน-บายพาส ตามอาการ
ด้านแนวทางการรักษา นพ.เอกชัย กาญจนาคาร ศัลยแพทย์ระบบประสาท เชี่ยวชาญด้านการสวนหลอดเลือดสมอง จากศูนย์สมองและระบบประสาท รพ.ปิยะเวท ให้ข้อมูลว่า การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบนั้นสามารถทำได้หลายทางแล้วแต่อาการที่แสดงออกมา หากเป็นในระยะเฉียบพลันภายใน 3 ชั่วโมง แพทย์จะให้ยาที่ใช้ในการขยายหลอดเลือดดำ และเป็นยาสลายลิ่มเลือด ที่เข้าไปอุดตันอยู่ภายในหลอดเลือด หรือใช้วิธีการใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงเพื่อละลายลิ่มเลือด

เมื่อผ่านระยะเฉียบพลันไปแล้ว สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีเนื้อสมองตายในบางจุด แต่ก็จะยังมีส่วนที่ยังใช้การและสามารถฟื้นตัวได้ ก็จะทำการเช็กเส้นเลือดที่ยังเหลืออยู่หากมีการตีบตันของเส้นเลือดที่ขึ้นไปเลี้ยงสมองก็จะทำการใส่บอลลูนในการรักษาเพื่อเข้าไปถ่างเส้นเลือด จากนั้นจะใช้แผ่นสเตนต์ใส่เข้าไปคลุมภายในผนังเส้นเลือดเพื่อเสริมในจุดที่เป็นปัญหา และป้องกันไม่ให้กลับมาตีบตันซ้ำ

ในส่วนเนื้อสมองที่หายไป และเส้นเลือดที่ตันทั้งเส้น จะทำการเช็กเลือดที่ขึ้นไปเลี้ยงสมองว่าเพียงพอหรือไม่ หากเลือดขึ้นไปเลี้ยงไม่เพียงพอจะทำการรักษาโดยการทำบายพาสเส้นเลือด ข้ามส่วนที่มีการอุดตัน เพื่อเข้าไปเชื่อมต่อกับเส้นเลือดที่อยู่ภายใน เพื่อช่วยให้เลือดมีการไหลเวียนที่เป็นปกติ แต่ปัญหาที่แพทย์ต้องระวังมากที่สุด คือ ภาวะแทรกซ้อน เพราะการผ่าตัดสมองนั้นจะมีโอกาสต่อการติดเชื้อสูงมาก

“ส่วนใหญ่คนจะกลัว แต่ไม่สนใจที่จะตรวจเช็กสุขภาพว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ จนบางรายต้องรอให้แสดงอาการ ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างมากที่ต้องวัดดวง บางรายเมื่อรักษาหายแล้วก็นิ่งนอนใจเพราะมีอาการไม่หนัก เช่น การชาตามแขน ขา เกิดอาการวูบ ผู้ป่วยจึงเห็นเป็นเรื่องปกติ ผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หลายคนก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเคยมีอาการดังกล่าวปรากฏขึ้นแต่ไม่ได้ใส่ใจเข้าพบหมอ จึงทำให้อาการเป็นหนักกว่าเดิม”

นพ.เอกชัย บอกทิ้งท้ายด้วยว่า สิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบตัวล้วนแล้วมีผลทั้งสิ้นเช่น อากาศ ซึ่งหากหลีกเลี่ยงสภาวะอากาศที่เป็นพิษได้ก็จะเป็นการดีกับร่างกาย ขณะเดียวกัน ก็ต้องดูแลอาหารการกิน และต้องมีการเตรียมพร้อมที่จะนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะอาการของโรคนี้ไม่สามารถเดาได้เลยว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน และภาระที่จะต้องดูแลคนพิการด้วยโรคอัมพฤกษ์-อัมพาต ก็จะน้อยลงตามไปด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: