31 ส.ค. 2551

“เถาวัลย์เปรียง” พิชิตข้อเข่าเสื่อม

“โรคข้อเข่าเสื่อม” เป็นโรคที่พบบ่อยมากในผู้สูงอายุ ในประเทศไทยพบผู้สูงอายุมากกว่า 6 ล้านคน เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม โดยพบในผู้ป่วยวัย 50 ปีขึ้นไป มากถึงร้อยละ 40 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมจะมีอาการปวดเข่า และไม่สามารถทำงานหรือดำรงชีวิตได้อย่างปกติ

ทั้งนี้ การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม คือ การบริหารกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยต้องได้รับยาแก้ปวดร่วมด้วย ซึ่งได้แก่ ยาลดการอักเสบในกลุ่ม NSAIDS แต่มีฤทธิ์ข้างเคียงที่สำคัญคือระคายเคือง และทำให้เกิดแผลในระบบทางเดินอาหารและยามีราคาแพง

ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันวิจัยสมุนไพรจึงได้ดำเนินการศึกษาวิจัยสมุนไพร “เถาวัลย์เปรียง” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Derris scandens Benth. ใช้ในการรักษาผู้ป่วยทดแทนการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ซึ่งได้ผลดีมาก

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการวิจัย “เถาวัลย์เปรียง”
พบสารสกัดจากลำต้นมีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวด ต้านการอักเสบ สามารถใช้แทนยาแก้อักเสบที่เป็นยาแผนปัจจุบันเพื่อรักษาโรคปวดหลังส่วนล่างได้ ขณะนี้ได้ผ่านการทดสอบทางคลินิกในคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกัน ทางสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ดำเนินการศึกษาความปลอดภัยของสารสกัดเถาวัลย์เปรียง เมื่อทำการทดลองความเป็นพิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรังของสารสกัดเถาวัลย์เปรียงในสัตว์ทดลองพบว่ามีความปลอดภัยสูง นอกจากนี้ยังได้ทดสอบสรรพคุณในอาสาสมัครโดยร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช ในการรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมโดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับยาต้านอักเสบ Naproxen และกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเถาวัลย์เปรียงก็พบว่าสารสกัดจากเถาวัลย์เปรียงมีประสิทธิผลในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมได้ดี และมีแนวโน้มว่าปลอดภัยกว่ายา Naproxen เพราะพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยา Naproxen มีอาการหิวบ่อย แสบท้อง จุกเสียด แน่นท้อง ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดเถาวัลย์เปรียงไม่มีอาการข้างเคียงดังกล่าว

ที่สำคัญคือ เมื่อเปรียบเทียบราคาของแคปซูลที่บรรจุสารสกัดเถาวัลย์เปรียง 400 มก.กับยาแก้อักเสบ NSAIDS พบว่าแคปซูลที่บรรจุสารสกัดเถาวัลย์เปรียงมีราคาไม่เกิน 10 บาท ส่วนยากลุ่ม NSAIDSที่ระบุว่าไม่ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารมีราคาสูงกว่าประมาณ 4 ถึง 6 เท่า

ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อขึ้นทะเบียนตำรับยาแล้ว และอยู่ระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้องค์การ-เภสัชกรรมในการสกัดสารสำคัญเพื่อให้มีการผลิตเป็นยาออกจำหน่ายในระดับอุตสาหกรรมให้มีการใช้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเพื่อให้โรงพยาบาลต่างๆ ได้นำไปใช้กับผู้ป่วยในกลุ่มผู้สูงอายุ เช่น ในแถบภาคเหนือและอีสานที่มักเจ็บป่วยด้วยโรคปวดหลังและปวดตาม-ข้อหรืออาจถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตในระดับชุมชนเพื่อให้มีการนำไปใช้รักษาอย่างแพร่หลาย” นพ.มานิตให้ข้อมูล

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร.02-951-0000 ต่อ 99386, 99486

ไม่มีความคิดเห็น: