31 ส.ค. 2551

อย่าไว้ใจ ก่อนหัวใจจะล้มเหลว

ก่อนจะถึงหัวใจล้มเหลว ก่อนจะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ก่อนจะเป็นโรคปลายทางเหล่านี้ รู้หรือไม่ว่ามีโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวค่อยๆ ก่อตัวขึ้น และไม่สามารถจะสังเกตถึงอาการผิดปกติได้ด้วยตาเปล่า หรือจากความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

เรากำลังจะพูดถึงโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ซึ่งนับเป็นโรคที่คนไทยยังไม่รู้จักดีพอ เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่สามารถทราบได้จากสาเหตุที่แน่ชัดว่าอะไรคือตัวการสำคัญของโรค แต่ผู้ป่วยจะรู้ว่าตัวเองเป็นก็ต่อเมื่อเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้น ซึ่งภาวะนี้เกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย และนานวันเข้าก็จะเกิดอาการร้ายแรงอื่นๆ ที่ต่างก็คุ้นเคยกันดีตามมาดังที่กล่าวมาแล้ว

ภัยเงียบที่มองไม่เห็น
นพ.สุทธิชัย โชคกิจชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) กล่าวถึงสถานการณ์โรคหลอดเลือดแดงแข็งในปัจจุบัน ว่า จากข้อมูลทางสาธารณสุข พบว่า โรคหลอดเลือดแดงแข็งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคร้าย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของโลก ข้อมูลในปี 2548 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากหลอดเลือดในหัวใจอุดตันปีละ 60,000 คน และผู้ที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตปีละ 100,000 คน นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มไขมันในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติ
“โรคหลอดเลือดแดงแข็งตัวมีผลอันตรายถึงชีวิต แต่คนทั่วไปกลับยังไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพ และการป้องกันดูแลแก้ไขก็น้อยมาก ส่วนใหญ่จะรอให้เกิดอาการเจ็บป่วยก่อนจึงไปหาหมอ ซึ่งนั่นก็อันตรายเกินจะเยียวยาได้แล้ว” นพ.สุทธิชัย สรุป

จุดเสี่ยงสู่คนทำงานเร็วขึ้น
พล.อ.นพ.ประวิชช์ ตันประเสริฐ กรรมการบริหารมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้รายละเอียดของโรคหลอดเลือดแดงแข็งว่าคนในปัจจุบันมีแนวโน้มจะเป็นโรคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และกลุ่มผู้ป่วยอาจจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานมากขึ้น เพราะรูปแบบการดำเนินชีวิต และลักษณะนิสัยการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป
“ผู้ป่วยที่อายุน้อยที่สุดที่หมอพบอายุ 16 ปี ซึ่งเคยมีประวัติว่าครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้ แต่จากไลฟสไตล์คนวัยทำงานที่เอาแต่นั่งโต๊ะ รักความสะดวกสบาย ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารไขมันสูง รวมถึงคนที่สูบบุหรี่ทำให้มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคได้เร็วมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 45-55 ปี มีประวัติโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันและน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน”แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระบุ

หลอดเลือดแดงแข็งเกิดจากการสะสมของไขมันและสารอื่นๆ ในผนังหลอดเลือด ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดหนาขึ้นจนเป็นตะกรันแข็ง เมื่อตะกรันมีขนาดใหญ่ขึ้นความยืดหยุ่นของหลอดเลือดก็น้อยลง ทำให้การลำเลียงเลือดลำบากมากขึ้น จนเมื่อตะกรันแตกหรือฉีกขาดไขมันก็จะไปอุดตันผนังหลอดเลือดแดงที่เป็นเสมือนแม่น้ำสายใหญ่ที่จะไปหล่อเลี้ยงหัวใจและสมอง

“จุดชีพจรสำคัญของเราจะอยู่ที่ หัวใจ สมอง และขา ดังนั้น หากหลอดเลือดแดงแข็งเกิดกับหัวใจ จะทำให้ผู้ป่วยเจ็บหน้าอกด้านซ้าย อาจร้ายแรงจนทำให้หัวใจตายเฉียบพลัน หากเกิดกับสมองจะทำให้แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด ถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต และถ้าเกิดกับหลอดเลือดแดงที่ขาจะทำให้ปวดน่องเวลาเดินหรือขยับร่างกาย”

อย่างที่บอกว่าอาการเริ่มต้นของโรคนี้ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า คนน้ำหนักตัวมากอาจจะจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแต่ใช่ว่าคนอ้วนทุกคนจะเป็นโรคนี้ และไม่ใช่ว่าคนผอมจะเป็นโรคนี้ไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นจึงมีอาการเริ่มแรกของหลอดเลือดแดงแข็งมาให้เฝ้าระวังและสังเกตกัน คือ ขั้นต้นจะมีอาการเจ็บหน้าอก เจ็บแขนซ้ายหรือกราม อึดอัดหายใจไม่ออก อ่อนเพลียและเหงื่อออกง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะเมื่อหัวใจต้องทำงานหนัก เช่น การออกกำลัง

แค่ขยับก็เขยิบจุดเสี่ยงให้ไกล
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการแล้วแพทย์ทำการตรวจและวินิจฉัยว่ามีไขมันในเลือดสูงหรือมีตะกรันการรักษาจะใช้ยาละลายไขมันแอลดีแอล ซึ่งเป็นตัวการร้ายที่ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว ซึ่งหากรักษาได้ทันก็จะหาย กระนั้นก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากไม่ยอมปรับพฤติกรรมเดิมๆ

ดังนั้น สิ่งที่สามารถทำได้อย่างง่ายสำหรับคนที่อาจจะจัดในกลุ่มเสี่ยงหรือคนที่ยังไม่สามารถไว้ใจสุขภาพในภาวะปัจจุบันได้ ก็คือ การไปตรวจสุขภาพประจำปี โดยการตรวจให้ละเอียดเพื่อความแน่ใจ โดยเฉพาะการวัดปริมาณไขมันในเส้นเลือด และความดันโลหิต รวมถึงการให้ข้อมูลเรื่องประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัวให้คุณหมอทราบด้วย

อย่างไรก็ตาม คนยุคใหม่มักจะมีข้ออ้างในการใส่ใจสุขภาพอยู่เสมอ ไม่ว่าจะไม่มีเวลาบ้างล่ะ งานยุ๊ง ยุ่ง ไม่มีเวลาแทบขยับตัวออกไปไหน กลับบ้านก็เผลอหลับไป และอีกสาพัดเหตุผล แต่ก็ใช่ว่าเรื่องเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคในการขจัดปัจจัยเสี่ยงออกไป

นพ.สุทธิชัย ให้คำแนะนำว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เอาแต่นั่งบนเก้าอี้หน้าจอสี่เหลี่ยม กินอาหารฟาสต์ฟู้ดไขมันสูงและไม่ยอมออกกำลังรังแต่จะให้โรคภัยถามหา ดังนั้นวิธีการง่ายๆ เพื่อที่จะปรับพฤติกรรมก็แค่ขยับ ซึ่งเท่ากับออกกำลัง โดยหาที่ซ่อนรีโมตทีวี โฆษณา 3 นาทีอาจจะลุก นั่ง เดินวนรอบห้อง เป็นการออกกำลังสะสมไว้ จากที่ขึ้นลิฟต์หรือบันไดเลื่อนก็หันมาใช้บันไดธรรมดาให้ขาได้เคลื่อนไหว

“เวลาไปปากซอยลองเดินแทนการนั่งมอเตอร์ไซต์ แล้วเราก็จะไม่มีข้ออ้างว่าไม่มีเวลาออกกำลังอีก เพราะจริงๆ การออกกำลังสามารถทำได้ทุกที่ แม้แต่เวลาทำงาน ครบ 1 ชั่วโมงก็ออกมาเดินให้สายตาพักจากคอมพิวเตอร์ ให้แขนขาได้ขยับบ้าง สมองก็จะโปร่งสบายด้วย” ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจกล่าวแนะนำ

เราอาจจะไม่ต้องนับก้าวในแต่ละวันว่าครบจำนวน 10,000 ก้าวหรือไม่ ไม่ต้องคำนวณให้ถ้วนถี่ว่าแท้จริงแล้วน้ำหนักของเราเหมาะที่จะกินอาหารกี่กิโลแคเลอรี่ เพียงแต่เอาใจใส่สุขภาพให้ดีกว่าที่ควรจะเป็น อย่ารักแต่สบาย จนไม่สบาย อย่าใช้ร่างกายจนไม่บันยะบันยัง สุดท้ายอะไหล่พังและหาซ่อมไม่ได้...จะโทษใคร? ต้องโทษตัวเอง

ไม่มีความคิดเห็น: